กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลให้ Google ต้องขายเบราว์เซอร์ Chrome แยกจากบริษัท หลังศาลตัดสินว่า Google ละเมิดการผูกขาดตลาด Search Engine
การเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลในครั้งนี้ เป็นผลมาจากคดีความต่อต้านการผูกขาดที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ หรือ DOJ ยื่นฟ้อง Google ซึ่งดำเนินมาหลายปี โดยมีเป้าหมายเพื่อพิสูจน์ว่า Google ผูกขาดตลาดการค้นหาบนเว็บในสหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมฯ ชนะคดีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยผู้พิพากษา Amit Mehta ตัดสินว่า Google ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทั้งในตลาด Search Engine และ Search Ad
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า Chrome เป็นช่องทางสำคัญที่ผู้คนจำนวนมากใช้ในการใช้งาน Google Search ซึ่งข้อมูลจาก StatCounter หรือบริการวิเคราะห์ปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ ระบุว่า Chrome ครองส่วนแบ่งตลาดเบราว์เซอร์ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 61% การควบคุม Chrome จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Google ผูกขาดตลาด Search Engine
การขาย Chrome คาดว่าจะกระทบรายได้ Google อย่างหนัก เพราะ Google Services ส่วนใหญ่ได้เงินจากโฆษณา ซึ่ง Chrome ก็เป็นส่วนสำคัญในการดึงคนเข้ามาใช้บริการต่างๆ ของ Google โดยรายได้จากการค้นหาทั้งหมดของ Google อยู่ที่ 2.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 9.6 ล้านล้านบาท ในปี 2022
นอกจากจะยื่นต่อศาลเรื่องการแยกขาย Chrome แล้ว ยังมีแผนเสนอให้ Google ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการต่อต้านการผูกขาดที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Google ยังเผชิญกับคดีความอีกคดีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ Android โดยศาลสั่งให้ Google ต้องเปิดให้ร้านค้าแอปอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในระบบ Android ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ Google มีอำนาจควบคุมตลาดแอปบน Android น้อยลง จากเดิมที่นักพัฒนาแอปต้องขายแอปบน Play Store ที่ Google เป็นเจ้าของเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลกำลังเอาจริงเอาจังกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เพื่อไม่ให้มีอำนาจและควบคุมตลาดมากเกินไปในอนาคต คดีความนี้ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญของรัฐบาลในการควบคุมอำนาจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของตลาดดิจิทัล
อ้างอิง: businessinsider, techcrunch
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด