Grain ก่อตั้งในปี 2014 เป็นบริการส่งอาหารเดลิเวอร์รี่ แต่ต่างจาก FoodPanda หรือ GrabFood ตรงที่สองเจ้านี้ต้องเป็นตัวกลางกับผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นวิธีที่ถูกกว่าในการให้บริการส่งอาหารแบบออนดีมานด์ แต่ Grain จะเน้นที่อาหารเพื่อสุขภาพ อีกทั้งมีทั้งเชฟ เมนู และทีมขนส่งของตัวเอง ครอบคลุมทั้งการส่งอาหารรายบุคคล รวมถึงแบบบุฟเฟต์ เรียกได้ว่าเป็นโมเดล Full stack ที่แท้จริง
ก่อนหน้านี้ Grain ประสบวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากมีลูกค้าเกิดอาการอาหารเป็นพิษกว่า 20 ราย ทำให้ทีมงานเริ่มยอมแพ้ต่อความคิดในการหาเงินทุน
แต่เมื่อไม่นานมากนี้ CVC ของไทยอย่าง Singha Ventures และ VC อื่น ได้ร่วมกันลงทุนใน Series B ทำให้ตอนนี้ Grain สามารถระดมทุนได้ 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำการขยายกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
ในปี 2016 Grain ระดมทุนในรอบ Series A ได้ทั้งหมด 4.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งนำโดย Openspace Ventures และเมื่อปีที่แล้วก็ได้เพิ่มอีก 1.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในรอบการร่วมทุน นำโดย First Gourmet, FoodXervices และ Majuven
ผู้ร่วมลงทุนรายอื่นในรอบ Series B นี้ก็อย่างเช่น Genesis Alternative Ventures, Sass Corp, K2 Global, Spotify and Uber ส่วนนักลงทุนเดิมคือ Openspace Ventures, Raging Bull ของอีวานลีผู้ก่อตั้ง Thai Express และ Cento Ventures ก็เข้าร่วมด้วย
ตอนนี้บริษัทกำลังหาวิธีที่จะทำกำไรจากการที่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ต่างจากโมเดลอื่นที่ซับซ้อนกว่า ทั้งต้องร่วมมือกับทางร้านอาหาร และบริการเดลิเวอร์รี่
Yi Sung Yong ผู้เป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบอกกับสำนักข่าว TechCrunch ว่า "ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะหาเงินในรอบ Series B ต่อด้วยซ้ำ แต่โฟกัสไปที่ตัวธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไร เราคิดว่าคงไม่สามารถพึ่งพานักลงทุนได้ทั้งหมด"
แต่เอาเข้าจริงแล้ว VC ก็ชอบธุรกิจที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะมันได้แสดงให้เห็นว่าโมเดลธุรกิจนั้นได้ผล อีกทั้งการลงทุนใน Startup ที่ไม่ต้องการเงินทุนนั้นก็เป็นอะไรที่น่าดึงดูดกว่า
ตอนนี้ Grain มียอดสั่งอาหารต่อวันกว่าหลายพันมื้อ แค่ตลาดแห่งเดียวก็สามารถทำยอดขายได้ถึงแปดหลัก
ปี 2018 ธุรกิจเติบโตถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่จะขยายไปยังประเทศอื่น "ด้วยการลงทุนจาก Singha Ventures ทำให้ตอนนี้เรามีทุกอย่างที่พร้อมสำหรับการเปิดตัวในกรุงเทพ" Yi Sung Yong กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นโดยตรงในเรื่องที่ลูกค้ากว่า 20 คนได้รับอาหารเป็นพิษ แต่บอกว่าตอนนี้ธุรกิจกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำการขยายธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ นี่ยังรวมถึงการควบคุมคุณภาพ อีกอย่างก็คือต้องหาวัตถุดิบและหาซัพพลายเออร์ที่ให้ข้อตกลงที่ดีกว่า
ในตอนนี้ไทยมีโมเดลบริการส่งอาหารแบบนี้เพียงเจ้าเดียวเท่านั้นก็คือ Dahmakan ที่ได้ควบกิจการ Polpa ไปเมื่อปีที่แล้ว
"ถ้าทุกอย่างเติบโตอย่างรวดเร็ว เราต้องขยายไปยังเมืองอื่นๆ ด้วย อาจจะหนึ่งเมืองต่อปี แต่ก่อนอื่นเราต้องทำให้แบรนด์ อาหาร และบริการของเราให้เป็นที่ชัดเจนก่อน"
เรื่องราวของ Grain นั้นเป็นอีกบทพิสูจน์ว่า Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องผ่านด่านที่เต็มไปด้วยความยากลำบากเมื่อต้องขยายกิจการ เช่นเดียวกับกรณีของ Honestbee (จากสิงคโปร์) ที่ตอนนี้ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องปลดพนักงาน ชะงักบริการในฟิลลิปปินส์ และต้องปิดศูนย์ R&D ที่เวียดนามและอินเดียไปก่อน
อ้างอิงเนื้อหาข่าวจาก TechCrunch, DealStreetAsia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด