กรุงศรี จัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2024 เชื่อมสตาร์ทอัพอาเซียน-ญี่ปุ่น สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาค | Techsauce

กรุงศรี จัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2024 เชื่อมสตาร์ทอัพอาเซียน-ญี่ปุ่น สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาค

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” ผนึกพลังพันธมิตรครั้งยิ่งใหญ่กับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (The Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) Techo Startup Center หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของประเทศกัมพูชา และศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (NIC) จัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2024 สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 60 ราย จาก 6 ประเทศกับภาคธุรกิจชั้นนำระดับนานาชาติกว่า 180 บริษัท มุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อต่อยอดการเติบโตในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า การส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของญี่ปุ่น และร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (BCG Model) รัฐบาลญี่ปุ่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการจัดงานใหญ่ระดับภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานส่งเสริมดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศทั้งญี่ปุ่น ไทย และอาเซียน โดยมีความมุ่งหวังที่จะเห็นการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในภูมิภาค

ด้าน นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรี มุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมเสริมสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุน ความรู้ด้านเทคโนโลยี และข้อมูลธุรกิจต่างๆ ทั้งยังช่วยเปิดเวทีสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสตาร์ทอัพเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งการจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพในวันนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และมีสตาร์ทอัพดาวรุ่งจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจกว่า 60 ราย จาก 6 ประเทศเข้าร่วมงาน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพสาย ESG ที่มีเทคโนโลยีช่วยลดลดคาร์บอน หรือแม้แต่โซลูชันในการทำโรงงานอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการตามแนวทางความยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น และด้วยความร่วมมือของพันธมิตรอาเซียน ญี่ปุ่น และเครือข่าย MUFG นำมาสู่ความสำเร็จอย่างล้นหลามในการจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งสร้างโอกาสในการจับคู่ธุรกิจกว่า 400 คู่ภายในวันเดียว” 

ทั้งนี้ กรุงศรี เป็นสถาบันการเงินในเครือ MUFG ที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่ครอบคลุมกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และด้วยประสบการณ์ที่แข็งแกร่งในการดำเนินกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกว่า 10 ปี จึงได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งดังกล่าวสร้างแพลตฟอร์มที่หลากหลายให้กับลูกค้าในการพบปะและเชื่อมต่อกับพันธมิตรธุรกิจและบริษัทที่มีศักยภาพจากญี่ปุ่นและทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2024 ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพดาวรุ่งกว่า 60 บริษัทจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองอย่าง Health Tech & Aging Socitey, FinTech, Food Tech, E-Commerce, Factory Automation และ ESG Solution ได้มาพบปะเจรจา และนำเสนอแผนงานธุรกิจกับบรรดานักลงทุนกว่า 180 บริษัทชั้นนำจาก 6 ประเทศในที่เดียว 

นอกจากการนำเสนอผลงานและแผนธุรกิจ (Startup Pitching) แล้ว ยังมีกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) บูธจัดแสดงจากผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพกว่า 60 ราย งานสัมมนาเชิงวิชาการจาก Mitsubishi UFJ Research and Consulting และ Mitsubishi Research Insitute ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงบทบาทสำคัญของสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเทคของไทยและประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง รวมทั้งกิจกรรม Workshop ที่จัดขึ้นโดยทีมที่ปรึกษาทางธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK ที่พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจและต้องการขยายธุรกิจในอาเซียน และร่วมรับฟังประสบการณ์การทำธุรกิจของสตาร์ทอัพสาย E-Commerce ชั้นนำจากประเทศกัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ กรุงศรี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงจำนวน 2 ฉบับ ภายในงานนี้ ฉบับแรกลงนามร่วมกับ Tokyo SME Support Center Thailand Branch Office และ กรุงศรีฟินโนเวต และฉบับที่ 2 ร่วมกับ Mitsubishi Research Institute (MRI), Mitsubishi UFJ Research and Consulting Thailand Office, Sasin Japan Center, Sasin Management Consulting และกรุงศรี ฟินโนเวต โดยความร่วมมือทั้งสองเป็นการร่วมส่งเสริมสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการพัฒนาของสตาร์ทอัพ

“ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณเครือข่ายพันธมิตร และลูกค้าทุกท่านที่ไว้วางใจให้เราเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในวันนี้ ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในภูมิภาค จนสามารถต่อยอดการคิดค้นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาของโลกในด้านต่าง ๆ และช่วยจุดประกายความก้าวหน้าของสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตได้ไกลกว่าในระดับอาเซียน ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และการดำเนินงานตามแนวทางความยั่งยืน (ESG) เพื่อก้าวสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค” นายยามาโตะ กล่าวปิดท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NVIDIA เปิดตัว Jetson Orin Nano Super Developer Kit ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI จิ๋ว เตรียมใช้ในหุ่นยนต์ AI

NVIDIA กำลังก้าวไปในสู่โลกของหุ่นยนต์อย่างเต็ม หลังเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวของสำคัญหลายอย่างทั้ง Blackwell ชิปกราฟิกประสิทธิภาพสูงสำหรับประมวลผล AI โดยเฉพาะ ไปจนถึง Pro...

Responsive image

Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ SEA ประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2568 - 2569...

Responsive image

ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นจับมือ! Honda-Nissan เตรียมควบรวมกิจการ

รายงานระบุว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณารวมตัวกันภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงในเร็วๆ นี้ โดยมีแผนจะดึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่นิสสันถือหุ้น 24% เข้ามาร่วมด้วย เพื...