ร้อนไม่ไหวแล้ว อากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับศึกหนัก อุณหภูมิทะลุ 40 องศาในหลายในภูมิภาค จากปรากฎการณ์เอลนีโญและภาวะโลกร้อน ทำคนและสิ่งแวดล้อมวิกฤต
กรมอุตุนิยมวิทยาโลกได้ประกาศเตือนอุณหภูมิที่ร้อนผิดปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หลายประเทศในภูมิภาคต้องเผชิญอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส ที่มากกว่าค่าเฉลี่ยในฤดูกาล
โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ รวมถึงเหตุการณ์เอลนีโญที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อนและแห้งยิ่งขึ้น
Maximiliano Herrera นักอุตุนิยมวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ ระบุว่า “คลื่นความร้อนแห่งประวัติศาสตร์” กำลังเกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการรายงานอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ในภูมิภาค
ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิ 44 องศาเซลเซียส ที่เมืองมินบู ทางตอนกลางของเมียนมาร์ อุณหภูมิแตะ 40.2 องศาเซลเซียสที่ หาดใหญ่ ทางภาคใต้ของประเทศไทย และ เมืองวาด (Yên Châu) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม วัดอุณหภูมิสูงถึง 40.6 องศาเซลเซียส ซึ่งล้วนเป็นอุณหภูมิที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงต้นเดือนเมษายนในทุกๆ ปี
“ระดับความร้อนที่โลกเผชิญในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งบนบกและในทะเลเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างมาก ทุกคนรับรู้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด พร้อมกับก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงสองปีนี้อุณหภูมิสูงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และกลายเป็นสถิติใหม่สูงสุด” ศาสตราจารย์ Benjamin Horton ผู้อำนวยการองค์กร Earth Observatory of Singapore กล่าว
อินโดนีเซียเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งยาวนาน ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นกว่า 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประธานาธิบดี Joko Widodo ต้องเกณฑ์ทหารร่วมช่วยเหลือชาวนาปลูกข้าว และทำให้ประชาชนต้องต่อคิวซื้อข้าวที่รัฐบาลอุดหนุนเป็นเวลานาน
ในประเทศเวียดนาม ระดับน้ำในคลองต่ำลงเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งพืชผล ด้านประเทศไทยผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ลดลง และคาดว่าจะเพิ่มหนี้สินของเกษตรกรถึง 8%
ภัยความร้อนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ปรากฏการณ์เอลนีโญและภาวะโลกร้อนเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำลายปะการังและปลาในอ่าวไทย อุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อฟาร์มเลี้ยงปลาและอาจนำไปสู่การฟอกขาวของปะการังได้
นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคลมแดดหรือ Heatstroke ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งในภาคการเกษตรหรือก่อสร้างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะนี้ เป็นชายวัย 22 ปี จากประเทศมาเลเซีย
รัฐบาลต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดิ้นรนเพื่อปรับตัวกับคลื่นความร้อนที่กำลังดำเนินอยู่ ในประเทศฟิลิปปินส์ โรงเรียนเกือบ 4,000 ได้ระงับการเรียนการสอนในห้องเรียน เนื่องจากดัชนีความร้อนทะลุ 42 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นระดับอันตรายที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเตือนอาจทำให้เกิดตะคริวและเหนื่อยล้าได้
การขาดการระบายอากาศที่เหมาะสมในห้องเรียนทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น มีรายงานว่าถึงอาการวิงเวียนศีรษะและปวดศีรษะ รวมถึงระบุว่านักเรียนไม่มีสมาธิ และในการสำรวจล่าสุด ครูกว่า 90% กล่าวว่าพวกเขามีแค่พัดลมเพียงสองตัวในห้องที่จะทำให้เย็นสบายและระบายอากาศ
Alliance of Concerned Teachers สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนตารางเรียนของโรงเรียนให้นักเรียนได้สามารถเรียนจากที่บ้านได้เหมือนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุด รวมถึงเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทนต่อสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาชั่วคราว Horton เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์การปรับตัวในระยะยาว เช่น การส่งเสริมเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย และการปรับตารางเวลาการทำงานและการเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงสุด การให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการรับมือก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่องไปอย่างน้อย 50 ปีถึงแม้จะมีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันก็ตาม
อ้างอิง: theguardian
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด