Grab Financial Group เจาะ 3 เทรนด์ FinTech ในชีวิตวิถีใหม่ | Techsauce

Grab Financial Group เจาะ 3 เทรนด์ FinTech ในชีวิตวิถีใหม่

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การใช้งานเทคโนโลยีทางการเงินเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่ม Underserved ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน Grab Financial Group กลุ่มธุรกิจด้านการเงินของ Grab ที่ตอบสนองทุกความต้องการในทุกวันของผู้บริโภค เชื่อว่าเทคโนโลยีด้านการเงินจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่สังคม โดยมี 3 เทรนด์ในชีวิตวิถีใหม่ที่น่าจับตา ได้แก่ การเติบโตของสังคมไร้เงินสด การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างทันท่วงที และการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการออกแบบผลิตภัณฑ์

1. ความใส่ใจสุขภาพเร่งการเติบโตของสังคมไร้เงินสด 

การเปิดให้บริการพร้อมเพย์ และการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การชำระเงินแบบไร้เงินสดเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยอดการทำธุรกรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมีการเติบโตสูงถึง 69%* เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทยกล่าวว่า “สถานการณ์โรคระบาดทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด โดยความกังวลด้านสุขภาพจากจะเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของ Cashless Society และการทำธุรกรรมบนมือถือจะมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นในพื้นที่ต่างจังหวัด หลังจากผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในวงกว้าง”

“บนแพลตฟอร์มของ Grab เราพบว่าระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน ธุรกรรมผ่าน GrabPay Wallet เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ส่งผลให้สัดส่วนธุรกรรมแบบไร้เงินสด (รวมทั้งวอลเล็ต บัตรเครดิตและบัตรเดบิต) เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50% ของธุรกรรมทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม Grab ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นหลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2562”

2. การปรับแผนทางธุรกิจเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างทันท่วงที

การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ทุกองค์กรต้องปรับแผนธุรกิจอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างทันท่วงที โดยโจทย์สำคัญก็คือ การให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างถูกตัวและตรงคน ด้วยรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ

นายวรฉัตร กล่าวว่า “เราพบว่ารายได้เฉลี่ยของพาร์ทเนอร์คนขับ Grab โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้บริการเดินทาง ได้รับผลกระทบทันทีจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้แก่พาร์ทเนอร์กลุ่มนี้ทันที พร้อมทั้งขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมเมื่อผลกระทบขยายวงกว้างขึ้น โดยรูปแบบของมาตรการช่วยเหลือ คือ การเว้นชำระค่างวด และการหยุดพักชำระหนี้ 1-3 เดือน หลังจากนั้น ในเดือนมิถุนายนที่เริ่มมีการคลายมาตรการล็อคดาวน์ เราเห็นปริมาณการใช้งานแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น และรายได้เฉลี่ยของคนขับบางส่วนกลับมาฟื้นตัว เราจึงทยอยปลดล็อคการพักชำระหนี้ ควบคู่กับการเตรียมแผนปรับโครงสร้างหนี้สำหรับกลุ่มที่ยังคงได้รับผลกระทบต่อไป”

3. ข้อมูลเชิงลึกช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องปรับแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรายวัน ข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนต์ โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ฉลาดและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพ

“ข้อมูลเชิงลึกบนแพลตฟอร์มของ Grab ทำให้เรามีความเข้าใจพาร์ทเนอร์เป็นอย่างดี รวมถึงเล็งเห็นถึงรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ในสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว เราจึงต้องปรับรูปแบบการผ่อนชำระให้พาร์ทเนอร์คนขับสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ เราพบว่าโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูล และรูปแบบการผ่อนชำระ ที่เราใช้กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อพาร์ทเนอร์คนขับอยู่ในปัจจุบันสามารถนำมาปรับใช้กับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารได้เช่นกัน” นายวรฉัตร กล่าว

“วิกฤตโควิด-19 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีและบริการทางการเงินที่เข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ในครึ่งปีหลัง แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าพัฒนาฟินเทคโซลูชันครบวงจร ทั้งด้านการชำระเงิน สินเชื่อ และประกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 100,000 ครัวเรือนต่อไป” นายวรฉัตร กล่าวสรุป

*ที่มา: Bi-monthly Payment Insight เดือนเมษายน 2563 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...