ทำไม 6 ใน 10 ของมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ถึงเติบโตจากบริษัทเทคโนโลยี | Techsauce

ทำไม 6 ใน 10 ของมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ถึงเติบโตจากบริษัทเทคโนโลยี

จากการจัดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ของ Forbes ประจำปี 2024 พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว หลายบริษัทก้าวข้ามเส้นแบ่งของบริษัทสตาร์ทอัพ สู่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดมากกว่าหลักล้านเหรียญ 

ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน เราวนเวียนอยู่กับการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเว็บไซต์ตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะไปที่ไหน คุณก็ปฏิเสธเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่พ้น

จึงไม่แปลกใจที่ 6 ใน 10 ของมหาเศรษฐีที่ติดอันดับความร่ำรวยของโลก ล้วนมาจากบริษัทด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น อเมซอน Meta, Oracle, Microsoft และ Google ต้องบอกว่าบริษัทเหล่านี้อาจมีรายได้ต่อปีมากกว่า GDP ของประเทศบางประเทศซะอีก

เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?

ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือการถือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ช่วยให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างเราดีขึ้น สามารถติดต่อกันได้โดยไม่มีพรมแดนอะไรขวางกั้น ล่าสุดเรากำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมสำคัญ นั่นคือ Internet of thing, AI และ Machine Learning

ขณะเดียวก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุ่งเรืองของโลกก็มักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่เราอาจมองภาพรวมของประเทศนั้นๆ ว่าประเทศใดที่มีบริษัทเทคโนโลยีเยอะ ย่อมขึ้นแท่นเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก แต่ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีต่างหากที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่คือ พลังทางเศรษฐกิจ ในปี 2023 บริษัท Amazon มีรายได้กว่า 20.2 ล้านล้านบาท, Meta มีรายได้กว่า 4.78 ล้านล้านบาท และ Alphabet บริษัทแม่ของ Google มีรายได้ 10.9 ล้านล้านบาท เมื่อมองรายได้จาก 3 บริษัทนี้ก็สร้างรายได้ต่อปีมากกว่า GDP ของหลายประเทศ

ตัวเลขมีความสำคัญมากกว่าเรื่องเงิน เพราะสะท้อนเห็นว่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกกำลังสั่งสมความมั่งคั่ง และที่สำคัญบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีเครื่องมือที่ทรงพลังเพียงพอจะก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจของโลก นั่นคือ ข้อมูล หรือ Data ที่ตอนนี้และในอนาคตจะมีค่ามากกว่าทอง 

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเทคโนโลยี

แม้จะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ธุรกิจเทคโนโลยีหลายประเภท อย่างอีคอมเมิร์ซ, Cloud computing และ AI ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของเว็บไซต์ emarketer เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2021 มูลค่าธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยแน่นอนว่าธุรกิจเทคโนโลยีย่อมมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากการมีเทคโนโลยีทันสมัย จะช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซพัฒนาและเติบโตได้ ทั้งการชำระเงินออนไลน์ การจัดส่งสินค้า หรือการตลาดที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้นักการตลาดเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

Credit: emarketer

หนึ่งในมหาเศรษฐีสายเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จคือ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.94 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่มี 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ Amazon เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลายด้าน ตั้งแต่การขายสินค้าออนไลน์ ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ และมีบริการด้าน Cloud Computing ภายใต้ชื่อ Amazon Web Service (AWS) ทำให้ Amazon เป็นบริษัทที่มีการเติบโตทางรายได้ต่อเนื่องเฉลี่ย 27% ต่อปี 

 ปัจจุบันรายได้หลักของ Amazon ประกอบด้วยหลายช่องทาง อาทิ รายได้จากการขายสินค้า รายได้จากการจัดเก็บผู้ขายสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ Amazon ในรูปแบบของค่าคอมมิชชั่น รายได้จาก AWS และรายได้จากค่าสมาชิกรายเดือนและรายปี เป็นต้น ซึ่งธุรกิจที่ Amazon ถือครองอยู่ต่างเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง อาทิ ในปี 2023 ธุรกิจ Cloud มีมูลค่า 6.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 19% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากองค์กรที่ทำ Digital Transformation รวมทั้ง Generative AI ที่ต้องใช้เนื้อที่ในการประมวลและจัดเก็บข้อมูลมหาศาล

Credit: setinvestnow.com

จากข้อมูลของเว็บไซต์ Genuine Impact เผยว่า แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างประสบปัญหาการเลิกจ้างครั้งใหญ่ ทำให้จำนวนมหาศาลในธุรกิจเทคโนโลยีลดลง แต่ก็ยังติด Top 3 ของกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุด คิดเป็น 12% ของจำนวนมหาเศรษฐีทั่วโลก ทั้งนี้ อันดับ 1 คือ กลุ่มธุรกิจการเงินการลงทุน 14% และธุรกิจการผลิต 12% (ข้อมูลจาก Genuine Impact, 2023)

Credit: Genuine Impact

10 อันดับมหาเศรษฐีโลก ประจำปี 2024 

อันดับ 1 Bernard Arnault และครอบครัว เจ้าของอาณาจักร LVMH ที่มีแบรนดหรูกว่า 75 แบรนด์ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 2 Elon Musk เจ้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Tesla และผู้ผลิตจรวด SpaceX มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.95 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

อันดับ 3 Jeff Bezos เจ้าของบริษัท Amazon มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.94 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

อันดับ 4 Mark Zuckerberg ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook หรือในปัจจุบันคือ Meta มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.77 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 5 Larry Ellison ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ Oracle มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.95 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 6 Warren Buffett นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.33 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 7 Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ Microsoft มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 8 Steve Ballmer อดีต CEO ของ Microsoft มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 9 Mukesh Ambani มหาเศรษฐีชาวอินเดีย  และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท Reliance Industries ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โทรคมนาคม การค้าปลีก และบริการทางการเงิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อันดับ 10 Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google และหนึ่งในผู้บริหาร Alphabet มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ 

10 อันดับมหาเศรษฐีโลกในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ประจำปี 2024 

อันดับ 1 Jeff Bezos เจ้าของบริษัท Amazon มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.94 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก

อันดับ 2 Mark Zuckerberg เจ้าของบริษัท Meta มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.77 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก

อันดับ 3 Larry Ellison ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ Oracle มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.95 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก

อันดับ 4 Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft  มีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก

อันดับ 5 Steve Ballmer อดีต CEO ของ Microsoft มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

อันดับ 6  Larry Page ผู้ร่วมก่อตั้ง Google และหนึ่งในผู้บริหาร Alphabet มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก

อันดับ 7 Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google และหนึ่งในผู้บริหาร Alphabet มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.10 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก

อันดับ 8 Michael Dell ผู้ก่อตั้ง Dell Technologies มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก

อันดับ 9 Jensen Huang ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Nvidia บริษัทชั้นนำด้านการผลิตชิปประมวลผล มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก

อันดับ 10 Zhang Yiming ผู้ก่อตั้ง ByteDance บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีน หรือเป็นบริษัทแม่ของ TikTok มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก

จากลิสต์เหล่านี้ นับเป็นอีกปีที่ดีของบรรดามหาเศรษฐีในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้น ปัญหาสงคราม ความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาวะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่การเป็น Digital Transformation ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีจากบริษัทเทคโนโลยี


อ้างอิง visualcapitalist, forbrs, emarketer, amarintv, setinvestnow


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

PepsiCo เปิดเวที Greenhouse Accelerator 2025 เฟ้นหาสตาร์ทอัพสายกรีนในเอเชียแปซิฟิก ชิงทุนกว่า 120,000 ดอลลาร์ฯ

PepsiCo ยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร และเครื่องดื่มระดับโลก ประกาศเปิดรับสมัครสตาร์ทัพด้านความยั่งยืนรุ่นใหม่จากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าร่วมโครงการ ‘Greenhouse Accelerator 2025’ ปีที่ 3...

Responsive image

OpenAI เปิดตัว “Tasks” ฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT เตือนความจำ-สั่งงานล่วงหน้าได้ หมดกังวลเรื่องหลงลืม

หมดกังวลเรื่องหลงลืม! OpenAI เปิดตัว “Tasks” ฟีเจอร์เตือนความจำ-สั่งงานล่วงหน้า บน ChatGPT...

Responsive image

BOI ปรับเกณฑ์ LTR Visa ใหม่ หวังดึง Talent ต่างชาติ-นักลงทุนเข้าไทย

ล่าสุด ครม. อนุมัติบีโอไอ (BOI) ปรับเกณฑ์วีซ่าพิเศษ LTR Visa (Long-Term Resident Visa) หวังดึงบุคคลากรชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง รวมถึงนักลงทุนระดับโลกเข้าสู่ไทย หวังผลักดันไทยเป็น...