รวมเรื่องที่ต้องรู้ของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ Omicron | Techsauce

รวมเรื่องที่ต้องรู้ของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ Omicron

นับว่าเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั่วโลกก่อนส่งท้ายปี 2021 หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Omicron เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา โดย WHO ย้ำว่า Omicron เป็นการกลายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (variant of concern) ต่อจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตาเลยทีเดียว

ในบทความนี้จะพาทำความรู้จักกับที่มาของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ‘Omicron’ ว่ามีต้นกำเนิดจากที่ไหน แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างไร แล้วแต่ละประเทศมีการรับมืออย่างไรบ้าง

ต้นกำเนิดและลักษณะการกลายพันธุ์ของ ‘Omicron’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา WHO ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ใหม่รายแรกจากบอตสวานา ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีลักษณะการอุบัติของไวรัส และแพร่ระบาดที่รวดเร็วในหลายพื้นที่อย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ เชื้อไวรัสที่ตรวจพบมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดอยู่เดิมอย่างเดลตาในปัจจุบัน

ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ติดตามและประเมินวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิด SARS-CoV-2 นำเชื้อไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่า เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ซึ่งงานวิจัยของโรงพยาบาล Bambino Gesù จากกรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้ศึกษาและเปรียบเทียบลักษณะการกลายพันธุ์ของไวรัส B.1.1.529 กับสายพันธุ์เดลตา เผยให้เห็นว่า จำนวนการกลายพันธุ์ของโปรตีนหนามไวรัส B.1.1.529 สูงถึง 43 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่กลายพันธุ์อยู่ที่ 18 ตำแหน่ง เรียกได้ว่าสูงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดหลักประมาณ 2 เท่า

แม้ว่าทางการยังไม่ทราบต้นตอที่แน่ชัดของ Omicron ว่ามาจากต้นสายพันธุ์ใดของโควิด-19 แต่เบื้องต้นทาง WHO ได้ระบุชนิดของไวรัสแล้วว่าเป็น Variant of Concern (VOC) หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวล หมายความว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการแพร่กระจายสูงขึ้น เชื้อไวรัสมีความรุนแรง รวมไปถึงสามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์และการป้องกันจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งนี้ ทางทีมงานวิจัยของ WHO ต้องใช้เวลาในการศึกษาลักษณะของตัวไวรัส B.1.1.529 ต่อจากนี้อีกประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพมนุษย์ต่อไป

เหตุใดไวรัสกลายพันธุ์ใหม่นี้ถึงชื่อว่า Omicron?

ตามหลักการการตั้งชื่อการกลายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 WHO ได้ประกาศเมื่อเดือนพ.ค. แล้วว่าจะอ้างอิงจากตัวอักษรกรีก เพื่อช่วยให้การสื่อสารต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่สะดวกและลดความสับสนลงได้ ตัวอย่างเช่น การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย หากระบุต่อสาธารณะว่าเป็นสายพันธุ์ไวรัส B.1.617.2 อาจส่งผลให้คนเข้าใจยากและจำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงตั้งชื่อเป็น Delta (เดลตา) หรือการกลายพันธุ์ลำดับที่ 4 ที่ตรงกับตัวอักษรตัวที่ 4 ในภาษากรีก ไม่เพียงแต่เดลตาที่ถูกตั้งชื่อตามลำดับตัวอักษรภาษากรีกเท่านั้น แม้แต่ไวรัสกลายพันธุ์ขนิดที่น่าจับตา หรือ Variant of Interest ก็ตั้งขึ้นตามตัวอักษรกรีกเช่นกัน เช่น แลมบ์ดา มิว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การตั้งชื่อการกลายพันธุ์ครั้งนี้ว่า Omicron ได้สร้างความสับสนต่อผู้คน เนื่องจากเป็นการข้ามลำดับตัวอักษรกรีกไปถึง 2 ตัว นั่นก็คือ Nu และ Xi ทาง WHO ก็ได้ให้ความกระจ่างผ่านการแถลงต่อสำนักข่าว AP แล้วว่า หากตั้งชื่อไวรัสว่าเป็น Nu อาจไปตรงกับคำศัพท์คำว่า “New” ซึ่งคำว่าใหม่นั้นอาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ รวมไปถึงที่ไม่ได้ตั้งชื่อไวรัสให้เป็น “Xi”เพราะมีความคล้ายคลึงกับชื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน WHO กล่าวเสริมว่า “แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการตั้งชื่อโรค จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล กลุ่มวัฒนธรรม สังคม ระดับชาติ ภูมิภาค อาชีพ หรือ ชาติพันธุ์” จึงทำให้เป็นสาเหตุที่ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ตั้งชื่อใหม่ว่า Omicron และใช้เรียกในปัจจุบัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron

ต่อให้ข้อมูลการแพร่ระบาดและความรุนแรงของสายพันธุ์ Omicron ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มส่อผลชัดเจนผ่านยอดติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศ รวมไปถึงทางรัฐบาลแต่ละประเทศเริ่มตั้งรับกับการแพร่ระบาดด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด โดยมีรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ปัจจุบันดังต่อไปนี้

  • ทางการสาธารณสุขของฝรั่งเศสตรวจพบผู้ติดเชื้อที่เป็นไปได้ว่ามาจากไวรัสสายพันธุ์ Omicron ประมาณ 8 ราย

  • สหภาพยุโรปจำกัดการเดินทางเข้าและออกของ 7 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว

  • สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้จำกัดการเดินทาง 7 ประเทศเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป รวมไปถึงประเทศมาลาวี

  • สหราชอาณาจักรออกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าออกของทั้ง 8 ประเทศดังที่เกิดขึ้นกับนโยบายของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ รวมไปถึงเพิ่มรายชื่ออีก 2 ประเทศ ได้แก่ แองโกลาและแซมเบีย

  • อิสราเอลประกาศปิดพรมแดนสำหรับชาวต่างชาติทั้งหมดเป็นเวลา 14 วัน หลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron 1 ราย

  • ออสเตรเลียประกาศกักตัวนักเดินทาง 2 รายหลังจากตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ซึ่งทั้งสองรายเดินทางในเที่ยวบิน Qatar Airways จากสนามบินโดฮาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

  • รัฐบาลรัฐออนแทริโอของแคนาดาประกาศยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron 2 รายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย ทางนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เปิดเผยความคืบหน้าว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron แต่ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศทั่วโลกแล้วว่าห้ามผู้โดยสารที่เดินทางจาก 8 ประเทศที่มีการกลายพันธุ์ เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที 1 ธ.ค. ส่วนผู้โดยสารที่เข้าไทยมาแล้วในวันที่ 28 พ.ย. - 30 พ.ย. 64 ต้องกักตัว 14 วัน

ประสิทธิภาพของวัคซีนและการรักษาโควิด-19 กับการต่อกร ‘Omicron’

WHO ระบุว่าจากหลักฐานเบื้องต้นเผยให้เห็นผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิด Omicron ซ้ำมากกว่าสายพันธุ์ Variant of Concern รูปแบบอื่น 

ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น WHO อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในขณะนี้ยังคงมีความสำคัญในการลดความร้ายแรงของโรค ป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต 

ทั้งนี้ Moderna ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติอเมริกา ได้ออกมาแถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้วว่าทางบริษัทจะเร่งการผลิตวัคซีนให้สามารถป้องกันสายพันธุ์ Omicron และพร้อมใช้รักษาภายในต้นปี 2022 

ในส่วนของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ทาง WHO มองว่าการตรวจหาเชื้อรูปแบบ PCR หรือ Polymerase chain reaction ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างเชื้อจากลำคอและหลังโพรงจมูกนั้น ยังสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่รวมไปถึงการติดเชื้อกลายพันธุ์ Omicron ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องศึกษาอย่างต่อเนื่องว่าเชื้อชนิดนี้จะหลบการตรวจหาได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ การรักษาในปัจจุบัน ไม่ว่จะเป็น Corticosteroids ก็ดี หรือ IL6 Receptor Blockers ก็ดี ยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรง ส่วนวิธีการรักษารูปแบบอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการประเมินถึงประสิทธิภาพ ซึ่งอาจมีรายงานความคืบหน้าต่อไปในเร็ว ๆ นี้ 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ตะลุย Davos ส่อง 5 ประเด็นหลัก ใน World Economic Forum

สำรวจประเด็นสำคัญจากงาน World Economic Forum 2025 ที่ Davos เวทีประชุมระดับโลกที่รวมผู้นำหลากหลายวงการ เพื่อหารือเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมบทบาทไทยในเวทีนานาชาติ...

Responsive image

Trump ไฟเขียว เปิดทางให้ Elon Musk-Larry Ellison เข้าซื้อกิจการ Tiktok

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยว่าพร้อมพิจารณาให้ Elon Musk หรือ Larry Ellison ซื้อแอป TikTok ซึ่งเป็นของ ByteDance จากจีน ถ้าพวกเขาพร้อมที่จะทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ...

Responsive image

OpenAI เปิดตัว Stargate Project โครงการใหญ่ที่ลงทุน 16 ล้านล้านบาทใน 4 ปี

Stargate Project โครงการยักษ์ใหญ่จาก OpenAI ร่วมกับพันธมิตรอย่าง SoftBank, NVIDIA, และ Microsoft ลงทุนกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI ในสหรัฐฯ ยกระดับชีวิตมน...