ฟังหลากมุมมองจากบริษัทหลักทรัพย์-Blogger-Startup ในวันที่กฎหมาย ICO ยังไม่ชัดเจน | Techsauce

ฟังหลากมุมมองจากบริษัทหลักทรัพย์-Blogger-Startup ในวันที่กฎหมาย ICO ยังไม่ชัดเจน

ถือเป็นอีกเวทีที่มีการแสดงความเห็นเรื่อง ICO ได้อย่างร้อนแรงและน่าสนใจ กับงานเสวนาในหัวข้อ “วิธีเลือก ICO น้ำดี ในวันที่บริบทกฎหมายไทยยังไม่ชัดเจนกับ Cryptocurrency” ที่มีหลากมุมมองจากบริษัทหลักทรัพย์, Blogger และ Startup ซึ่ง 'หนูเนย' เจ้าของเว็บไซต์ Nuuneoi.com ระบุภาครัฐบอกจะกำกับดูแลหรือแบนเรื่อง ICO ยังดีกว่าไม่มีความชัดเจนใด ๆ เลย ส่วน 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' จากบริษัทหลักทรัพย์ CSLA ชี้ หัวใจของการพัฒนา คือ กฎหมายที่สดใหม่ และ Ecosystem ที่ดี เตือนเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) กับ ICO มีสิทธิ์ทำให้เงินลงทุนไหลออกต่างประเทศแน่นอน

ZMINE ผู้ประกอบธุรกิจขุดเหรียญ เปิดตัว ZMN Token พร้อมจัดงานเสวนาในหัวข้อ “วิธีเลือก ICO (Initial Coin Offering) น้ำดี ในวันที่บริบทกฎหมายไทยยังไม่ชัดเจนกับ Cryptocurrency” โดยในส่วนของงานเสวนาดังกล่าวมีผู้ที่เข้าร่วม ประกอบด้วย (จากขวาไปซ้ายของภาพด้านบน)

  • คุณพิพัฒน์ รุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SKYNET Systems จำกัด
  • คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ CSLA (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • คุณวิทวัส บุญญภิญโญ Chief Engineer บริษัท ZMINE Holdings Limited
  • คุณสิทธิพล พรรณวิไล บล็อกเกอร์ชื่อดัง เจ้าของเว็บไซต์ Nuuneoi.com

‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ ชี้กฎหมาย-ใบอนุญาตที่มากเกิน ทำประเทศล้าหลัง

คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ CSLA (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองภาพใหญ่ตอนนี้ถือว่าคลุมเครือสำหรับตลาด Cryptocurrency โดยตอบด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า “ยังเป็นสัญญาณที่ผสมผสานอยู่” โดยมองว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจดีที่อยากจะพูดเรื่อง Thailand 4.0 แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ข้าราชการทุกคนยอมรับว่าเป็น 0.4 หรือ -4.0 มากกว่า ในแง่ของวิธีการทำงาน รายละเอียดในการทำงาน มันต่างกับแนวคิดโดยสิ้นเชิง

ซึ่งประเทศไทยนั้นจุดที่จะทำให้ Cryptocurrency เกิดหรือไม่เกิด มันไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี บ้านเรามีคนเก่งและคนรู้เรื่องเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก แต่ประเทศไทยติดอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 เราทำ Commercialize ไม่เป็น เอานวัตกรรมมาทำให้เกิดเป็นสินค้า (Product) ไม่ได้ และเรื่องที่ 2 ติดเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ

(จากขวาไปซ้าย) คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ CSLA (ประเทศไทย) จำกัด และอนุกรรมการกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคุณวิทวัส บุญญภิญโญ Chief Engineer บริษัท ZMINE Holdings Limited

คุณปริญญ์มองว่าประเทศไหนที่มีกฎหมายจำนวนมาก หรือต้องไปขอใบอนุญาตหลายใบ และมีการขอใบอนุญาตยุ่งยาก ประเทศนั้นจะล้าหลัง ทั้งในแง่นวัตกรรม ในแง่ขีดความสามารถของการแข่งขัน (Competitiveness) ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ 30 ปีก่อนเขาล้าหลังกว่าเรา แต่ตอนนี้เขามีบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลก ไม่ใช่เพราะเขาเก่งกว่าเราด้านเทคโนโลยี แต่ด้านจะเก่งกว่าด้านการตลาด แต่เป็นเพราะเขามีกระบวนการที่เรียกว่า Regulatory Guillotine คือ เมื่อออกกฎหมายใหม่ 1 อัน ต้องตัดกฎหมายเก่า 2-3 อัน ทำให้มีกฎหมายที่สดใหม่ ซึ่งช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ ซึ่งบ้านเรามีกฎหมายเพื่อตีกรอบบางอย่างจนเกินไป

กฎหมายบ้านเรามันไม่เอื้อให้เกิด 4.0 เราพูดยุทธศาสตร์ชาติ เรามีเป้าที่อยากจะไป แต่การกระทำในทุกสเต็ป มันไม่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะทำให้เกิดการ Disrupt

คูณปริญญ์กล่าวต่อว่า คำถามที่เราต้องช่วยถามกลับไปว่า ภาครัฐพร้อมหรือยังที่จะ Promote ช่วยคนตัวเล็ก ๆ รัฐบาลพูดเสมอว่าอยากจะช่วยคนตัวเล็ก ๆ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ช่วย Startup แต่ทำทุกอย่างมันค่อนข้างจะไม่ใช่การกระทำที่โชว์ให้เห็นถึงความจริงใจจะพัฒนาหรือช่วยให้ Startup เกิด

‘หนูเนย’ ชี้ภาครัฐกำกับดูแลหรือแบนเรื่อง ICO ดีกว่าไม่มีความชัดเจน

คุณสิทธิพล พรรณวิไล บล็อกเกอร์ชื่อดัง เจ้าของเว็บไซต์ Nuuneoi.com

ส่วนคุณสิทธิพล พรรณวิไล (หนูเนย) บล็อกเกอร์ชื่อดัง เจ้าของเว็บไซต์ Nuuneoi.com กล่าวว่า ในรัฐบาลในต่างประเทศกำลังทำการศึกษาเรื่อง ICO อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหลายประเทศใช้เวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมาเพื่อพูดคุยกัน เช่น SEC ในสหรัฐ หรือ CTFC ใน เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเริ่มได้ข้อสรุปแล้ว โดยระบุว่า

ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งที่ทำลายตลาดได้ดีที่สุดคือความไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจคือตอนนี้มันชัดเจน คำว่าชัดเจนมีทั้ง 2 แบบ บางประเทศบอกโอเคลุยเลย บางประเทศบอกว่าแบน ฟังว่าแบนอาจจะดูไม่ดี แต่จริง ๆ ส่วนตัวมองว่าดีกว่าไม่ชัดเจน

โดยมองว่าในประเทศที่ชัดเจนว่าโอเคกับเรื่อง Cryptocurrency ก็จะเริ่มมีการกำกับดูแล (Regulate) ในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แย่หากจะถูกกำกับดูแล เพราะต้องเข้าใจว่าเป็นตลาด Cryptocurrency เป็นตลาดใหม่ พอเริ่มศึกษาก็จะพบว่าหลายฝ่ายมีปัญหาต่าง ๆ จึงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเริ่มเข้ามาช่วยดูแลในประเด็นต่าง ๆ  ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี

ส่วนอีกสัญญาณที่ดีอีกอันหนึ่ง คือมีการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนมืออาชีพระดับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือแม้แต่สถาบันทางการเงินหลายแห่งที่เดิมมักจะบอกว่าตลาด Cryptocurrency เป็นตลาดที่หลอกลวง ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ซึ่งในเวลานี้ก็มีการกลับคำพูดไปแล้ว คิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในต่างประเทศเป็นสัญญาณที่ดีมาก และอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญภายในปีนี้แน่นอน

ICO ไทย-ต่างประเทศ ไปถึงไหนแล้ว? อนาคตจะเป็นอย่างไร?

ระบบภาษีบ้านเรา บรรยากาศในบ้านเรา รวมถึงกฎหมายในบ้านเรามีมากเกินไป ความเหลื่อมล้ำ-ความเป็นธรรมยังน่าเป็นห่วงอยู่มาก - คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์

ในงานเสวนามีการเล่าถึงการกำกับดูแลเรื่อง ICO ในต่างประเทศ ซึ่งมีการกำกับดูแลหลายแบบ เช่น จีน เขาปิดเลย เขาไม่ได้แบน แต่เขามีเหรียญของเขาเอง ในชื่อ NeoCoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของจีนเอง มีการควบคุม มีระบบ KYC (Know Your Customer) ทำให้ตรวจสอบได้ว่ารู้ว่าใครเป็นผู้ถือ Token อยู่, อย่างอินเดีย-สิงคโปร์ จะลุยให้ทำเต็มที่ เขาโปรโมท Startup โดยเปิด Environment ที่กว้าง เปิดให้แข่งขันได้อย่างเต็มที่ หรืออย่างสวิสเซอร์แลนด์ โปรโมทอย่างเต็มที่มาก ส่วนอเมริกาใช่ช่วงแรกก็มีการเปิดเต็มที่

ส่วนอิสราเอล เป็นชาติแห่ง Startup เพราะประเทศเขาเล็ก และประเทศยังก่อตั้งมาไม่นานเพียง 70 ปีที่แล้ว ซึ่งนักธุรกิจเหล่านี้มีความเป็นระเบียบ ทำทุกอย่างตามแผน ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งกฎหมายก็เปิดกว้างอย่างมาก และได้เงินลงทุนจากสหรัฐฯ มาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงในเอสโตเนียเปิดรับประเทศอย่างชัดเจน ใครจะมาลงก็เปิดรับ

คุณปริญญ์ : ส่วนหนึ่งเห็นใจรัฐบาลหรือกรมสรรพากรที่จะติดในบางเรื่องหรือบางประเด็นเรื่องอะไรบ้าง แต่ในภาพใหญ่ ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้อยากทำเพื่อสนับสนุนในแง่ FinTech และ Cryptocurrency มากพอ แต่หน่วยงานอย่าง กลต. กลับมีความพยายามสนับสนุน และผลักดันเรื่องกฎหมายทรัพย์สินดิจิทัลให้เกิดขึ้น

คุณปริญญ์ : ซึ่งตอนนี้กฎหมายดังกล่าวกำลังรอลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้อยู่ ซึ่งการออกมาจะจัดการเรื่อง Cryptocurrency และ ICO แบบครบวงจร จะทำให้ตลาดซื้อขาย Cryptocurrency ทำให้ตลาดซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลอย่าง BX หรือ TDAX ถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงการออก ICO หรือ Token ที่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะสามารถทำได้ในอนาคต ส่วนเรื่องภาษีต้องไปรอดูท่าทีจากทางกรมสรรพากร หรือกระทรวงการคลังต่อไป

คุณสิทธิพล : เป็นความสนุกของตลาดนี้ เขาพนันว่าถ้า Cryptocurrency จะกลายเป็นสกุลเงินที่ใช้จ่ายได้จริงหรือไม่? ส่วนตัวเชื่อว่าวันนั้นจะมาถึง ผมคาดการณ์ว่า Cryptocurrency จะกลายเป็นสกุลเงินที่ใช้ทั่วไปได้ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างต่ำ

คุณปริญญ์ :  แต่ภาครัฐยังไม่พร้อมมากนักที่จะเดินไปถึงขั้นนั้น โดยพูดดักว่า Cryptocurrency ยังเป็น Virtual Assets หรือสินทรัพย์เสมือนจริงอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งก็เป็นคำถามที่โยนกลับไปที่ ธปท. แล้วว่าจะเปิดให้ใช้ได้เมื่อไหร่ แต่ล่าสุด ธปท. ก็มีความพยายามใช้ Cryptocurrency หรือ Blockchain ภายในระบบปิดก่อน แต่หากจะเปิดใช้จริงคงยังอีกยาวไกล

เตือนเก็บ Corporate Tax กับ ICO เงินไหลออกต่างประเทศแน่

คุณปริญญ์ พูดถึงกฎหมายการระดมทุน ICO ที่กำลังจะออกมา จะมีการเก็บภาษีสองทาง ทางแรกเก็บ Corporate Tax (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นการระดมทุนที่แพงที่สุดในโลก


Corporate Tax คืออะไร?

Corporate Tax หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Corporate Income Tax (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) คือ เป็นเงินที่เกิดจากการหักรายได้ของกิจการมาเป็นส่วนของภาษี แล้วส่งให้กับกรมสรรพากรตามรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งเงินดังกล่าวจะหักจากรายได้ของกิจการมาเป็นส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วส่งให้กับกรมสรรพากรในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีจะกำหนดไว้ที่ระยะเวลา 12 เดือนต่อ 1 รอบบัญชี

ดังนั้นเมื่อรายได้เกิดขึ้น จะต้องลงบันทึกบัญชีโดยหักเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ด้วยตามหลัก และเมื่อถึงเวลาครบรอบกำหนดบัญชี กิจการต่าง ๆ จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับกรมสรรพากร เพื่อให้รัฐบาลได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาบริหารประเทศต่อไป


โดยรัฐบาลมักจะกล่าวอยู่เสมอว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะช่วย SME และ Startup และทำทุกอย่างทำให้เป็นรูปธรรมและถูกต้อง แล้ว ICO มีขึ้นเพื่อช่วย Startup แล้วคุณจะทำอย่างนี้เพื่อช่วย Startup จริงหรือเปล่า

โดยเสนอให้ยกเว้นภาษีสำหรับตลาดระดมทุนผ่าน ICO โดยแนะนำให้รัฐควรจะทำงานกับฝ่ายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องก่อน โดยตัวกฎหมายกำกับดูแลที่ออกมา คาดว่าจะทำให้ Ecosystem ของ Startup ในเรื่องการระดมทุน ICO จะดีขึ้นอนาคต เพราะเราก็มี KYC เพื่อตรวจสอบยืนยันผู้ถือ ICO ได้แล้ว

แต่ส่วนกลัวถูกจะทำแท้งก่อนคลอด การเก็บ Corporate Tax จะทำให้ ICO ดีๆ ไปอยู่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือ สวิสเซอร์แลนด์ หมด

กระทบตลาดหลักทรัพย์ แต่ถึงเป็นผู้บริหาร ก็อยากให้มีตลาดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency Exchange) ที่ถูกกฎหมาย และต้องการให้มีการยกเว้นภาษีของตลาดสกุลเงินดิจิทัล เหมือนกับที่ตลาดหลักทรัพย์มีการยกเว้นเรื่องของภาษีได้ ซึ่งก็มีการศึกษาอยู่ แต่กำลังจะไปในทางเก็บภาษี และศึกษาโมเดลจากต่างประเทศประกอบไปด้วย

ICO กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณสิทธิพล : ตอนนี้ยังไม่มีองค์กรกลางที่คุม ICO ตอนนี้ทั่วโลกมีประมาณ 3,000 รายที่นับได้ หรือจริง ๆ อาจจะมากกว่านั้น แต่ระดมทุนได้สำเร็จไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่มีทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีการเปิดระดมทุน ICO มีอยู่ประมาณ 10 ราย ซึ่งคาดการณ์ว่าปลายปีอาจเห็นทั้ง Startup และบริษัทต่าง ๆ เปิดระดมทุนผ่าน ICO ถึง 50-100 ราย

โดยคุณสิทธิพลระบุว่ามันคือ Reversed ICO เป็นการที่กลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจอยู่แล้ว แต่เขาอยากจะแปลงตัวธุรกิจเขาให้เป็น Token มีเยอะมาก ในเมืองไทยเท่าที่รู้มีนับ 10 ราย

คุณปริญญ์ : ส่วนใหญ่บริษัทที่ระดมทุนผ่านทาง ICO มักจะเป็น Startup เพราะ Startup จะเข้าแหล่งเงินทุนได้ยาก สถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่จะเห็นความลำบากในการลงทุนผ่านช่องทางปกติ รวมไปถึง Mindset ของคนไทย ไม่เอื้อให้ Startup และ Venture Capital (VC) เกิด ล่าสุด VC ที่รัฐไปของเงิน 100 ล้าน แต่ 9 เดือนผ่านถูกไปใช้แค่ 10-20 ล้าน สาเหตุสำคัญมาจาก Startup ต้องโชว์บัญชีย้อนหลัง 10-12 เดือน ขอดูเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งสิทธิบัตร หรือเอกสารทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายอีกด้วย

คุณสิทธิพล : ก่อนหน้านี้ Startup ระดมทุนค่อนข้างยังยาก เนื่องจากต้องหา VC, แบ่ง Equity กัน, กฎหมายเยอะ แต่พอทำ ICO ขายให้ใครก็ได้ ซึ่งข้อดีคือนักลงทุนรายย่อยจะร่วมเข้าลงทุนได้ แต่ก็มีข้อเสียนั่นคือมีความเสี่ยงสูงและยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เกิด Scam คิดเป็นประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ใน ICO ทั้งหมด

คุณปริญญ์ : การลงทุนใน ICO หรือ Startup ซึ่งมีการล้มอยู่บ่อยครั้ง คนไทยต้องปรับ Mindset อย่างหนึ่งที่ว่า คนที่พลาด ล้มแล้วลุก เราต้องไม่ทำโทษ ดูถูก เหยียดหยาม ตำหนิ เพราะคนไทยมองลบแล้ว เหมือนสอบ เข้าห้องคิงไม่ได้ สอบตก แย่ ซึ่งจริง ๆ แล้วนักธุรกิจเก่ง ๆ ระดับโลกสอบตกหรือเฟลมาแล้วไม่รู้กี่รอบ ล้มแล้วล้มแล้วอีก ICO บางตัวอาจจะเจ๊งมา 2-3 รอบ หลังจากนั้นกลายเป็นพุ่งขึ้นไปร้อยเท่า ซึ่งคุณปริญญ์มองว่า ICO มีทั้งเสน่ห์และความท้าทาย

ส่วน คุณพิพัฒน์ รุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SKYNET Systems จำกัด กล่าวว่าในฐานะที่เป็น Startup ที่ทำ Social Trading Platform เป็นรายแรกของไทย มีผู้ใช้งานจริงแล้ว มีทุนจดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ 3,500,000 บาท ขนาดเข้าไปคุยกับ VC และกองทุนเกือบทุกที่แล้ว กลับพบความยุ่งยากในการขอทุน เพราะมีขอทั้ง Statement และ Profile เป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ยุ่งยาก เพราะกฎเกณฑ์เยอะ รวมไปถึงการระดมทุน IPO ก็ใช้เวลานานกว่าจะทำได้ เมื่อเทียบกับการทำ ICO ที่ได้เงินลงทุนมาอย่างรวดเร็วกว่า เข้าถึงคนทั่วไป มากกว่า VC สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทอีกด้วย

คุณพิพัฒน์ เขามองเห็นว่าควรเลือกลงทุนใน ICO ที่บริษัทมี Product ที่มี User (ถ้าไม่มีเสี่ยงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามีอยู่แล้วมันสร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง) มี Potential และมี Community ที่ชัดเจน

ด้าน คุณวิทวัส บุญญภิญโญ Chief Engineer บริษัท ZMINE Holdings Limited กล่าวว่า ส่วนตัวได้ยินเรื่องของ Cryptocurrency ได้ยินตั้งแต่ปี 2013 ตอนแรกยังคิดว่าเป็นเรื่องขำ ๆ พอเข้าปี 2016-2017 ภาพรวมตลาดเริ่มชัดเจนขึ้น ทิศทางมีแนวโน้มพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเป็นเหมือนกราฟ Exponential

ซึ่ง Startup ยุคนี้ถึงว่าเข้าถึงเงินลงทุนได้ง่ายมากขึ้น ด้วยการระดมทุนแบบ ICO ยอมรับว่าในอดีตสมัยต้องทำ Startup โดยยอมรับว่าสมัยทำ startup ยุคแรกต้องหาเงินทุนมา สักพักต้องคุยกับธนาคารเพื่อขอเงินลงทุน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องใช้เวลาในการติดต่อนาน

โดยมองว่าข้อดีของ ICO คือการมีคนพร้อมลงโทษเราเสมอ เช่น หากวางระบบไม่ดี หรือทำระบบผิดพลาด ก็จะถูก Hacker เข้ามาเจาะระบบได้ ซึ่งการทำ ICO เราต้องทำให้ระบบมีความรัดกุมเป็นอย่างยิ่ง

 

ต้องเลือก ICO ที่จะลงทุนอย่างไรในเวลานี้

คุณสิทธิพลกล่าวว่าจริง ๆ ICO ทั้งตลาดเสี่ยงมาก บริษัทที่เปิดระดมทุนแบบ IPO เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่รายงานในตลาดหลักทรัพย์ได้ทั้งหมด แต่ ICO ข้อมูลทุกอย่างมันอยู่ใน Whitepaper เล่มเดียว เราไม่รู้เลยว่า Product จะเป็นอย่างไรในอนาคต

