กรุงไทย เผยกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 17,139 ลบ. โต 48% ส่วน Q2 อยู่ที่ 8,358 ลบ. ผลจากการเติบโตของสินเชื่อ | Techsauce

กรุงไทย เผยกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 17,139 ลบ. โต 48% ส่วน Q2 อยู่ที่ 8,358 ลบ. ผลจากการเติบโตของสินเชื่อ

“ธนาคารกรุงไทย”  เดินหน้าเติบโตสินเชื่ออย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  หนุนผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 17,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  เฉพาะไตรมาส 2 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 8,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมขยายตัวจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพและสมดุลอย่างต่อเนื่อง ธนาคารควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 174.3  รับมือความท้าทายภาวะเศรษฐกิจรอบด้าน 

กรุงไทย

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  จากความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นในทุกแพลตฟอร์ม ความถี่เข้าใช้งานมากขึ้น หนุนปริมาณธุรกรรมเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนถึงการวางยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มได้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ สามารถขยายความร่วมมือกับพันมิตรต่างๆได้หลากหลาย 

ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถเชื่อมโยง Ecosystem ต่างๆ  ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนมาตรการภาครัฐ บริการด้านสุขภาพ การออมและการลงทุน เช่น บริการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล บริการ Gold Wallet  และสลากดิจิทัล  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำสถิติขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว  และธนาคารเริ่มเห็นผลลัพธ์จากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับความสมดุลระหว่างคุณภาพสินเชื่อและผลตอบแทน

จากความมุ่งมั่นดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของธนาคารดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง   โดยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 17,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย 

รวมถึงการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับร้อยละ 2.50  ประกอบกับบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดี  รวมถึงค่าใช้จ่ายตามฤดูกาล ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงร้อยละ 0.7  ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.86 ลดลงจากร้อยละ 43.33 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน  ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 31.0 แต่ยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 174.3 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,358  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของสินเชื่อ และการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในภาพรวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.48 ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับคงที่จากไตรมาส 2 ปี 2564  

ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,669 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการตั้งสำรองไว้ในระดับสูง โดยธนาคารยังยึดหลักการทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพของสินทรัพย์  ประกอบกับติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.32 ลดลงเมื่อเทียบสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับร้อยละ 3.50 และยังคงรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 174.3 เทียบกับร้อยละ 168.8 เมื่อสิ้นปี 2564

เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงร้อยละ 4.8 เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด  ถึงแม้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิขยายตัวได้ดีจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงระดับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ยึดหลักระมัดระวัง โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา

ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 328,287 ล้านบาท (ร้อยละ 15.98 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) และเงินกองทุนทั้งสิ้นเท่ากับ 413,559  ล้านบาท (ร้อยละ 20.13 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง) ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยในเดือนเมษายน 2565 ธนาคารได้ออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการเติบโตในอนาคต 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินกิจการได้มากขึ้น หลังจากทยอยยกเลิกมาตรการเข้มงวดที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ในรูปแบบ “ The New K-shaped Economy”   ซึ่งเป็นภาพของเศรษฐกิจไทยเฟสใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย  และยังมีความท้าทายจากแรงกดดันปัจจัยภายนอก  

โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยืนอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และยังคงเน้นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุด เพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด รักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง รักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน พร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้า และ เตรียมพร้อมในการขยายธุรกิจรองรับการแข่งขันในอนาคต 

ธนาคาร มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเดินหน้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มของธนาคาร ทั้ง Krungthai NEXT Krungthai Connext  เป๋าตัง  และ ถุงเงิน  

โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ต่อยอดบริการผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการออมและการลงทุน ผ่านบริการวอลเล็ต สบม. บริการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล บริการ Gold Wallet  ช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึงการออมและการลงทุนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเสมอภาค สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ลงทุนยุคใหม่  ล่าสุดมีบริการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (สลากดิจิทัล) ผ่านเป๋าตัง  ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานแอปฯเป๋าตังมากกว่า 34 ล้านคน นอกจากนี้ ยังจับมือกับพันธมิตรทำโครงการ Point Pay  เปิดให้นำคะแนนสะสมของพันธมิตรมาใช้จ่ายแทนเงินสดในร้านค้าถุงเงิน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้กับร้านค้ารายย่อย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ให้มียอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CHANGAN Automobile เปิดตัว NEVO E07 : SUV พร้อมฟังก์ชันกระบะเปิดท้ายในงาน “ปักกิ่ง ออโต้ โชว์ 2024”

CHANGAN เปิดตัว NEVO E07 ในงานแสดงรถยนต์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 18 ซึ่งเป็นยานพาหนะแปลงโฉมคันแรกของโลก ที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนมาก NEVO E07 เป็นรถยนต์รุ่นใหม่คันแรกของบริษัทในโฉม SUV ...

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...