ไทยขึ้นแท่นตลาดส่งออกปลาแห่งใหม่ขวัญใจญี่ปุ่น ! ท่ามกลางการแบนและเฝ้าระวังอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั่วโลก สำรวจพบคนไทยชอบทานปลาดิบมากขึ้น ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นโตไวผุดขึ้นกว่า 5,325 ร้าน ทั่วประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 66 ญี่ปุ่นประกาศว่าจะปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีซึ่งผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทร และแผนการดังกล่าวก็ได้รับการอนุมัติจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติแล้ว
แต่แม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะอนุมัติแผนดังกล่าว แต่ในประเทศข้างเคียงและชาวประมงพื้นบ้านก็ยังกังวลถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะจีนที่มองว่าแค่การประเมินจาก IAEA อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 66 ญี่ปุ่นก็ประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะสู่มหาสมุทร
การกระทำดังกล่าวส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศประกาศแบนการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เช่น จีน และฮ่องกง ที่หยุดนำเข้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากทะเลญี่ปุ่น โดยออกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดในญี่ปุ่นแล้ว และการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้จะต้องผ่านการทดสอบกัมมันตภาพรังสีก่อน
รวมถึงรัสเซียได้ประกาศข้อจำกัดเกี่ยวกับอาหารทะเลของญี่ปุ่นร่วมกับจีน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน ซึ่งการแบนจากจีนในครั้งนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียรายได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและประมงที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงต้องเร่งมองหาตลาดใหม่ และในปัจจุบันก็ให้ความสนใจในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก
ถึงแม้ว่าประเด็นการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าของญี่ปุ่นจะสร้างความกังวลให้คนทั่วโลก แต่ทางด้านไทยก็อ้าแขนต้อนรับอย่างดี เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาญี่ปุ่นส่งออกอาหารทะเลมาไทยมากขึ้นถึง 14.6% โดยมีสินค้าหลักอาหารทะเลสด แช่เย็น และแช่แข็ง
สำรวจพบว่าในไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นสูงถึง 5,325 แห่ง ในปี 65 (เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 745 แห่ง) และ JETRO ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น เผยว่า จากการสำรวจความชอบของคนไทย อาหารญี่ปุ่นขึ้นแท่นอันดับ 2 อาหารโปรดที่คนไทยชอบรองจากอาหารไทย
จนตอนนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายใหม่ที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งบริษัท Uoriki ผู้ส่งออกอาหารทะเลเก่าแก่ของญี่ปุ่นก็ได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ วางแผนที่จะเปิดร้านขายปลาและอาหารทะเลสดเพิ่มเติมในประเทศไทย จากที่แต่เดิมมีการเอาเข้ามาขายแค่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของโลตัส
โดยตั้งเป้าที่จะเปิดร้านประมาณ 10 แห่งภายในปี 2567 และขยายเพิ่มเป็น 100 แห่งให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่ง Masayuki Yamada ประธานบริษัท Uoriki กล่าวว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำให้การส่งออกปลาดิบโตขึ้นได้”
สุดท้ายแล้วอัตราการส่งออกอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มสูง จนประเทศไทยกลายเป็นตลาดแห่งใหม่ขวัญใจญี่ปุ่น ก็สะท้อนให้คิดได้ 2 แง่มุมว่า
ไทยสามารถจัดการกับสารเคมีปนเปื้อนทุกชนิดในอาหารทะเลได้จนไม่ต้องหยุดนำเข้า หรือประเทศไทยไม่ได้สนใจสารเคมีปนเปื้อนในอาหารตั้งแต่แรก แล้วคุณละคิดว่าเป็นแง่มุมไหน ?
อ้างอิง: asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด