เศรษฐกิจดิจิทัลไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2567 มูลค่ารวมของสินค้าดิจิทัลหรือ GMV จะเพิ่มขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 19% โดยปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งยังทำให้ประเทศไทยครองอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงาน e-Conomy SEA 2024 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ชี้ให้เห็นว่า อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้หลัก โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 หรือประมาณ 9.1 แสนล้านบาท ด้วยการเติบโตของวิดีโอคอมเมิร์ซและการซื้อขายผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งที่เพิ่มการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภค ทำให้การซื้อขายออนไลน์ได้รับความนิยมสูงขึ้นและสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กถึงใหญ่ในประเทศ
ภาคธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ในปีนี้ เติบโตขึ้น 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งในเมือง และบริการส่งอาหารออนไลน์กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริการขนส่งและมีมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ในทางกลับกันบริการส่งอาหารออนไลน์ยังคงมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในเรื่องของกำไร
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวออนไลน์ก็มีการเติบโตเร็วที่สุด โดยมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 32% ซึ่งถือว่าเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตนี้ มากจากมาตรการใหม่ ๆ ในการตรวจวีซ่า เช่น การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ โครงการวีซ่าสำหรับ Digital Nomad และโครงการ Visa on Arrival โดย 45% ของการใช้จ่ายมาจากนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยก็มีการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 270% นับตั้งแต่ปี 2563 โดยเกือบ 70% ใช้จ่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โลกการเงินดิจิทัลไทยกำลังเติบโตอย่างน่าจับตา การชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 นี้ คาดว่ามูลค่าธุรกรรมรวมจะพุ่งสูงถึง 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 5% ขณะเดียวกันบริการสินเชื่อดิจิทัลก็มาแรงไม่แพ้กัน ด้วยยอดคงค้างสินเชื่อที่คาดว่าจะสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 28% ซึ่งถือว่าเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งไปกว่านั้นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จะยิ่งช่วยเร่งให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นที่นิยมมากขึ้น และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
นอกจากนี้ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความสนใจด้านการศึกษา เกม และการตลาดที่สูง ธุรกิจต่าง ๆ นำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ส่งผลให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในศูนย์ข้อมูล ที่เพิ่มขึ้นถึง 550% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย การลงทุนจากภาคเอกชนกำลังกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ (92%) มุ่งเป้าไปที่บริการการเงินดิจิทัลสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อศักยภาพการเติบโตของ FinTech ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุถึง ปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุน ได้แก่ การประเมินมูลค่าที่สมจริง โมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้ว แนวทางการทำกำไรที่ชัดเจน และแผนการ Exit ที่ชัดเจน ซึ่ง 3 ปัจจัยแรกนั้น ธุรกิจไทยทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ยังคงต้องพิสูจน์ตัวเองในเรื่องของแผนการ Exit เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ท่ามกลางความท้าทายของตลาดทุนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ความไว้วางใจในระบบดิจิทัล (Digital Trust) ก็เป็นอีกหนึ่งเสาหลักสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้บริโภคชาวไทยต่างมองหาระบบรักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ เช่น การเข้ารหัส และการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (2FA) แพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจจับการทุจริต และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน
“การพัฒนาในด้านการรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลเป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเนื่องจากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กันอย่างรวดเร็ว การนำ AI มาใช้ก็สามารถช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และกลโกงออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัย ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่น Google ภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อช่วยปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ด้วยฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ที่เราได้เปิดตัวไปในช่วงต้นปีนี้ที่งาน Safer Songkran" แจ็คกี้ กล่าวเสริม
การสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยและโปร่งใสจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยปลดล็อกศักยภาพของ AI และ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับทุกคน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยรวมถึง การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด