แม้แบรนด์ EV จีนจะช่วยสร้างสีสันให้ตลาดรถยนต์ไทย แต่ภาพรวมตลาดกำลังหดตัวรุนแรง Krungthai COMPASS รายงานว่ายอดขายเดือนกันยายน 2567 ลดลงถึง -37.1% เมื่อเทียบปีต่อปี นับเป็นเดือนที่ 16 ของการชะลอตัว โดย 9 เดือนแรกของปีมียอดขายเพียง 0.44 ล้านคัน ลดลง 25% จากปีก่อน และมีแนวโน้มต่ำสุดในรอบ 15 ปี
งานมหกรรมยานยนต์ Thailand International Motor Expo 2024 ซึ่งจัดขึ้น 12 วัน ถือเป็นเวทีสำคัญของวงการยานยนต์ไทย แต่คาดว่าจะไม่สามารถกู้สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ซบเซาในปีนี้ได้ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง กู้ซื้อรถยาก แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะลดลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 แต่ยอดหนี้รวมกลับเพิ่มขึ้นเป็น 13.6 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ มีคำขอที่ถูกปฏิเสธถึง 40% ในปีนี้
ล่าสุด สหพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ลงอีก 200,000 คัน เหลือเพียง 1.5 ล้านคัน จากเป้าหมายเดิม 1.9 ล้านคัน และในงาน Motor Expo 2024 ค่ายรถยนต์จากจีนก็เริ่มปรับกลยุทธ์ หันมาเปิดตัวรถไฮบริดรุ่นใหม่ในงานแทนรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว !
ค่าย Great Wall Motor (GWM) คาดการณ์ยอดขายในงานจะอยู่ที่ราว 1,000 คัน ซึ่งลดลงครึ่งหนึ่งจากงานในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดรถยนต์ไทยคาดว่าจะฟื้นตัวช้าถึงครึ่งหลังของปี 2025 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่ายอดขายในประเทศปีหน้าจะอยู่ที่ 550,000 คันเท่านั้น ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยอดขายลดลง 36% เหลือเพียง 37,691 คัน ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน
ซึ่งไฮบริดกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวเลือกหลัก เพราะแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความสนใจ แต่ปัญหาราคาที่ปรับลดลงบ่อยครั้งทำให้ลูกค้าลังเลในการตัดสินใจซื้อ เพราะกังวลเรื่องการเสื่อมมูลค่า นฤเดม มุจลินกุล นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี เชื่อว่าสงครามราคาน่าจะจบลงในรอบนี้ โดยเขากล่าวว่า “ผู้บริโภคยังระมัดระวังเรื่องราคา หลายแบรนด์ปรับลดราคาซ้ำ ๆ จนผู้ซื้อลังเล ปีหน้าอาจเป็นปีที่ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจเรื่องศูนย์บริการ หากค่ายรถเลิกกิจการ เช่นกรณี Suzuki ประกาศแผนปิดโรงงานในไทยปีหน้า ตามรอย Subaru ที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ สาเหตุหลักมาจากยอดขายในประเทศที่ตกต่ำ และมองว่าตลาดในอินโดนีเซียและอินเดียมีศักยภาพที่ดีกว่า สร้างความกังวลให้ผู้ใช้รถแบรนด์นี้ว่าจะไม่มีศูนย์บริการในอนาคตโรงงานในไทย
โดยยอดขายรถไฮบริดในปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 42% รวม 99,895 คัน ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเติบโตเพียง 1% โตโยต้ายังคงครองตำแหน่งผู้นำตลาดไฮบริดในไทย ด้วยส่วนแบ่ง 47% และรุ่น Yaris Cross SUV เป็นรถที่ขายดีที่สุดในกลุ่มนี้
Noriaki Yamashita ประธานบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย กล่าวว่า “โตโยต้าเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฮบริด (HEV) ของไทย โดยได้เปิดตัวรถไฮบริดหลากหลายรุ่นมาตั้งแต่ปี 2009 และมียอดขายสะสมกว่า 230,000 คัน” โดยเริ่มจากการเปิดตัว Camry Hybrid Sedan รุ่นแรก
ด้าน GWM ก็เริ่มรุกตลาดปิกอัพไฮบริดด้วยการเปิดตัว Poer Sahar ซึ่งถือเป็นปิกอัพไฮบริดรุ่นแรกในประเทศไทย ตั้งเป้าเจาะตลาดรถปิกอัพที่ถูกครองโดยแบรนด์ญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ GWM ยังเปิดตัวรถปลั๊กอินไฮบริดอีก 2 รุ่น ได้แก่ Wey 80 MPV และ Tank 700 SUV ในงานครั้งนี้ แต่ไม่มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ของ Ora Good Cat ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผลิตในประเทศไทย
ค่ายจีนคู่แข่งอย่าง BYD เปิดตัวรถปิกอัพปลั๊กอินไฮบริด แม้ว่าจะยังไม่พร้อมจำหน่ายจริง พร้อมเปิดตัว Sealion 7 ซึ่งเป็นรถไฮบริด plug-in electric hatchback พร้อมลดราคาลงถึง 100,000 บาท เหลือราคาเริ่มต้นที่ 1,149,900 บาท (ประมาณ 36,735 ดอลลาร์) สำหรับลูกค้าที่ซื้อในงาน
นอกจากนี้ BYD ยังปรับลดราคารถรุ่นเก่า เช่น Sealion รุ่นก่อนหน้า, Seal Electric Sedan และ M6 Van โดยมีราคาต่ำสุดเริ่มต้นที่ 569,900 บาท (ประมาณ 16,567 ดอลลาร์)
อ้างอิง: asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด