IPO อาเซียนซบเซา ดอกเบี้ยพุ่ง การเมืองเปลี่ยน นักลงทุนชะลอ | Techsauce

IPO อาเซียนซบเซา ดอกเบี้ยพุ่ง การเมืองเปลี่ยน นักลงทุนชะลอ

Nikkei Asia ร่วมกับ Dealogic บริษัทวิจัยในสหรัฐฯ วิเคราะห์ข้อมูลภาพรวม IPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายน 2024 มีกองทุนที่ระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO ได้มูลค่ารวมกว่า 1.54 พันล้านดอลลาร์ (ราว 5.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจำนวนนี้นับว่า ลดลงกว่า 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2023 

ภาพรวมของตลาด IPO ปีนี้ถือว่าซบเซาต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2023 (กรกฎาคม-ธันวาคม) ที่ลดลงไปมากถึง 60% โดยในปี 2024 การเสนอขายหุ้น IPO ที่ระดมทุนได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 4 บริษัท เหลือ 0 บริษัท เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้จำนวนบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ก็ลดลงจากปีที่แล้ว 12% โดยมีเพียง 71 บริษัทเท่านั้นที่นำเสนอขายหุ้น

นั่นทำให้มูลค่าตัวเลขการระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครึ่งปีแรกของ 2024 ดูไม่ค่อยสวยงามนัก โดยสาเหตุมาจาก อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงส่งผลให้นักลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุน

ส่องภาพรวม IPO ครี่งปี 2024 ในอาเซียน 

อินโดนีเซีย 

มีอัตราการลดลงของการระดมทุนหุ้น IPO มากที่สุด โดยจำนวนเงินที่ระดมทุนได้ลดลงถึง 90% เหลือ 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.1 พันล้านบาท) และจำนวนบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ก็ลดลง 30% เช่นกัน โดยมีเพียง 27 บริษัทเท่านั้น

เปรียบเทียบการ IPO ของปี 2023 และ 2024

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มีบริษัทหลายแห่งที่เสนอขายหุ้น IPO รายใหญ่ เช่น Amman Mineral Internasional ซึ่งเป็นบริษัทขุดทองแดงและทองคำ โดยระดมทุนได้มากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.5 หมื่นล้านบาท)

แต่ในปี 2024 บริษัท Ancara Logistics Indonesia ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่อีกแห่ง ได้ทำการเสนอขายหุ้น IPO รายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย แต่ระดมทุนได้เพียง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (1.9 พันล้านบาท) แม้ว่าจะเป็น IPO รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ก็ยังน้อยกว่าการเสนอขายหุ้น IPO รายใหญ่ในปีที่แล้วมาก

ด้าน Nikkei รายงานว่าเป็นผลเนื่องมาจากอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐมนตรีกลาโหม Prabowo Subianto ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ และจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นักลงทุนจำนวนมากจึงรอดูทีท่าว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินนโยบายอย่างไร ทำให้พวกเขาระมัดระวังในการลงทุน IPO ขณะนี้

ไทย

การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 คือ ธนาคารเครดิตไทย ซึ่งระดมทุนได้ 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.4 พันล้านบาท) ในเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นธนาคารรายแรกในรอบ 10 ปี ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แม้ว่าจำนวน IPO ของประเทศไทยเหมือนจะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่หากมองจำนวนเงินที่ระดมทุนได้จะพบว่าลดลงเกือบ 20% เหลือราว 10,916.68 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ค. 2567) จากมูลค่าระดมทุนครึ่งปีแรกของปี 2023 อยู่ที่ 12,345.77 ล้านบาท

มาเลเซีย

มาเลเซียมีบริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น และระดมทุนได้มากขึ้น เนื่องจากการสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพที่ขยายตัวมากขึ้น โดยจำนวนเงินที่ระดมทุนครึ่งหนึ่งที่ได้จากบริษัทต่างๆ ใน SEA รายชื่อบริษัท 10 อันดับแรกมาจากมาเลเซีย

มี Johor Plantations Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม มีการ IPO ครั้งใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค โดยระดมทุนได้ 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.6 พันล้านบาท) จากจำนวนการ IPO ที่เพิ่มขึ้น ทาง Nikkei รายงานว่าเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย

  1. Bursa Malaysia ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย ได้ลดขั้นตอนการอนุมัติการจดทะเบียนในจาก 4-12 เดือนเหลือเพียง 3 เดือน
  2. รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัว Unicorn Golden Pass เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยให้สิทธิประโยชน์ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า การลดหย่อนภาษี และความช่วยเหลือด้านขั้นตอนการบริหาร

ฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์มีการ IPO เพียง 2 ครั้งในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน แต่เงินที่ระดมทุนได้ทั้งหมดนั้นมากกว่าปีที่แล้วถึงสองเท่า โดยมี OceanaGold Philippines ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ IPO ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยสรุปแล้วภาพรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่า IPO ส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งปีแรกมาจากบริษัทขนาดกลางที่ดำเนินกิจการในท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน แต่แทบไม่มีบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับทุนจากกลุ่ม Venture Capital เลย 

Takahiro Suzuki หุ้นส่วนของ Genesia Ventures บริษัทเงินทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วเอเชีย กล่าวว่า “ตลาด IPO อยู่ในช่วงขาลง บริษัทสตาร์ทอัพที่เตรียมจะ IPO จึงมีแนวโน้มที่จะรอและดูสถานการณ์ก่อน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ดึงดูดการลงทุนได้ยากขึ้น ซึ่งหมายความว่าตลาด IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น่าจะดีขึ้นในปีนี้”

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ณฏฐพล พงษ์สุขเจริญกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์ CGS-CIMB (ประเทศไทย) ที่ชี้ว่า แนวโน้มของตลาดโดยรวมนั้นไม่ชัดเจน และการ IPO โดยรวมอาจยังคงเผชิญกับความท้าทายและอาจไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้

อ้างอิง: asia.nikkei, set

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Amity Solutions เข้าซื้อกิจการ Tollring ผู้นำด้านระบบวิเคราะห์การโทร เสริมแกร่งผู้นำ GenAI ไทยสู่เวทีโลก

Amity Solutions (ASOL) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) ชั้นนำของไทย ประกาศเข้าซื้อหุ้นใหญ่ใน Tollring บริษัทผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิเคราะห์การโทรและ...

Responsive image

เปิดคู่มือ CMO ยุค AI กับ 10 แนวทางที่ต้องโฟกัส พลิกโฉมสร้างกลยุทธ์การตลาด สู่ความสำเร็จที่เหนือกว่า

สรุปเนื้อหาจาก Session Future CMOs Guidebook: 10 priorities to focus in the age of AI 10 สิ่งที่ต้องคิดสำหรับ CMO ในยุคสมัยของ AI โดยคุณสโรจ เลาหศิริ จากเพจสโรจขบคิดการตลาด...

Responsive image

Microsoft ร่วม BlackRock ตั้งกองทุน AI มูลค่า 3 ล้านล้าน ลุยแผนพัฒนาเอไอเต็มกำลัง

Microsoft และ BlackRock สองผู้นำในวงการเทคโนโลยีและการเงิน ร่วมกันเปิดตัวกองทุน Global AI Infrastructure Investment Partnership (GAIIP) โดยตั้งเป้าระดมทุนสูงสุดถึง 1 แสนล้านดอลลาร์...