เผยเบื้องลึกการจับกุม CFO ของ Huawei ในแคนาดา ชี้เกมอำนาจ จีน-สหรัฐฯ | Techsauce

เผยเบื้องลึกการจับกุม CFO ของ Huawei ในแคนาดา ชี้เกมอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

มีการเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้แจ้งต่อ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนการให้เจ้าหน้าที่แคนาดาจับกุมตัวนางสาวเมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ของ Huawei ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ เมื่อปีที่ผ่านมา


ภาพจาก CNN.com
ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์ The Globe and Mail ของแคนาดา ซึ่งปรากฏว่าขัดแย้งกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด เคยบอกกับชาวแคนาดา หลังนางสาวเมิ่งถูกจับกุมได้ไม่นานว่า แคนาดาได้รับแจ้งจากสหรัฐฯ ล่วงหน้าไม่กี่วันเกี่ยวกับปฏิบัติการจับกุมดังกล่าว

แม้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ในรายงานระบุว่าจอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้จับกุมนางสาวเมิ่ง โดยเขาทราบล่วงหน้าว่าจะมีการจับกุมนางสาวเมิ่งในวันนั้น

ด้านที่ปรึกษาของทรูโดกล่าวว่า โบลตันและเจ้าหน้าที่คนอื่นในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน ทราบดีถึงนัยยะสำคัญของการจับกุมที่พวกเขาขอให้เจ้าหน้าที่แคนาดาลงมือ ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติระดับอาวุโสระบุว่า พวกเขาแนะนำให้สหรัฐฯ เลือกแคนาดาเป็นผู้ลงมือจับกุมนางสาวเมิ่ง เพราะพวกเขาเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมของแคนาดาและตำรวจแคนาดา (RCMP) จะตอบรับคำร้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

เดวิด แมคนอห์ตัน (David MacNaughton) อดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำวอชิงตัน เผยว่าไม่เคยมีการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่แคนาดาและสหรัฐฯ ก่อนการออกคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าสหรัฐฯ จะออกหมายจับนางสาวเมิ่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2018 ก่อนการจับกุมเธอนานกว่า 3 เดือน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ส่งคำร้องขอจับกุมตัวนางสาวเมิ่งให้แคนาดาล่วงหน้าเพียง 1 วันเท่านั้น และหวัง โจวตี๋ (Wang Zhoudi) อัยการสูงสุดของแคนาดา เลื่อนคำร้องดังกล่าวออกไปอีก 1 วันก่อนจะแจ้งให้ทรูโดทราบ ดังนั้น ทรูโดจึงอาจไม่เข้าใจถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ดังกล่าวมากพอ

นับตั้งแต่มีการออกหมายจับจนถึงวันที่ดำเนินการจับกุม รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยชี้แจงกำหนดการจับกุมตัวนางสาวเมิ่ง ทั้งที่ช่วง 2 เดือนก่อนหน้าจะถูกจับกุม เธอเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ถึง 6 ประเทศที่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงแคนาดา แต่สหรัฐฯ กลับไม่เคยยื่นคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างนั้น

แมคนอห์ตันระบุว่า เป็นที่ชัดแจ้งว่ารัฐบาลทรัมป์มีหลากหลายแผนการที่จะจัดการกับจีนและ Huawei ซึ่งเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมระดับโลก เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการให้พันธมิตรแบนการใช้อุปกรณ์ของ Huawei ในเทคโนโลยีมือถือ 5G เจเนอเรชั่นใหม่ เขายังกล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ไม่ได้รับคำเตือนหรือคำแนะนำใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะตามมาหลังการจับกุมตัวนางสาวเมิ่ง นอกจากนี้ หมายแจ้งเพียงสั้นๆ จากสหรัฐฯ ยังปิดกั้นไม่ให้รัฐบาลแคนาดาได้มีโอกาสประเมินผลร้ายที่จะตามมา

นอกเหนือจากหมายแจ้งในระยะเวลาสั้นๆ ที่ส่งมาให้แคนาดาจับกุมนางสาวเมิ่งแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้เริ่มเกริ่นและปูเรื่องราวการไล่ล่าตัวผู้บริหาร Huawei อย่างเปิดเผยก่อนการจับกุมนางสาวเมิ่งถึง 1 เดือน

