จากกรณีของหญิงสาวรายหนึ่งที่โพสต์ใน Facebook พร้อมข้อสงสัยที่ว่า การรับจำนำไอคลาวน์คืออะไร?” ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก
โดยปกติแล้ว การจำนำ คือ การนำสินทรัพย์ หรือหลักทรัพย์จากผู้จำนำ ไปเก็บกับผู้รับจำนำ โดยสินทรัพย์จะถูกนำไปเป็นหลักประกันของเงินที่ต้องการยืม และหากต้องการหลักทรัพย์คืน ก็ต้องนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาส่งคืนแค่ผู้รับจำนำให้ครบตามกำหนด ส่วนใหญ่สินทรัพย์ที่ผู้คนนิยมนำมาจำนำจะเป็นสินทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์ แหวนเพชร ทองคำ สร้อยคอ รถยนต์ ฯลฯ
ทว่า เมื่อเราอยู่โลกดิจิทัลสินทรัพย์ที่มีค่าต่างๆ ก็เปลี่ยนไป จากแก้ว แหวน เงิน ทอง เปลี่ยนเป็น “iCloud” ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าจำนำได้
การจำนำ iCloud คือ การนำ Apple ID ของผู้จำนำ (เจ้าของเครื่อง) ออก และใส่ Apple ID ของผู้รับจำนำ (เจ้าของร้าน) ใส่เข้าไปแทน โดยที่ลูกค้ายังสามารถใช้เครื่องได้ตามปกติ และหากวันใดวันหนึ่งลูกค้าเบี้ยวหนี้ ไม่ยอมจ่าย ร้านก็สามารถล็อก iCloud จากทางไกลได้ทันที ทำให้ลูกค้าไม่สามารถใช้งานได้
ที่ผ่านมาธุรกิจลักษณะนี้อาจถูกเรียกว่า การรีไฟแนนซ์ไอโฟน ซึ่งหมายถึงการนำไอโฟนให้ร้านประเมิน โดยตัวเครื่องจะต้อง Log In บัญชีของ Apple ID ของทางร้านจนกว่าลูกค้าจะผ่อนครบชำระ โดยราคาประเมินจะแตกต่างกันตามรุ่นของไอโฟน และระยะเวลาที่จำนำ
ทั้งนี้ iCloud เป็นบริการ Cloud Stroage ที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด อาทิ รูปภาพ วิดีโอ เอกสาร เพลง แอปพลิเคชั่น และอื่นๆ โดยทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ของ Apple แทนการเก็บไว้ในโทรศัพท์
การจำนำ iCloud จะแลกกับความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว เป็นการใช้ข้อมูลส่วนตัวเป็นตัวประกันนั่นเอง
นักข่าวสายไอที ผู้คร่ำหวอดในวงการ Apple ได้อธิบายถึงความเสี่ยงในการจำนำ iCloud ว่า “ไม่แนะนำ และไม่สมควรอย่างยิ่ง อย่าไปทำเลยเด็ดขาด ความเป็นส่วนตัวมันถูกทำลายไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมือถือยี่ห้อไหนก็ตาม
นั่นก็เพราะ ตั้งแต่วินาทีแรกที่ร้าน Log in บัญชี Apple ID เข้ามาแล้ว เท่ากับว่าไม่ใช่เครื่องเราอีกต่อไปแล้ว และอาจหมายความว่าคุณยอมรับว่าจะมีความลับหลุดไป 100% ซึ่งไม่ได้เกิดจากการแฮ็ก หรือบัค แต่เป็นการสมยอมของทั้งสองฝ่าย”
อธิบายง่ายๆ คือ เหมือนกับเราใช้เครื่องคนอื่น มีแค่รหัสผ่านหน้าจอเท่านั้นที่เป็นของเรา ข้อมูลทั้งหมดถูกจะเป็นของเจ้าของร้านจำนำ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์, ภาพถ่าย, แชท, แอปฯ ที่ลงเพิ่มเติมทั้งหมดหลังจากนี้ ทุกอย่างล้วนมีผลต่อการนำไป blackmail หรือคลิปหลุด
สำหรับผู้จำนำ คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อจ่ายเงินครบแล้วร้านจะปลดรหัสคืนให้ มั่นใจได้อย่างไรว่าร้านจะไม่ดูดข้อมูล หรือส่งต่อให้คนอื่น
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่า ธุรกิจจำนำ iCloud อาจเป็นบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรายได้น้อย หรือนักเรียน/นักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ แต่มีอุปกรณ์ที่มีมูลค่า เพื่อใช้ในการหมุนเงิน แต่โมเดลนี้ร้านมีแต่ได้กับได้
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อมูลในไอโฟนแบ่งได้ 2 แบบคือ ข้อมูลออนไลน์ที่อยู่ใน iCloud และข้อมูลออฟไลน์ที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์
เมื่อเราล็อกอิน Apple ID คนอื่น ข้อมูลออนไลน์ทั้งหมดจะหายไป เพราะข้อมูลผูกกับ Apple ID ส่วนข้อมูลออฟไลน์จะยังอยู่ในเครื่อง แต่ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อไปยัง iCloud ของร้าน เช่น รายชื่อผู้ติดต่อ, ประวัติการโทร, รูป, คลิป, Note และอื่นๆ เนื่องจากระบบ iCloud จะเชื่อมต่อกับ ID นั้นทันทีที่ต่อ WiFi ต่อให้ผู้ใช้ปิดการ Sync ข้อมูลทัน แต่ร้านก็จะได้ข้อมูลบางส่วนไปแล้ว
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ร้านใช้ Apple ID เดียวล็อกอินไอโฟนหลายเครื่อง ก็มีทางเป็นได้ว่าเจ้าของเครื่องจะเห็นข้อมูลของคนอื่นๆ ด้วย และแน่นอนว่าคนอื่นก็จะเห็นข้อมูลของคุณเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าถ้ามีข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากๆ ทุกคนก็จะรับรู้หมด
หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้น ร้านที่รับจำนำ iCloud สวมรอยเป็นมิจฉาชีพ เขาก็จะรู้ข้อมูลส่วนตัวของคุณทั้งหมด ทั้งรายชื่อผู้ติดต่อ รหัสต่างๆ ภาพหรือคลิปที่เปิดเผยไม่ได้ ก็อาจจใช้ช่องทางตรงนี้เพื่อการข่มขู่ หรือหลอกเอาเงินได้
อย่างไรก็ตาม การจำนำ iCloud ยังส่งผลต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่ถูกพูดถึงมานาน เนื่องจากปัจจุบันนี้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ และไม่ความระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่ควร เห็นได้จากผลสำรวจของ Telenor Asia Digital Lives Decoded 2566 ระบุว่า คนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชีย ซึ่งมีเพียง 17% ของคนไทยเท่านั้นที่ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวจากการใช้โทรศัพท์มือถือ
ดังนั้น หากจะบอกว่าการจำนำ iCloud จะทำให้เจ้าของเครื่องแทบไม่หลงเหลือความเป็นส่วนตัวก็คงไม่ผิด สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือ ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการรักษาในสิทธิความเป็นส่วนตัวของตัวเอง และการตัดสินใจนำข้อมูลส่วนตัวเป็นตัวประกัน ผลที่ตามมาอาจได้ไม่คุ้มเสีย
ข้อมูลจาก telenorasia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด