ธนาคารออมสิน หนุนตั้ง Non Bank รัฐแห่งแรก เป็นบริษัทใหม่ รุกปล่อยสินเชื่อ–ขาย ฝากที่ดิน ดอกเบี้ยต่ำ หวังทยานสู่ธนาคารเพื่อสังคม ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีที่ดินแต่ติดขัดสภาพคล่อง ตั้งเป้าเปิดให้บริการไตรมาส 3 ปี 2565 เบื้องต้นจะมีการใช้เงินทุนในการจดทะเบียน1,000 ล้านบาท พร้อมกับวางแผนถือหุ้น 85% คาดปีแรกจะปล่อยสินเชื่อที่ดินทะลุ 10,000 ล้านบาท
คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2565 ออมสินมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับที่ดินและการรับขายฝากที่ดิน ในรูปแบบน็อนแบงก์ หรือ ผู้ประกอบการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีการขออนุญาตการประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเป็นตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาเลย มีธนาคารออมสินเข้าไปเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 85% และอีก 15% จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมธุรกิจ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงมี.ค.-เม.ย. 65 และเตรียมการเพื่อเปิดให้บริการได้หลังจากนั้นภายในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565
“โมเดลนี้เป็นอีกหนึ่งแผนดำเนินงานของธนาคารที่มุ่งไปสู่ธนาคารเพื่อสังคม ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีที่ดินแต่ยังติดขัดในเรื่องสภาพคล่อง ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เข้าถึงดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เข้าไปกดดอกเบี้ยเกินไป จนทำให้ผู้ทำธุรกิจอยู่เดิมต้องเดือดร้อน เบื้องต้นจะมีการใช้เงินทุนในการจดทะเบียน1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออมสินจะเข้าไปถือหุ้นเกินสัดส่วน 50% และคาดว่าจะมีการปล่อยสินเชื่อที่ดินในช่วงปีแรกได้ 10,000 ล้านบาท” คุณวิทัย กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจดังกล่าวในระยะแรก จะเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ดินก่อน ต่อไปจะพัฒนาไปสู่ธุรกิจขายฝาก จำนองที่ดิน และรวมทั้งจะมีการพัฒนาไปถึงการให้สินเชื่อบุคคลด้วย เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลงมาซึ่งจะเป็นการลดปัญหาหนี้นอกระบบด้วย เบื้องต้น การปล่อยสินเชื่อที่ดิน จะมีการคำนวณการปล่อยสินเชื่อสูงสุด75% จากราคาประเมินที่ของกรมธนารักษ์ หรือ 50% ของราคาตลาด ขณะเดียวกัน จะมีการคัดเลือกเน้นกลุ่มที่ดินที่มีศักยภาพ ที่ตาบอด หรือที่ที่มีการขุดหน้าดินออกไปขายทิ้งแล้วเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจด้วย
ส่วนการขายฝากที่ดินนั้น จะรับขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมีการผ่อนปรนในตัววงเงินสินเชื่อที่มากกว่าสินเชื่อที่ดิน เนื่องจากการขายฝากมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่น้อยกว่า จึงจะให้การพิจารณาที่ผ่อนปรน และให้วงเงินที่สูงกว่า รวมทั้งดอกเบี้ยจะอัตราต่ำกว่าการฝากขายที่ดินในตลาด ประมาณ 8.99-9.99% ซึ่งการดำเนินธุรกิจขายฝากในท้องตลาดก็ยังถือว่ามีผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากอยู่ โดยปัจจุบันมีธุรกิจขายฝากเข้ามาจดทะเบียนกับกรมที่ดินเฉลี่ยปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท
“การตั้งบริษัทสินเชื่อที่ดินเป็นการต่อยอดจากช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากที่ออมสินได้ทดลองทำโครงการมีที่มีเงิน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 2 หมื่นล้านบาทและโครงการมีที่มีเงินจะจบ เฟส 3 ใน มี.ค.นี้ และจะไม่มีการต่อโครงการอีก เนื่องจากต้องการให้บริษัทนี้เข้ามาดำเนินการในส่วนนี้แทน” คุณวิทัย กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด