เจาะกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L ของ Grab กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นและมหภาค | Techsauce

เจาะกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L ของ Grab กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นและมหภาค

ภาคการท่องเที่ยว คือองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าผลักดันประเทศให้เป็น Tourism Hub และเป็น Destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวที่ 3.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 20% ของ GDP ประเทศไทย โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยการสนับสนุน และผลักดันการท่องเที่ยวไทยให้มีประสิทธิภาพ

แกร็บ ประเทศไทย ได้จัดเสวนาเชิงนโยบายประจำปี “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยผ่านกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L 

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า  Grab ดำเนินธุรกิจในไทยมามากกว่า 10 ปี ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยที่ถือเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล ผ่านบริการต่างๆ ของแกร็บ ไม่ว่าจะเป็นบริการเรียกรถ (GrabCar) ที่สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวตั้งแต่มาถึงสนามบิน การบริการที่ครอบคลุม 71 จังหวัดทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ไปจนถึงการชำระเงินที่ง่ายและสะดวกต่อนักท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ วรฉัตรยังได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย พบว่า ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยมีการใช้จ่ายผ่าน Grab มากกว่าคนไทย 2 เท่า เพราะมีความต้องการด้านบริการที่มากกว่า เช่น รถยนต์คันใหญ่ และในช่วง Low season การท่องเที่ยวของไทยนักท่องเที่ยวก็ยังใช้จ่ายผ่านบริการของแกร็บเพิ่มขึ้น 

จากแนวคิดที่ต้องการผลักดันการท่องเที่ยวไทย จึงนำมาสู่กลยุทธ์ T.R.A.V.E.L ประกอบด้วย

Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองมีจำนวนมากถึง 87% ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด และ 53% มีการวางแผนท่องเที่ยว และจองที่พักล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น แกร็บ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว อาทิ การพัฒนา App ให้มีหลายภาษา รองรับการชำระเงินผ่าน Alipay และ Kakao Pay

Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

เรื่องความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่ หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ แกร็บจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยผ่าน 3 ส่วนสำคัญ คือ ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ การคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ และการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย 

Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง

ปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวในเมืองรองเติบโตขึ้นถึง 38% สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสำคัญกับเมืองรองมากขึ้น แกร็บจึงสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปฯ ครอบคลุม 71 จังหวัดทั่วประเทศทั้งเมืองหลักและเมืองรอง นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ

ประสบการณ์แรกที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเมื่อมาเยือนไทยคือ การต้อนรับจากสนามบิน ผู้คนยิ้มแย้ม คือเสน่ห์ความเป็นไทยที่หาไม่ได้จากประเทศอื่นๆ แกร็บจึงได้พัฒนาหลักสูตรการเป็นคนขัดที่ดีผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาจีนและอังกฤษเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ มีผลสำรวจพบว่า กว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ดังนั้น แกร็บจึงนำเสนอวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ Grab EV เพื่อส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2026 จำนวนรถ EV ที่ให้บริการผ่าน Grab จะมี 10% นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น 

Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

ทุกวันนี้ Soft Power ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวเทศกาลประจำจังหวัด การลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน หรือการซื้อสินค้าจากชุมชน

แกร็บ ยังได้เผยอินไซต์ที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวอีกว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสั่งอาหารไทยผ่านแอปฯ เพิ่มขึ้น 130%, สั่งสินค้าจากร้านค้าชุมชนเพิ่มขึ้น 100% และนักท่องเที่ยวเรียกรถไปสนามมวยเพิ่มขึ้น 150% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

มุมมองจากบุคคลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในงานเดียวกันยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของบุคคลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในมิติต่างๆ 

นิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองว่า เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยต้องทำให้เป็น High-Value Destination และ Sustainable เป็น 2 แกนสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน เพื่อส่งมอบคุณค่าและประสบการณ์ที่ดี รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อดูแลนักท่องเที่ยว อาจทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 35 ล้านคน 

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ เผยว่า การท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยหากย้อนไปในช่วงก่อนเกิดโควิดประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่อปีประมาณ 40 ล้านคน ปัญหาที่ตามมาคือทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอหรือถูกทำลาย ทว่า ในปีนี้ความท้าทายไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวยั่งยืน และผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวกระจายไปสู่เมืองรอง ไม่กระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ นักท่องเที่ยวจีนที่ไม่กลับมาเท่าเดิม ดังนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องขยายฐานนักท่องเที่ยว ซึ่งไทยก็มีจุดเด่นในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม วัฒนธรรมน่าสนใจ มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

และ เพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาด ด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการบินเป็นวิธีการเดินทางที่สำคัญมากของการท่องเที่ยว ตอนนี้ภาพรวมการบินในประเทศฟื้นตัวแล้วกว่า 70 ถึง 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบมากขึ้นไปอีก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้การท่องเที่ยวของไทย 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ฟังวิสัยทัศน์ Microsoft ภายใต้กรอบ FY2025 เพราะ AI คือ โอกาสของไทย ที่ทั่วโลกกำลังเริ่มต้นพร้อมกัน

“AI ก็คือเทคโนโลยีที่คล้ายกับไฟฟ้า เทคโนโลยีที่สร้างโอกาสในวงกว้าง” Microsoft ประกาศนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและ...

Responsive image

Meta เผยโฉมเครื่องมือการตลาด AI พร้อมดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย จับมือ ททท. - กระทรวงพาณิชย์

Meta จัดงาน Meta Marketing Summit 2024 พร้อมเผยโฉมโซลูชัน AI ล่าสุดสำหรับการตลาด และประกาศความร่วมมือสำคัญกับภาครัฐ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจซอฟต์พาวเวอร์ของไทย...

Responsive image

จับตากฏหมาย AI ใหม่ โปร่งใสหรือจำกัดการเติบโต ? สร้างปมเห็นต่าง OpenAI และ Elon Musk

กฏหมาย AI ยังต้องไปต่อ ! เมื่อ OpenAI สนับสนุนร่างกฎหมายของของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ลดข้อมูลที่ผิดพลาดและข้อมูลเท็จที่สร้างความเกลียดชัง...