GPSC จับมือกลุ่ม CIP ตั้งบริษัทร่วมทุน รุกธุรกิจพลังงานลม | Techsauce

GPSC จับมือกลุ่ม CIP ตั้งบริษัทร่วมทุน รุกธุรกิจพลังงานลม

 GPSC ลงนามสัญญาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานลมกับ กลุ่มCopenhagen Infrastructure Partners (CIP) ผ่านกองทุน Copenhagen Infrastructure New Markets Fund I (CI NMF I) พร้อมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เดินหน้าธุรกิจพลังงานลม 

GPSC

โดยมุ่งเน้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศ ร่วมมือศึกษาพื้นที่ศักยภาพลม ดึงเทคโนโลยีทันสมัยจาก CIP พร้อมเข้าร่วมโครงการรัฐตามแผน PDP ของประเทศ ปักธงพร้อมเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานลมในประเทศ และก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ภายในปี ค.ศ. 2060

คุณวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ CI NMF I ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ CIP บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ก และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินเดีย และไต้หวัน 

โดยจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานลม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าภายในประเทศ นอกจากนี้ยังแสวงหาพื้นที่และโครงการพลังงานลมที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ โดย GPSC และ CI NMF I จะถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ  

คุณวรวัฒน์ กล่าวว่า การร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้งสองกลุ่มบริษัท เนื่องจาก CIP เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการพัฒนาโครงการพลังงานลมทั้งด้านการสำรวจพื้นที่ทีมีศักยภาพ การบริหารโครงการก่อสร้าง และการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรเป็นผู้ผลิตกังหันลมที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้สามารถต่อยอดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมภายในประเทศ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับ GPSC และประเทศไทยได้

การร่วมทุนดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานลมของ กลุ่มบริษัทฯ เพื่อรองรับโอกาสในการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2022) รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานลม ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% ในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน พร้อมกันกับการก้าวสู่นวัตกรรมพลังงาน เพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2060 

ก่อนหน้านี้ GPSC ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูงด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 

ดังนั้น การร่วมทุนกับ CI NMF I ในครั้งนี้ จะสนับสนุนการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยโดยการต่อยอดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ภายในปี ค.ศ. 2065

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 กองทุน CI NMF I ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น (Shared Purchase Agreement) ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 ใน บริษัท ยูรัสพลัส จำกัด และ บริษัท โบรีพลัส จำกัด (ซึ่งเดิมเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมด 100%) 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าร่วมยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 นับว่าทั้งสองฝ่ายมีประสบการณ์การทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี และการร่วมทุนในครั้งนี้ จะสนับสนุนการยกระดับความสามารถในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ ความยั่งยืนของประเทศ และขับเคลื่อนเป้าหมายของบริษัทฯ ในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

LINE MAN ประกาศจุดยืนทางธุรกิจใหม่ "ถูกสุดทุกวัน" พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทย

LINE MAN Wongnai ผู้นำในวงการฟู้ดเดลิเวอรีของไทย จัดงานแถลงทิศทางธุรกิจครั้งใหญ่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ Quartier Avenue ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ โดยประกาศ Positioning ใหม่ "ถู...

Responsive image

’การบินไทย‘ กางไทม์ไลน์ฟื้นฟูกิจการ เตรียมสยายปีกกลับตลาด SET

การบินไทย ก้าวข้ามวิกฤตเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และดำเนินการตามแผนโดยไม่เกิดเหตุผิดนัด สเต็ปต่อจากนี้ บริษัทวางกลยุทธ์ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการอย่างไร เพื่อพาการบินไทยกลับเข้ามาซื้อขายหุ...

Responsive image

SME ไทยรับมือกับความยั่งยืนอย่างไรดี ? รู้จัก UOB Sustainability Compass ตัวช่วย SMEs เริ่มต้นเส้นทางแห่งความยั่งยืน

ยุคนี้ธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุน ก็ให้ความสำคัญ จากผลสำรวจ UOB Business Outl...