จึงแนะนำว่าให้ทำความเข้าใจตลาดก่อนเลย ต้องดูทุกอย่างให้ดี คุณเนยบอกว่าการระดมทุน ICO คล้ายกับการระดมทุนใน Kickstarter ซึ่งจะมีคนขาย ICO เราได้เหรียญ แล้วคนจะซื้อ Token เราได้ยังไง เราต้องมองต่อให้ได้ว่าอย่างเป็นไร เช่น ผู้ใช้ Token ต้องซื้อเพื่อนำไปใช้ในระบบที่กำลังพัฒนาขึ้นเพื่อใช้จริงในอนาคต อย่างน้อยต้องมีสิ่งที่ให้เห็นว่ามี Product

ซึ่งคุณสิทธิพลยอมรับว่าเจ็บมากับ ICO หลายตัว และแนะนำว่าสำคัญที่สุดคือการลงทุนแต่พอดี ไม่ใช่ลงไปทั้งหมดด้วยความโลภ

ส่วนคุณปริญญ์ระบุว่า Cryptocurrency แบ่งออกเป็นหลายประเภท ประกอบด้วย

  • Protocol Coin เป็นเหรียญสำหรับใช้ในการทำ Transaction เช่น Bitcoin หรือ Ethereum
  • Utility Coin ใช้เป็นประโยชน์ได้จริง เช่น บ้านใดมี Solar Roof ถ้ามีส่วนเหลือก็แบ่งหรือขายต่อให้แบบบ้านต่อบ้าน คุณสามารถซื้อ ICO เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานจากบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่งได้
  • Equity Coin เป็นเหรียญที่มีลักษณะคล้ายการถือหุ้นของบริษัท

ปริญญ์ แนะนำการดู ICO เพื่อลดความเสี่ยงในการเจอ Scam เช่น Team มีใครบ้าง, Partner มีใครบ้าง, Theme ของ ICO เข้ากับเทรนด์ช่วงนี้ใช่ไหม, ดูประสบการณ์การทำงานมีใช่ไหม, มีความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่, มี Roadmap ชัดเจนหรือไม่, มีการอัพเดทข้อมูลเสมอ ๆ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่น หรือ Trust จนเกิดเป็น Community ขึ้นมาบ้างหรือไม่, Blockchain ทำให้ธุรกิจดีขึ้นหรือแตกต่างจากธุรกิจอื่นจริงหรือไม่ เป็นต้น

รวมถึงต้องดูด้วยว่า Token ที่คุณได้จากการลงทุนใน ICO จะขับเคลื่อน Token Network ได้อย่างไร และทำให้ Developer เกิดมากขึ้นหรือไม่ ? (โดยแนะนำให้ดูจาก Ethereum เป็นตัวอย่าง)

คุณสิทธิพลกล่าวปิดท้ายว่า ถ้าเจอ ICO น้ำดี หรือมองหา Hero Model พบ ให้ตีแผ่เยอะ ๆ เพราะตลาดต้องการรู้เรื่องราวแบบนี้ และจะเรื่องเหล่านี้แพร่ระจายไปยังคนรุ่นถัด ๆ ไปได้รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป

หมายเหตุ : การลงข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ICO และ Cryptocurrency เป็นไปเพื่ออัพเดทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การชี้ชวนให้ลงทุนแต่ประการใด การลงทุนในช่องทางดังกล่าวเป็นวิจารณญาณและการตัดสินใจของผู้อ่านข่าวเอง “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

UK AI Week 2025 in Bangkok ปฏิวัติทางเทคโนโลยี สู่โอกาสแห่งอนาคต

งาน UK AI Week 2025 in Bangkok งานที่สำคัญในครั้งนี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งการแบ่งปันความรู้และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวบรวมผู้นำทางความคิดจากทั้งสองประเทศ ทั้งนักวิจัย นักนวัตกร...

Responsive image

Apple เตรียมเปิดตัว iPhone Air บางเฉียบกว่าที่เคย พร้อมเทคโนโลยีแห่งอนาคต คาดเปิดตัวปลายปีนี้

ลือ iPhone Air มาแน่! iPhone เตรียมเปิดตัว iPhone รุ่นบางเฉียบในชื่อ iPhone 17 Air ที่จะเป็นการวางรากฐานและการทดสอบเทคโนโลยีสำคัญที่จะนำไปสู่อนาคตของ Apple...

Responsive image

Gartner คาดการณ์ความท้าทายองค์กรยุค AI พนักงานอาจเจอปัญหาเสพติดดิจิทัล โครงสร้างองค์กรอาจเปลี่ยนไป

Gartner บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เผยการคาดการณ์กลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2025 โดยชี้ให้เห็นว่า Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อการทำงา...