หากพูดถึง Funding Societies (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Modalku ในประเทศอินโดนีเซีย) เป็นแพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัลสำหรับ SME ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศระดมเงินทุนหุ้นสำเร็จ* จำนวน 144 ล้านเหรียญสหรัฐในหุ้นประเภท Series C+ ซึ่งมีการจองซื้อเกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย(over subscription) นำโดย SoftBank Vision Fund 2 ร่วมด้วยนักลงทุนรายใหม่ ได้แก่ VNG Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของเวียดนาม, Rapyd Ventures, EDBI ซึ่งเป็นนักลงทุนระดับโลกในเอเชีย, Indies Capital, K3 Ventures และ Ascend Vietnam Ventures และผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ได้แก่ Sequoia Capital India และ BRI Ventures
ซึ่งบริษัททั้งหมดที่กล่าวมาเป็นบริษัทในต่างประเทศทั้งหมด และได้รับวงเงินกู้ยืมอีก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถาบันสินเชื่อต่าง ๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ซึ่งได้มีการใช้เงินที่ได้รับดังกล่าวเพื่อปล่อยเงินทุนแบบวงเงินกู้ยืมนี้ให้แก่ MSMEs ไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2564 การระดมทุนทั้งแบบธุรกรรมการซื้อขายหุ้นและวงเงินกู้ยืมในรอบ Series C+ นี้ เกิดขึ้นทันทีหลังจากการระดม Series C มูลค่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ถึง 2564 เงินทุนต่างๆ ที่ได้รับ
ทำให้ Funding Societies กลายเป็นผู้นำตลาดด้านเงินทุนดิจิทัลที่แข็งแกร่งมากขึ้น และเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนบริการอื่นเช่น การบริหารค่าใช้จ่าย และบริการชำระเงินแบบ B2B สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การระดมทุนครั้งนี้ยังทำให้บริษัทฯ สามารถซื้อคืนหุ้นจากอดีตพนักงานและพนักงานปัจจุบันที่ได้รับการแจกจ่ายหุ้นภายใต้ Employee Stock Option Plan ของบริษัทฯ หากพนักงานดังกล่าวมีความประสงค์ขายหุ้นคืน โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดย Funding Societies ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยเคลวิน เตียว (Kelvin Teo) และเรย์โนลด์ วิจายา (Reynold Wijaya) ขณะศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อส่งเสริม MSMEs ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทฯช่วยแก้ปัญหาจุดอ่อนทางธุรกิจที่สำคัญให้กับ MSMEs เพื่อสร้างการเติบโต โดยเริ่มจากช่องว่างทางการเงินจำนวน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในภูมิภาค แม้ว่าวิสาหกิจขนาดย่อมจะมีสัดส่วนเกือบ 99% ของวิสาหกิจทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่วิสาหกิจเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการขอเงินทุนเพื่อธุรกิจจากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมเนื่องจากไม่มีประวัติด้านเครดิตหรือไม่สามารถให้หลักประกันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ Funding Societies จึงได้นำเสนอเงินทุนขนาดย่อยตั้งแต่ 500 เหรียญสหรัฐจนถึง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสามารถขอเบิกได้ภายใน 24 ชั่วโมง วิธีการดังกล่าวสามารถตอบสนองต่อ MSMEs ที่เผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ Funding Societies เลือกที่จะไม่ใช้การเข้าถึงบริการทางการเงินตามแนวทางห่วงโซ่อุปทานขององค์กรแบบเดิม ๆ แต่สร้างความแตกต่างด้วยการเป็นร้านค้าแบบครบวงจรในการจัดหาเงินทุนสำหรับ SME แทน โดยนำเสนอรูปแบบสินเชื่อที่ใช้เทคโนโลยี AI และผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจที่ขาดโอกาสทางการเงิน งานศึกษาด้านผลกระทบครั้งล่าสุด** พบว่า จากการคำนวณโดยใช้ระเบียบวิธีของธนาคารพัฒนาเอเชีย MSMEs ที่ Funding Societies ให้การสนับสนุนเงินทุนสร้าง GDP อยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
จากการดำเนินธุรกิจเป็นเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน บริษัทฯได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจในสี่ประเทศทั่วภูมิภาค ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และยังมีการดำเนินงานในประเทศเวียดนามอีกด้วย รวมแล้วกว่า 5 ประเทศ จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯได้จัดสรรเงินทุนมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐให้เป็นเงินทุนเพื่อธุรกิจแก่ MSMEs ผ่านธุรกรรมมากกว่า 4.9 ล้านรายการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณ วารุณ บันดารี (Varun Bhandari) ผู้บริหารสูงสุดประจำ Funding Societies ประเทศไทย กล่าวว่า MSMEs ถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย มีส่วนช่วยสร้าง GDP กว่า 40% และสร้างการจ้างงานมากถึง 80% ของการจ้างงานทั้งหมด เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผู้ถือหุ้นให้ความไว้วางใจเราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า รูปแบบธุรกิจของเราเป็นแพลตฟอร์มเงินทุนระดับชั้นนำสำหรับบรรดา SME ในภูมิภาค
เรามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง และด้วยการระดมเงินทุนครั้งล่าสุดนี้ Funding Societies ก้าวข้ามการให้สินเชื่อแก่ SME สู่การเป็นธนาคารดิจิทัล (neobanking) และบัตรเครดิตเสมือนจริง (Virtual Credit) ในการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการของไทย
เกร็ก มูน (Greg Moon) หุ้นส่วนผู้จัดการของ SoftBank Investment Advisers กล่าวว่า บรรดา SME ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเคยประสบปัญหาในการเข้าถึงสถาบันการเงิน และถูกบังคับให้ต้องพึ่งพาเงินทุนส่วนตัวเป็นหลักแทนเพื่อใช้รองรับการเติบโตของธุรกิจ
“Funding Societies กำลังสร้างสะพานเชื่อมบริษัทเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลงโดยสร้างชุดข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้และใช้เทคโนโลยีที่ใช้ AI ประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของบริษัทเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบดั้งเดิม เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ เคลวิน เตียวและทีมงานในการสนับสนุนภารกิจของ Funding Societies ที่จะปรับปรุงสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดีขึ้นด้วยการระดมเงินทุนให้แก่บรรดา SME ที่มีคุณค่าแต่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการ”
ขณะเดียวกันในไตรมาส 4 ปี 2564 Funding Societies ได้ให้เงินทุนไปมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้น โดยเงินทุนแบบวงเงินให้กู้ยืมของบริษัทฯ ส่วนหนึ่งมาจากองค์กรขนาดใหญ่ในยุโรป
นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา Funding Societies ได้ขยายการให้บริการทางการเงินหลายรูปแบบนอกเหนือจากการให้กู้ยืม และวางแผนที่จะขยายการดำเนินงานไปยังที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 12 เดือนข้างหน้า
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด