หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจับมือ Grab ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงจัดตั้ง "เครือข่ายการเดินทางในเมืองเชียงใหม่" (Chiang Mai Smart Mobility Alliance Network) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเมืองด้านขนส่งระบบมวลชนผ่านเครือข่ายดังกล่าว ตั้งเป้าลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงร้อยละ 35 ภายใน 5 ปี รวมทั้งยังมุ่งลดมลพิษ และแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดเชียงใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับเผยโฉมบริการแรกคือ แกร๊บตุ๊กตุ๊ก รถสามล้อที่คนไทยคุ้นเคยแต่มาพร้อมเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
แกร็บตุ๊กตุ๊ก เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของแกร็บในการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนระบบ ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและมลพิษในเมืองอย่างเป็นรูปธรรม โดยแกร็บพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณมลพิษที่ลดลงหลังจากการใช้แกร็บตุ๊กตุ๊ก และให้การสนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นในการส่งเสริมให้ผู้เดินทางลดการใช้รถส่วนตัว และเพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกภูมิภาคของประเทศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกลุ่มวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รถตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 1 คัน สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4.18 ตันต่อปี นอกจากนี้ แกร๊บตุ๊กตุ๊กยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ขับมากกว่า จากเดิมที่ต้องเติมก๊าซแอลพีจีเฉลี่ยวันละ200 บาท คิดเป็นต้นทุนเชื้อเพลิง 6,000 บาทต่อเดือน เมื่อเปลี่ยนมาใช้รถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า จะมีค่าไฟจากการชาร์จสูงสุดเพียง 1,400 บาทต่อเดือน
คุณวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในฐานะเมืองอัจฉริยะต้นแบบของประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการเมืองในด้านต่าง ๆ ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในปีที่ผ่านมา เราได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในย่านนิมมานเหมินท์เพื่อเตรียมรับการนำร่องเมืองอัจฉริยะภายใต้โครงการ ‘Smart Nimman’ ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบการเดินทางและสัญจรเป็นอันดับแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมประสิทธิภาพของระบบการขนส่งสาธารณะ ลดมลพิษจากยานพาหนะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัดเชียงใหม่ และพัฒนาระบบขนส่งอัฉจริยะ (Smart Mobility) ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการบูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างรอบด้านจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เป็นเมืองอัฉจริยะได้อย่างเต็มรูปแบบ”
คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “แกร็บมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตของระบบการเดินทางอัจฉริยะ เพื่อมอบทางเลือกในการเดินทางที่ไร้มลพิษ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นให้แก่คนไทย ด้วยความร่วมมือของพันธมิตรเครือข่ายการเดินทางในเมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai Smart Mobility Alliance Network) เรามีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างอนาคตแห่งการเดินทางที่ไร้มลพิษและลดปัญหาการจราจรในเชียงใหม่ โดยวันนี้ แกร็บได้เปิดตัว แกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ผ่านแอพพลิเคชั่นแกร็บเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ผ่านช่องทางการติดต่อกับผู้โดยสารที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งเรามีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ทุกคนในประเทศไทย”
ผศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และ ผู้บริหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “เชียงใหม่เป็นหนึ่งใน 3 เมืองต้นแบบร่วมกับภูเก็ตและขอนแก่นที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างรอบด้านสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งความร่วมมือจากพันธมิตรในการจัดตั้งเครือข่ายการเดินทางในเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ จะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญในการริเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการคมนาคมขนส่งให้ไปสู่ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 แกนหลักของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ การผนวกความร่วมมือและนวัตกรรมจากทั้งภาครัฐและเอกชนยังเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเครือข่ายการเดินทางที่เข้าถึงได้ง่ายและไร้รอยต่อผ่านช่องทางดิจิทัล และที่สำคัญคือ ความมุ่งมั่นในการร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษในเชียงใหม่ผ่านการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเรามีแผนในการปรับเปลี่ยนโครงข่ายการเดินทางระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงทั้งบริเวณรอบนอกและในตัวเมืองเชียงใหม่พร้อมเปิดให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อบูรณาการเข้ากับบริการแกร็บตุ๊กตุ๊ก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในโครงข่ายการเดินทางจะสามารถมอบบริการการเดินทางสาธารณะที่ปลอดมลพิษ ครอบคลุม และหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้ผู้เดินทางลดการใช้รถส่วนตัวเพื่อลดมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
Grab มีเป้าหมายจะเปลี่ยนจากรถสามล้อเติมก๊าซ LPG เป็นสามล้อไฟฟ้าให้ได้ 450 คันภายในปีนี้ ส่วนการใช้งาน ขณะนี้ ผู้ใช้งานในจังหวัดเชียงใหม่สามารถใช้บริการแกร๊บตุ๊กตุ๊ก สามล้อขับด้วยไฟฟ้าได้ทางแอพพลิเคชั่น Grab
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด