ก.ล.ต. เปิดงาน "Fintech Challenge ครั้งที่ 2" พร้อมประกาศทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยมแก่ผู้ชนะ | Techsauce

ก.ล.ต. เปิดงาน "Fintech Challenge ครั้งที่ 2" พร้อมประกาศทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยมแก่ผู้ชนะ

ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดโครงการ FinTech Challenge ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ Fast Forward for the Future เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์ วัน ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเฟ้นหานวัตกรรมที่ตอบโจทย์หรือขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงในตลาดเงิน ตลาดทุน และประกันภัยของไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และการนำฟินเทคมาปรับใช้กับการประกอบธุรกิจและการให้บริการ

คุณทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กล่าวว่า “โครงการ FinTech Challenge เป็นหนึ่งในการดำเนินการสำคัญที่ ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตรต้องการแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความตั้งใจที่จะเปิดรับความท้าทายต่าง ๆ และความมุ่งมั่นที่หน่วยงานกำกับดูแลจะปรับทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันภาคการเงินและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากฟินเทคจะเข้ามาพลิกโฉมกระบวนการหรือวิธีการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ภาคการเงินจึงต้องฉกฉวยโอกาสให้นวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในไทย”

“ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และวางกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อเปิดพื้นที่ ขจัดอุปสรรค และส่งเสริมนวัตกรรมด้วยการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสม  ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้การสนับสนุนโดยการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมการประกอบธุรกิจและการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วยเทคโนโลยีทางการเงินซึ่งได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว  และเมื่อมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเดิมและฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้บริการได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ” คุณทิพยสุดา กล่าวสรุป

โครงการ Fintech Challenge คืออะไร

โครงการ Fintech Challenge เป็นโครงการพัฒนาความคิดและประกวดผลงานนวัตกรรมด้านการเงิน การลงทุน และการประกันภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจ และนำ Fintech เข้ามาพัฒนาหรือปรับใช้กับการประกอบธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนัก รู้เท่าทัน และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อนำไปสู่การออกหรือปรับเกณฑ์ที่สอดคล้องกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ทีมที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน นักการตลาดประชาสัมพันธ์ และมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาชิ้นงานเทคโนโลยีได้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงวันประกาศผล เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน

หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนโครงการประกวด Fintech Challenge ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
  3. เขตอุตสาหกรรมซอฟแวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  4. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
  5. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
  6. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  7. ศูนย์ C Asean
  8. สมาคมฟินเทคประเทศไทย
  9. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่

3 หัวข้อเสวนาในงาน Fintech Challenge ครั้งที่ 2

  • หัวข้อ " Embracing the Financeial Innovations " 

Mr.Sundeep Gantori นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หัวหน้าสายงานลงทุน บริษัท UBS Wealth Management กล่าวว่า "UBS ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการใช้ระบบประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก (machine learning) มาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกค้า (wealth management) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ"

นอกจากนี้ Mr. Sundeep ยังเห็นว่า ฟินเทคและผู้ให้บริการทางเทคโนโลยีต่างๆ จะมีส่วนสำคัญต่อธนาคารพาณิชย์ในอนาคต เห็นได้จากสัดส่วนมูลค่าทางการตลาดของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก สถาบันการเงินจะหันไปเน้นลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น อาทิ การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ตอบโจทย์เรื่องการให้คำแนะนำผ่านโปรแกรมผู้แนะนำการลงทุนที่ใช้สมองกล (Robo-Advisor) และยังสามารถช่วยเก็บและกลั่นกรองข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ ลดระยะเวลาในการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ ช่วยบริหารจัดการกรรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบงาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ตลอดจนลดภาระในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล

UBS สนับสนุนการเติบโตของฟินเทคผ่านโครงการทดลองที่จัดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งช่วยให้ UBS สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ขณะที่บริษัทฟินเทคเองก็สามารถเข้าถึงเงินทุนจากทั้ง UBS และลูกค้าของ UBS อีกด้วย

Mr. Philip Enness หัวหน้าฝ่ายงานด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของบริษัท IBM เห็นพ้องว่า เมื่อฟินเทคเข้ามา ธุรกิจทางการเงินต้องเจอกับความท้าทายและความกดดันทางการแข่งขันอย่างมาก ทำให้ต้องปรับตัว และเพิ่มความคล่องตัวในการให้บริการ พร้อมกับประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้านความสะดวกและรวดเร็วในราคาและต้นทุนที่ถูกลงได้

IBM ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินก็ต้องนำเสนอบริการใหม่ ๆ ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าเช่นกัน IBM จึงศึกษาประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ๆ และจัดแพลตฟอร์มใหม่โดยนำฟินเทคมาช่วยพัฒนาบริการที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น

Mr. Philip Enness กล่าวว่า ปัจจุบัน IBM ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีใหม่อย่างบล็อกเชนมาให้บริการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การใช้บล็อกเชนก็มีความท้าทายและซับซ้อน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และยังอยู่ในช่วงของการทดลอง โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาให้บริการได้แก่

  1.  การมีรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์ได้จริง
  2. การปรับแนวปฏิบัติที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจมีผู้ให้บริการบางรายถูกลดบทบาทหรือลดความสำคัญลง
  3. กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่รองรับเทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ ความสำเร็จของการใช้บล็อกเชนยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะที่เหมาะสม ระบบงานภายในที่มีการเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในการฉกฉวยโอกาสสร้างเครือข่ายการให้บริการที่จะสามารถต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจได้
  • หัวข้อ "Introduction to Artificial Intelligence and Its application in Capital Market"

Dr. Florian Matthaeus Spiegl ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Finfabrik แนะนำให้รู้จักกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือ เครื่องมือที่ทำงานแทนการใช้ความสามารถของมนุษย์ ประกอบด้วย 3 อย่างหลักที่คล้ายมนุษย์ คือ การรับรู้ การใช้ตรรกกะ และการแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่ง AI มีมานานแล้วมากกว่า 50 ปี ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เข้ามาและหายไปเป็นระยะๆ เนื่องจาก ผู้คนต่างผิดหวังที่ AI ยังมีข้อบกพร่องในการทำงานและไม่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ใช้งานได้ แต่ขณะนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่ในอดีตไม่สามารถทำได้

ในปัจจุบัน  AI  มีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปพลิเคชันแผนที่นำทาง ของ Google หรือการดูหนังออนไลน์บน Netflix สำหรับตลาดทุน บทบาทของเอไอ สามารถอยู่ในรูปของการตัดสินใจการลงทุนแทนคน รวมถึง การทำความรู้จักกับลูกค้า อาทิ การเช็คประวัติลูกค้าว่าควรให้เปิดบัญชีได้หรือไม่ ตรวจหาข้อมูลธุรกรรมที่ควรตรวจสอบเพิ่มเติม

Dr. Florian คาดหวังว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุนในอนาคตคือ AI ที่มีความสามารถเฉพาะด้านแต่ละด้านจะรวมกันเป็นเครือข่ายใหญ่สำหรับการให้บริการผู้ลงทุน ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการบริหารความมั่งคั่งสามารถให้บริการได้ในราคาที่ถูกลงเนื่องจากใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ

อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคที่พบคือ เอไอถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นทุกที่อยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน เอไอก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ได้เช่นกัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจการให้บริการทางการเงิน คือ มีผู้เล่นใหม่มากขึ้น มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุกคนล้วนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอ เช่น ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ดีขึ้น  ปลอดภัยขึ้น ราคาถูกลง ดีต่อเศรษฐกิจ เพราะสามารถทำทุกอย่างให้มีประสิทธิผลขึ้น

Dr. Florian กล่าวสรุปว่า อย่ากลัว AI ยอมรับและใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการใหม่ๆ เพื่อทำให้บริการทางการเงินดียิ่งขึ้น

  • หัวข้อ " RegTech Rising : Overcoming Data Challenge in Compliance Reporting"

Ms. Susan de Brogolio หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงานภูมิภาคเอเชีย บริษัท Macquarie Group Limited กล่าวว่า การปรับวิธีการกำกับดูแลการให้บริการเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การกำกับดูแลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัวสอดรับกับกฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศ ลดต้นทุน และช่วยขยายขนาดของธุรกิจ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเงินโดยรวมมั่นคง และผู้ลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำกับดูแล หรือ เร็คเทค (RegTech) เป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการให้บริการทางการเงินและการกำกับดูแล ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ หรือบล็อกเชน ช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถเห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าใจพฤติกรรมผู้มีส่วนร่วมในตลาด อาทิ ลูกค้า และพนักงานในบริษัท รวมถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และยังช่วยให้ฝ่ายงานกำกับดูแลของบริษัทเห็นถึงความเชื่อมโยงในระบบได้ครบถ้วนจากเดิมที่เคยเห็นเป็นเพียงส่วน ๆ และสามารถติดตามการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การใช้เทคโนโลยีเกิดประสิทธิผล คือ การมีระบบที่เชื่อมโยง มีระบบควบคุมภายใน มีการเก็บข้อมูลในรูปแบบที่สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ติดตามดูแล และประเมินผลได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่สามารถแจ้งเตือนหรือชี้ปัญหาในระบบ จะเป็นเครื่องมือช่วยหน่วยงานกำกับดูแลและบริษัทในการติดตามดูแลเพื่อสืบหาพฤติกรรมที่น่าสงสัยของผู้มีส่วนร่วมในตลาด ก่อนที่พฤติกรรมนั้น ๆ จะนำไปสู่ปัญหาในอุตสาหกรรมการเงินโดยรวม รวมถึงการประเมินผลกระทบและค้นหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับมืออีกด้วย

ตามไปดู 10 ทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ Fintech Challenge 2017

กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภคตัดสินใจหรืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการลงทุน

  • ทีมที่ 1 Cryptovation.co โรโบแอดไวเซอร์สำหรับการลงทุนใน Cryptocurrencies เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเงินได้ง่ายขึ้นในทุกๆ ส่วน ทั้งในด้านผลตอบแทนจากการลงทุน เรียนรู้พื้นฐานทางการเงินผ่านนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ในระบบ Blockchain Asset การนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คือ การทำอาร์บิทราจ ผสมผสานกับการเขียนโปรแกรมมาช่วยในการวิเคราะห์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด
  • ทีมที่ 2 Stockradars Gift บัตรของขวัญเพื่อการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม สำหรับมอบให้กับคนที่คุณรักเพื่อส่งต่อของขวัญที่มีมูลค่าและเติบโตได้ อันนำไปสู่หนทางแห่งความมั่งคั่งในอนาคตและยังช่วยฝห้คนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเริ่มลงทุนด้วยเงินที่น้อยลงกว่าเดิมผ่านแพลตฟอร์มได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
  • ทีมที่ 3 Wealth Me เครื่องมือช่วยตัวแทนประกันชีวิตให้พัฒนาไปสู่ความเป็นมืออาชีพในฐานะนักการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลให้ลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยแอปพลิเคชันที่จะช่วยลดระยะเวลา และลดความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time คำนวณถูกต้องและแม่นยำตามทฤษฎีทางการเงิน สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสารและอธิบายแผนการเงินที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • ทีมที่ 4 Moto Punk แพลตฟอร์ม U Lease "เลือกไฟแนนซ์โดนใจ ได้รถมอไซต์ราคาถูก" คือแพลตฟอร์มการซื้อรถมอเตอร์ไซต์ออนไลน์ในรูปแบบเช่า-ซื้อ (จัดไฟแนนซ์) โดยเป็นตัวกลางระหว่างลูกค้า ร้านดีลเลอร์มอเตอร์ไซต์ และบริษัทไฟแนนซ์

กลุ่มบริการที่ช่วยผู้บริโภครักษาสิทธิ

  • ทีมที่ 5 Flight DApp Bot ระบบการจัดการเคลมเบี้ยประกันภัยการเดินทางและเที่ยวบินดีเลย์ผ่านระบบรูปแบบการจัดการข้อมูลแบบ Blockchain  smart contract ด้วย user interface ในรูปแบบ AI Chatbot โดยกลุ่มลูกค้าที่ทำประกัน เมื่อเกิดปัญหาจากการเดินทางหรือเที่ยวบินดีเลย์ไม่ว่าจะในประเทศและต่างประเทศ ระบบนี้จะช่วยทำการเคลมเบี้ยประกันภัยอัตโนมัติและได้รับเงินเบี้ยประกันชดเชยทันที
  • ทีมที่ 6 UTU แพลตฟอร์มระบบสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดน ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ  ชื่อ ยูทู (UTU)   เพียงแค่แอปฯ เดียว ก็สามารถสะสมคะแนนแบบไร้พรมแดนจากการช้อปปิ้งจาก 1,000 ร้านค้าพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศของ UTU  โดยไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของแต่ละร้านค้าและพกบัตรสมาชิกมากมายให้ยุ่งยากอีกต่อไป

กลุ่มบริการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของผู้เอาประกัน

  • ทีมที่ 7  noon ระบบบันทึกพฤติกรรมการขับขี่รถเพื่อเบี้ยประกันที่เป็นธรรม โดยนำเอาคอนเซปต์ Pay How You Drive มาปรับใช้กับการคิดส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับตัวเอง

ทีมที่ 8 Insbee  ประกันรถยนต์ที่จูงใจพฤติกรรมที่ดีผ่านเพียร์คอมมิวนิตี้ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกค้าผู้ทำประกันที่ขับรถปลอดภัย Insbee ทำงานร่วมกับบริษัทประกันเพื่อออกผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ชั้น 1 แบบใหม่ที่จะมีเงินคืนในกรณีที่ลูกค้าไม่เคลมประกันเลยในปีนั้น

กลุ่มบริการที่ช่วยส่งเสริมสังคม Cashless

  • ทีมที่ 9 VendingCoin  อุปกรณ์ปลายทาง (plug-in terminal) เพื่อรับชำระด้วยช่องทางดิจิตอล (digital payment) หรือเงินดิจิตอล (e-wallet) แบบออนไลน์สำหรับตู้ขายสินค้าหรือบริการด้วยเหรียญอัตโนมัติ (vending machine) โดยเจ้าของตู้สามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของตู้ขายสินค้าฯ และอุปกรณ์ปลายทางฯ ผ่านทางระบบคลาวด์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน  มอบความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้ทุกเวลา

กลุ่มระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน

  •  ทีมที่10 Siam RegTech ระบบช่วยทางการและสถาบันการเงินตรวจจับการฟอกเงิน โดยการนำเสนอระบบ Machine Learning ที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับใช้ในการตรวจจับความผิดปกติด้านการเงินที่มีแนวโน้มทุจริตในรูปแบบต่างๆ

ทุนสนับสนุนนวัตกรรมยอดเยี่ยม แบ่งออกเป็น 3 ทุน ได้แก่

  1. ทุนนวัตกรรมประเภท Rising Star Fintech สำหรับทีมที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ทีม noon และทีม UTU ได้รับทุนทีมละ 100,000 บาท

2. ทุนนวัตกรรมประเภท Innovation Fintech  สำหรับทีมที่สามารถเสนอนวัตกรรมล้ำนำสมัยหรือความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  ได้แก่ทีม Flight DApp Bot ได้รับทุนจำนวน 100,000 บาท

3. ทุนนวัตกรรมประเภท Popular Vote  สำหรับทีมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ทีม Wealth Me ได้รับทุนจำนวน 50,000 บาท 1 ทุน

4. ทุนสนับสนุนนวัตกรรมทุนละ 20,000 บาท รวม 10 ทุน สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ

เป็นอีกงานที่มีทั้งสีสันและความรู้ อีกทั้งยังเป็นงานที่เปิดโอกาสให้แต่ละทีมได้มานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีนวัตกรรมเจ๋งๆ ให้เราได้เห็น ทาง Techsauce ขอชื่นชมทุกทีมที่ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศและขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะเลิศและได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจของตัวเองให้ก้าวกระโดด พร้อมกับการสร้าง Ecosystem ของฟินเทคของไทยให้ดีขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Microsoft ซุ่มพัฒนา MAI-1 พร้อมท้าชนกับ Google และ OpenAI

Microsoft กำลังซุ่มพัฒนาโมเดลภาษา AI ขนาดใหญ่ของตัวเองภายในชื่อ MAI-1 ที่จะกลายมาเป็นคู่แข่งระหว่างโมเดลภาษาของ Google Anthropic และ OpenAI...

Responsive image

Techsauce ร่วมมือ BE8-Scoutout จัดงาน AI Club by Techsauce ‘Exclusive Dinner Talk’

Techsauce ร่วมมือ BE8-Scoutout จัดงาน AI Club by Techsauce ‘Exclusive Dinner Talk’ มุ่งสร้าง Community ด้านเทคโนโลยี...

Responsive image

4 THAI (For Thailand) Techsauce เผยกลยุทธ์เชื่อมรัฐ เอกชน ดันประเทศไทยเป็น Tech Gateway

Techsauce เผยกลยุทธ์ 4 THAI ผสานรัฐ-เอกชน เร่งไทยเป็น Tech Gateway ของภูมิภาค พร้อมยก Techsauce Global Summit เป็นศูนย์กลางงานเทคโนโลยีระดับโลกจากไทย...