เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนมีข่าวใหญ่ในวงการ Startup ที่อินโดนีเซียเมื่อบริษัท Startup PT Kioson Komersial Indonesia เข้าสู่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียแล้ว โดยเปิดขาย 150 ล้านหุ้น ถือเป็น 23.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทมี หุ้นละ 300 รูเปียอินโดนีเซีย
การเข้าสู่ตลาดหุ้นในครั้งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจและช่วยปูทางให้กับบริษัทหลายๆ รายสายเทคโนโลยีในแถบภูมิภาคนี้ที่มุ่ง Exit โดยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของตนเอง โดยก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน Cloudaron ในประเทศมาเลเซียก็พึ่งเข้าสู่ตลาดไป ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีนักลงทุนสายเทคโนโลยีที่ให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน และมียอดผู้ใช้ออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ Kioson CEO อย่าง Jasin Halim กล่าวว่าเขาได้รับข้อเสนอจากนักลงทุนและ Private Equity Fund แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจที่จะเข้าสู่ตลาดแทนด้วยมูลค่าที่แตกต่างกัน และเขารู้สึกว่ากระบวนการนี้โปร่งใสมากกว่า เขากล่าวกับสื่อว่า ให้ตลาดเป็นตัวชี้วัดและตีมูลค่าของบริษัทพวกเขาดีกว่า
Kioson เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์และรับสินค้าจากตู้ Kiosk ทั่วอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีตู้ Kiosk กว่า 19,000 ตู้ และมีแผนขยายถึง 100,000 ตู้ภายในปี 2019 การออกสู่ตลาดครั้งนี้ทาง Kioson มีแผนที่จะซื้อกิจการ Online Voucher อย่าง PT Narindo Solusi Komunikasi อีกด้วย
ในขณะที่ Andi Boediman จาก Ideosource ลงทุนในธุรกิจค้าปลึกออนไลน์อย่าง PT Bhinneka Mentari Dimensi และเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในวงการ Tech Startup คนหนึ่งที่อินโดฯ กล่าวว่า เค้าคาดหวังว่าจะได้เห็น Startup ที่นั่นออกสู่ตลาดมากกว่านี้ในอนาคตและได้มูลค่าที่สมน้ำสมเนื้อจากนักลงทุนในอินโดฯ ผู้ซึ่งเข้าใจและคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของ Startup เหล่านั้น
ในปีก่อนทาง OJK ซึ่งเป็น Financial Services Authority ของอินโดฯ ได้ออกกฎใหม่อนุญาตให้ Startup ระดมทุนได้ถึง 74.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากตลาด หลายคนก็ต่างคาดหวังว่ารายถัดไปอาจได้เห็น Tokopedia และ Bukalapak เข้าสู่ตลาดเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา: Reuters, WorldFinance
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด