KBank ทุ่มงบกว่า 6.5 พันลบ. ถือหุ้นใหญ่ธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย เพิ่มเป็น 67.5% | Techsauce

KBank ทุ่มงบกว่า 6.5 พันลบ. ถือหุ้นใหญ่ธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย เพิ่มเป็น 67.5%

KBank ส่ง “กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล” ซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าการลงทุน 186.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6.5 พันล้านบาท ส่งผลให้กสิกรไทยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นรวมในธนาคารแมสเปี้ยนเป็น 67.5% หรือขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เดินหน้านำจุดแข็งบริการและเทคโนโลยีบริการลูกค้ารายย่อย-ธุรกิจ เชื่อมโยงฐานลูกค้าธุรกิจ ตามเป้าหมาย ก้าวสู่การเป็น “ธนาคารแห่งภูมิภาค”

คุณภัทรพงศ์ กันหสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด เปิดเผยว่า ธนาคารเดินหน้ากลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

ล่าสุด บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย จากเดิมมีสัดส่วนสัดส่วนอยู่ที่ 9.99% เพิ่มเป็น 67.5% ด้วยมูลค่าการลงทุน 186.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,500 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้บริษัทของธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Controlling Shareholder) ของธนาคารแมสเปี้ยน

โดยการเข้าซื้อกิจการของธนาคารแมสเปี้ยน ซึ่งเป็นธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ 888 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 31,100 ล้านบาท และมีสาขาจำนวน 50 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการควบรวมกิจการ (M&A) ครั้งแรกของธนาคารกสิกรไทยภายใต้กลยุทธ์การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค

ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้นับว่าเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ทั้งในแง่ความต้องการสินเชื่อที่กำลังเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียในช่วงการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และในแง่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเกิดจากการหลั่งไหลของการลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศอินโดนีเซีย โดยจะนำประสบการณ์ ความพร้อม และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจธนาคารที่มีมายาวนานกว่า 77 ปี มาประยุกต์ ต่อยอด และเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางการเงินของ KASIKORN Business Technology Group (KBTG) มาสู่ธนาคารแมสเปี้ยน

เพื่อผลักดันให้ธนาคารแมสเปี้ยน เติบโตเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน East Java และพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาวต่อไป ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มองค์กร/ธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial) และกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail)

สำหรับกลุ่มองค์กร/ธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ธนาคารจะเพิ่มศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อและให้บริการด้านธนาคารที่ครบวงจร เพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ (Local Large Corporate)

เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งกระจายอยู่ในหลากหลายสาขาธุรกิจของประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะผู้นำทางธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงตลาดภายในประเทศของอินโดนีเซียให้เป็นหนึ่งเดียว ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Development Plan) ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ซึ่งธนาคารเชื่อว่าแผนนี้จะสามารถผลักดันให้ประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในปลายทางการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างดี โดยธนาคารพร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งจากธุรกิจไทย (TDI) และธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (กลุ่มประเทศ AEC+3)

กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial) ธนาคารให้การสนับสนุนด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางที่มีจำนวนมาก เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีทางการเงินที่จะช่วยปรับปรุงระบบการชำระเงินแก่ผู้ประกอบการ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการขับเคลื่อนธุรกิจแบบรอบด้าน ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางกลุ่มนี้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพร้อมขยายไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต

กลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail) ธนาคารมุ่งขยายฐานลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซียผ่านการให้บริการโมบายแบงกิ้ง หรือบริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก (MSME) ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างจำกัด แต่มีความสามารถในการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ มีฟีเจอร์ที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งพัฒนาระบบโมบายแบงกิ้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีแนวโน้มการใช้งานผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายภัทรพงศ์กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารเชื่อว่า ด้วยจุดแข็งด้านบริการทางการเงินและศักยภาพทางเทคโนโลยีของกสิกรไทย ผสานกับความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานในท้องถิ่นของธนาคารแมสเปี้ยน จะสามารถพัฒนาบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการท้องถิ่นในอินโดนีเซียเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยจะมีการต่อยอดความสัมพันธ์จากฐานลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่มีอยู่ในไทยและประเทศในภูมิภาค สร้างการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งด้านห่วงโซ่การผลิต การลงทุน และการค้า ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในไทย อินโดนีเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต

การเข้าซื้อกิจการธนาคารมาสเปี้ยนของธนาคารกสิกรไทย ในปี 2565 ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของการยกระดับธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารระดับภูมิภาค AEC+3 ครั้งล่าสุด หลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจธนาคารท้องถิ่นใน สปป.ลาว ปี 2557 และได้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีนในปี 2559 และประสบความสำเร็จจากการเปิดสาขาพนมเปญ ในประเทศกัมพูชาปี 2560 และสาขาโฮจิมินห์ซิตี ในประเทศเวียดนามในปี 2564

อ้างอิง SET

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

8 ล้านคนเสี่ยงตกงานเพราะ AI การบ้านใหญ่ของรัฐบาล UK

สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะหรือ IPPR ประกาศเตือน ชาวสหราชอาณาจักรกว่า 8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน จากนโยบายด้าน AI ของรัฐบาล...

Responsive image

พกสะดวก กินได้ทุกที่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ วางขายทางออนไลน์เร็วๆ นี้

นวัตกรรมแห่งรสชาติ เด็กสมบูรณ์ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ซีอิ๊วเม็ดเด็กสมบูรณ์’ พกติดตัวได้ทุกที่ ใช้งานสะดวกสบาย แค่ละลายพร้อมอาหาร เตรียมจำหน่ายตามช่องทางออนไลน์เร็วๆ นี้...

Responsive image

Adobe GenStudio สร้างแคมเปญด้วย AI ตอบโจทย์การทำคอนเทนต์ครบวงจร เพื่อนักการตลาด

ข่าวดีนักการตลาด ทาง Adobe ประกาศในงาน Adobe’s Summit เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่อย่าง GenStudio ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างโฆษณาครบวงจรด้วย AI...