3 เทรนด์นวัตกรรมการเงินที่วงการ FinTech ต้องจับตา | Techsauce

3 เทรนด์นวัตกรรมการเงินที่วงการ FinTech ต้องจับตา

นวัตกรรมด้านการเงินเป็นสิ่งที่ตลาดและผู้บริโภคให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในหลายด้าน ทั้งการจับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงการวางแผนธุรกิจส่วนตัว แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปกลุ่มธุรกิจด้านการเงินของ แกร็บ ผู้นำด้านซูเปอร์แอปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอบสนองทุกความต้องการในทุกวันของผู้บริโภค มองว่าในปี 2020 จะมีบริการด้านการเงินดิจิทัลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีนวัตกรรมจากบริษัทฟินเทคเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ และนี่คือ 3 เทรนด์แห่งวงการฟินเทคที่น่าจับตามอง

1. โมบายวอลเล็ต แรงขับเคลื่อนสำคัญสู่สังคมไร้เงินสด

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจำนวนธุรกรรมผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ตระหว่างปี 2557 – 2561 เพิ่มขึ้นถึง 116% ต่อปี และแกร็บ ไฟแนเชียล กรุ๊ป เชื่อว่า อัตราการใช้บริการด้านโมบายแบงก์กิ้งจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในบริการที่น่าจับตามอง คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีวอลเล็ต (e-wallet)

ปัจจุบัน อีวอลเล็ตได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินของประเทศไทย และเป็นอีกทางเลือกสำคัญสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และร้านค้าในหลากหลายหมวดหมู่ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถรับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ส่วนลดพิเศษ และการสะสมแต้ม ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคหันมาชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้นอีกด้วย

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทยกล่าวว่า “ในปี 2020 การใช้งานอีวอลเล็ตจะครอบคลุมไม่เพียงแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากเราจะเริ่มเห็นความร่วมมือระหว่างธนาคารในภูมิภาค เพื่อเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น และแน่นอนว่า พันธมิตรระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาบริการโมบายวอลเล็ตในประเทศไทยต่อไป”

2. ดิจิทัลนาโนไฟแนนซ์ ทางเลือกใหม่ เพื่อการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยที่ครอบคลุม

สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถนำข้อมูลอื่น ๆ (Alternative Data) มาประกอบการวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้กู้ยืมได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ (Underbanked) เช่น พนักงานรายวัน และฟรีแลนซ์

ปี 2020 จะเป็นปีที่เราได้เห็นนวัตกรรมนี้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากเทคโนโลยีมีความพร้อม และภาครัฐเองได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายและกว้างขึ้น โดยการแข่งขันในตลาดจะอยู่ที่การพัฒนารูปแบบการประเมินคะแนนเครดิตที่เหมาะสม และการมอบประสบการณ์ที่สะดวกและไร้รอยต่อให้กับผู้ใช้งาน

สำหรับแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้เริ่มให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบการอาชีพหรือนาโนไฟแนนซ์ แก่พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา นายวรฉัตรกล่าวเสริมว่า “อีกหนึ่งเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นควบคู่กันกับการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล ก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการติดตามหนี้ ซึ่งจะทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้กู้สามารถเลือกวิธีชำระค่างวดที่สะดวกและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืนของตนเองอีกด้วย”

3. เสริมศักยภาพ MSMEs ด้วยโซลูชันทางการเงินที่ครบวงจร

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักมีประวัติธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ชัดเจน จึงไม่ได้เป็นเซ็กเมนต์ที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ให้ความสำคัญ ดังนั้น โซลูชันทางการเงินสำหรับเอสเอ็มอีจึงมักถูกออกแบบมาเพื่อธุรกิจขนาดกลาง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสูญเสียโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย 

นายวรฉัตร กล่าวว่า “บริษัทฟินเทคมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ให้บริการเทคโนโลยีมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกดิจิทัลและมีความคล่องตัวในการดำเนินงานทำให้สามารถออกแบบโซลูชันที่เหมาะสม อีกทั้งยังสามารถนำเสนอบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การชำระเงิน การทำบัญชียอดขาย ไปจนถึงการจัดแคมเปญการตลาด”

จากการสำรวจโดย Bain & Company พบว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยถึง 93% สนใจที่จะใช้โซลูชันการเงินที่ครบวงจร โซลูชันสำหรับ MSMEs จึงถือเป็นเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2020 อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลระดับประเทศที่จะสร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายย่อยได้ในอนาคต

ปี 2020 ถือเป็นอีกปีที่น่าจับตาของธุรกิจการเงินดิจิทัล โดยบริษัทฟินเทค รวมถึงนอนแบงก์ทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างมองหาโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดซึ่งเปิดกว้างขึ้นในด้านโครงสร้างกฎระเบียบ และอุปสงค์มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ “เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์ความต้องการบริการทางการเงินของกลุ่มคนได้หลากหลาย สำหรับ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้พัฒนาโซลูชั่นการเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ เราจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งพาร์ทเนอร์และผู้ใช้งานของเรา ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายวรฉัตร กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Sovereign AI สำคัญอย่างไร ? จากปาก Jensen Huang ในวันที่ ‘ข้อมูลไทย’ คือทรัพยากรใหม่

สำรวจบทบาทของ Sovereign AI ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พร้อมคำอธิบายจาก Jensen Huang CEO ของ NVIDIA เกี่ยวกับ AI ไทยและ Open Thai GPT ที่จะเปลี่ยนอนาคตของเทคโนโลยีในประเทศไทย...

Responsive image

สรุป 3 ความร่วมมือ Jensen Huang ร่วมงาน AI Vision for Thailand ไทยได้อะไรบ้าง ?

Jensen Huang เดินทางเข้าร่วมงาน AI Vision for Thailand จัดขึ้นโดย SIAM.AI CLOUD โดยได้เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ทั้งนี้ Siam.AI ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน AI ของ...

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...