Grab และ Gojek จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ยูนิคอร์นที่นำ ESG มาปรับใช้กับธุรกิจ ก่อนติดนามสกุล มหาชน | Techsauce

Grab และ Gojek จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ยูนิคอร์นที่นำ ESG มาปรับใช้กับธุรกิจ ก่อนติดนามสกุล มหาชน

Grab และ Gojek ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจนเป็นศูนย์ ถือเป็น Startup ยูนิคอร์ของภูมิภาค ที่เดินหน้านโยบายด้านความยั่งยืน และนำแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาปรับใช้ ก่อนติดนามสกุล มหาชน

Grab

Grab เดินหน้านโยบายความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา Grab ในสิงคโปร์ได้มีบริการใหม่โดยให้ผู้ใช้สามารถเรียกรถไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาเดียวกันกับการเรียกรถปกติ อันเป็นหนึ่งในโครงการล่าสุดของบริษัทในการส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายงานฉบับแรกของ ESG เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท Grab ของสิงคโปร์กล่าวว่า ทางบริษัทกำลังมีเป้าหมายในการที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการนำยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมาใช้ ตลอดจนโครงการปลูกป่า 

โดยในรายงานดังกล่าวยังไม่ได้ระบุเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ แต่ระบุว่า ภายในปีหน้าจะประกาศเป้าหมายที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามหลักวิทยาศาสตร์และแผนงานของบริษัท

Anthony Tan ซีอีโอของ Grab และ Tan Hooi Ling ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ระบุไว้ในรายงานโดยอ้างถึงแผนการที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาปลายปีนี้ว่า “เรากำลังเพิ่มความมุ่งมั่นในด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับสูงตามรายงานความยั่งยืน”

แผนงานด้านความยั่งยืนของ Gojek 

ด้าน Gojek ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ GoTo กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีรายใหม่ ได้กลายเป็นหนึ่งใน Startup กลุ่มแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดเผยเป้าหมาย ESG อย่างชัดเจนในตอนที่ได้ประกาศแผนของบริษัทไปในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สิ่งสำคัญของแผนดังกล่าวคือ การให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยจะเปลี่ยนยานพาหนะทั้งหมดให้เป็นยานพาหนะไฟฟ้า 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวคิด “ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste)” เริ่มจากจัดการการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ทั่วทั้งระบบนิเวศ ซึ่งคำมั่นดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับบริษัท Tokopedia ด้วยเช่นกัน โดยทั้งสองบริษัทจะควบรวมกิจการเพื่อก่อตั้งบริษัท GoTo ในเดือนพฤษภาคม

Andre Soelistyo ซีอีโอของ GoTo กล่าวว่า “ภาคเอกชนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะในขณะที่ Gojek เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีคนนับล้านที่ต้องใช้งานแพลตฟอร์มของเราทุกวัน เราก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย”

จากรายงานของ Grab และ GoTo ซึ่งครอบคลุมด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เช่น การเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจขนาดเล็ก ประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของบริการขนส่ง และความหลากหลายของพนักงาน แสดงให้เห็นว่า บริษัท Startup ด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเปิดรับแนวคิด ESG ที่กำลังแพร่หลายและมีความสำคัญต่อสังคมมากขึ้น

ทำไมแนวคิด ESG  จึงสำคัญ โดยเฉพาะในสายตานักลงทุน ?

แนวคิด ESG ซึ่งมักจะใช้เป็นตัวชี้วัดในการวัดความเสี่ยงของบริษัท นอกเหนือจากด้านการบัญชีหรือการเงินนั้น มีมาตั้งแต่ปี 2000 และได้รับความสนใจมากขึ้นตลอดช่วงวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของธุรกิจในช่วงฟื้นตัวหลังโรคระบาดมากขึ้น 

ขณะนี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซึ่งเศรษฐกิจกำลังพัฒนา บริษัท Startup หลายรายก็ได้นำแนวคิดบางส่วนของ ESG มาใช้ในธุรกิจของตนเองบ้างแล้ว เช่น บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยรวมบริการทางการเงินเข้าไว้ด้วยกัน เป็นต้น

Susli Lie ผู้ร่วมลงทุนของบริษัท Monk's Hill Ventures ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “แนวคิด ESG ถูกนำมาใช้ในกระบวนการลงทุนของเรา และจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการพอร์ตโฟลิโอ เราได้เริ่มระบุความเสี่ยงและโอกาสของ ESG ในเชิงรุกระหว่างขั้นตอนการลงทุน และจะมีการดำเนินการอยู่เรื่อย ๆ ตลอดอายุการลงทุนด้วย”

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับ Startup รุ่นใหม่ที่ต้องการใช้แนวคิด ESG ในการดำเนินธุรกิจของตน คืออาจต้องใช้เงินลงทุนสูง ทว่า Justin Tang จากบริษัท United First Partners ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า บริษัทต่าง ๆ สามารถเริ่มใช้แนวคิด ESG กับธุรกิจของตนได้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ เขากล่าวว่า “แม้จะเป็นอุปสรรคในคราแรก แต่หลังจากนั้นไม่นาน การนำหลักการ ESG ไปปฏิบัติจะช่วยนำพาธุรกิจของเราไปสู่การเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน”



อ้างอิง: Asia.nikkei 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...