ในการแถลงข่าวที่วอชิงตันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจฟฟ์ เซสชันส์ (Jeff Sessions) อัยการสูงสุดสหรัฐฯ เปิดเผยถึงสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์เรียกว่า “แผนริเริ่มจีน” (China Initiative) ซึ่งเป็นความพยายามครั้งแรกของสหรัฐฯ ในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act - FCPA) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง เขาเสริมว่ากระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เคยจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทจีนที่ฝ่าฝืนกฎหมายในระหว่างที่แข่งขันกับบริษัทสหรัฐฯ

บันทึกของศาลในคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนชี้ว่าฝ่ายสหรัฐฯ ได้แจ้งกับฝ่ายแคนาดา ซึ่งรวมถึงตำรวจแคนาดาและเจ้าหน้าที่ตุลาการ ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องจับกุมตัวผู้บริหาร Huawei ระหว่างที่เธอแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่แวนคูเวอร์ แต่ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงปล่อยโอกาสที่จะควบคุมตัวเธอก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ออกหมายจับชั่วคราว ซึ่งหมายความว่าต้องควบคุมตัวบุคคลในหมายไว้โดยห้ามล่าช้า คำร้องของสหรัฐฯ ระบุไว้ว่า “แม้ว่าเมิ่งจะถูกควบคุมตัวไว้ชั่วคราวที่แคนาดาในวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม แต่ยังคงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะนำตัวเธอไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ” พร้อมระบุว่าวอชิงตันไม่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับปักกิ่งนอกจากนี้ วันที่ 1 ธันวาคม ยังบังเอิญตรงกับวันที่มีการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเดินทางไปร่วมรับประทานอาหารค่ำเป็นการส่วนตัวกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงหลังเสร็จสิ้นการประชุม และแม้ว่าโบลตันอยู่ร่วมในการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 กับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แต่เขาบอกกับผู้สื่อข่าวสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมว่าเขาไม่ได้แจ้งทรัมป์เกี่ยวกับการจับกุมนางสาวเมิ่ง

ส่วนเหตุใดสหรัฐฯ จึงเลือกแคนาดาแทนที่จะเป็นประเทศอื่นๆ ที่นางสาวเมิ่งเดินทางไปเยือนนับตั้งแต่มีการออกหมายจับ เอริก ลูอิส (Eric Lewis) นักกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญคดีฉ้อโกงและทุจริตระหว่างประเทศ ระบุว่าวอชิงตันอาจพิจารณาแล้วว่าออตตาวามีแนวโน้มจะยอมลงมือมากที่สุด “ผมทำได้เพียงคาดเดาว่าสหรัฐฯ มองว่า (แคนาดา) จะเป็นพันธมิตรที่ตรงไปตรงมาและพึ่งพาได้มากที่สุด” เขากล่าว จอห์น แมนลีย์ (John Manley) อดีตรองนายกรัฐมนตรีแคนาดาจากพรรคลิเบอรัล ระบุว่าเขาไม่แน่ใจว่านางสาวเมิ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเกมภูมิศาสตร์ทางการเมืองของรัฐบาลทรัมป์หรือไม่ ก่อนจะเสริมว่า “แต่สำหรับผมแบบนี้ดูมีพิรุธนะ’’

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple Vision Pro ขายไม่ดีอย่างที่คิด Apple ลดคาดการณ์ยอดขายกว่าครึ่ง ปรับแผนใหม่

Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สาย Apple เผยว่า Apple ได้ลดตัวเลขยอดขาย Apple Vision Pro ในปีนี้เหลือเพียง 400-450,000 เครื่องเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ (มากกว่า 700–800,000 เครื่อง)...

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

สร้างวิดีโอสมจริง ใช้แค่รูปนิ่งกับคลิปเสียง รู้จักโมเดล VASA-1 ที่ Microsoft กำลังวิจัย

แค่ใช้รูปถ่ายกับคลิปเสียง ก็สามารถสร้างวิดีโอของเราได้แบบสมจริง ด้วยโมเดล VASA-1 ตัวใหม่จาก Microsoft ที่ต้องบอกว่าทั้งน่าทึ่ง น่าประทับใจ และน่ากลัวด้วย...