สยามคูโบต้า จับมือ SCG ตั้งบริษัทร่วมทุน เกษตรอินโน (KasetInno) ให้บริการเกษตรครบวงจร รับเทรนด์ Smart Farm | Techsauce

สยามคูโบต้า จับมือ SCG ตั้งบริษัทร่วมทุน เกษตรอินโน (KasetInno) ให้บริการเกษตรครบวงจร รับเทรนด์ Smart Farm

สยามคูโบต้ามั่นใจทิศทางตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรปี 65 ยังเติบโต ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 ไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าสัดส่วนการขยายตลาดในประเทศอยู่ที่ 60% ส่วนส่งออกอยู่ที่ 40%  ทั้งเตรียมพัฒนาสินค้ารับเทรนด์เกษตรสมัยใหม่ Smart Farm พร้อมจับมือเอสซีจี (SCG) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน "เกษตรอินโน KasetInno" ให้บริการโซลูชั่นการเกษตรครบวงจร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IoT ที่ทันสมัยมาซัพพอร์ตการทำเกษตรก้าวข้ามขีดจำกัด เพื่อสอดรับเทรนด์ Smart Farm  

รวมทั้งเน้นการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing พื่อยกระดับการให้บริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และดูแลสังคมด้วยนโยบาย ESG โดยมีเป้าหมายเดินหน้าสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำทางด้านการเกษตรระดับโลก

ตั้งเป้ารายได้ปี 65 ไว้ 6.3 หมื่นล้านบาท

คุณ ทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยในงานแถลงแผนงานประจำปี 2565 ของบริษัทฯว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าสัดส่วนการขยายตลาดในประเทศอยู่ที่ 60% ส่วนส่งออกอยู่ที่ 40% ซึ่งยังคงเติบโตเท่ากับที่ตั้งเป้าไว้เมื่อเทียบกับปี 2563 จากแนวโน้มภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในความสนใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการ 

เนื่องมาจากในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีแรงผลักดันจากสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงยอดการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น และมั่นใจว่าทิศทางตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรปี 65 ยังเติบโต โดยมีการวางแผนการลงทุนในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท

พร้อมกับเตรียมที่จะมุ่งเน้นการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing เพื่อยกระดับการให้บริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อสื่อสารและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ระบบ QRoC หรือ QRadar on Cloud ที่คอยตอบคำถามเพื่อสนับสนุนการทำงานของช่างบริการผ่านช่องทางไลน์ 

และการจัดการน้ำและปุ๋ยที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ดิจิทัลแพลตฟอร์มส่งเสริมเกษตรแม่นยำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยมลพิษลง โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero CO2 ในปี 2593 ตามแนวทางคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่น 

ร่วมทุน SCG จัดตั้งบริษัท 'เกษตรอินโน' รับตลาด Smart Farm

และประเด็นที่สำคัญที่ถือเป็นบิ๊กดีลในปี 2565 คือ การร่วมกับ เอสซีจี และคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท "เกษตรอินโน KasetInno" ให้บริการโซลูชั่นการเกษตรครบวงจร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และระบบ IoT ที่ทันสมัย เพื่อให้การทำเกษตรก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ความเป็นไปได้สำหรับทุกคน เพื่อสอดรับเทรนด์แห่งการเกษตรสมัยใหม่ Smart Farm โดยเป็นการ JV กับทางกลุ่ม SCG และ SKC หลักๆจะเน้นเรื่องการนำเสนอโซลูชั่นและงานบริการต่างๆ

ส่วนวิสัยทัศน์ในระยะยาวของกลุ่มบริษัท คูโบต้า หรือ Global Major Brand ที่มุ่งมั่นทำให้คูโบต้าเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ภายในปี 2573 โดยวางเป้าหมายเป็น “Essentials Innovator for Supporting life” สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าที่มีทั่วโลก พร้อมกับการเป็นองค์กรที่ตอบแทนสังคม ดำเนินธุรกิจโดยการพัฒนาสินค้าเพื่อสานต่อความยั่งยืนทั้งด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม

พร้อมกับเน้นดูแลสังคมด้วยนโยบาย ESG เดินหน้าสู่แบรนด์ชั้นนำระดับโลก พร้อมเปิดตัวแคมเปญสื่อสารใหม่ Renew your Agri-life together ก้าวสู่ชีวิตเกษตรใหม่ไปด้วยกัน โดยเป็นโลกเกษตรแห่งการเรียนรู้ที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาต่อยอดทางด้านการเกษตร

โดยภายใต้ ESG Business Model ของสยามคูโบต้า ในเรื่องของการสนับสนุน Young Smart Farmer ที่จะมีมากขึ้น จะเป็นการพัฒนาอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเหล่านี้ โดยในส่วนของ Yong Smart Farmer ที่ทำงานร่วมกัน จะมีทั้งกลุ่มพืชเศรษฐกิจ กลุ่มผักผลไม้

ขณะที่การปรับลดเป้าหมายรายได้ลงในปี 2565 เนื่องจากมองว่าปี 2564 มีนโยบายทางภาครัฐทำให้ผลประกอบการดี แต่มาปี 2565 เป็นสถานการณ์ปกติ แต่ก็มองว่าการขายในประเทศจะยังเติบโตต่อไป

'ปริมาณน้ำ-สถานการณ์โควิด' ปัจจัยท้าทาย

ขณะที่ คุณวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวเสริมว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยภายในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การส่งออกสินค้าทางการเกษตรกลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดในปี 2565 อุตสาหกรรมเกษตรปีนี้มีทิศทางยังคงมีปัจจัยบวกในหลายๆตัว และตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรน่าจะยังเติบโตต่อไปได้ด้วยเทรนด์โลก ทั้งจากในประเทศและกำลังซื้อจากต่างประเทศ อย่าง ประเทศจีน ในเรื่องของเทรนด์สุขภาพทางด้านอาหาร ที่จะส่งผลดีต่อภาคการเกษตร ที่จะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรจะหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อธุรกิจของคูโบต้า

แต่ปัจจัยที่จะเป็นผลกระทบอย่างเช่นเรื่องของ น้ำ อย่างปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นครึ่งปีแรกยังคงมีทิศทางที่ดี แต่ครึ่งปีหลัง คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะลดลง ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกข้าวไปต่างประเทศเช่นกัน จึงสรุปได้ว่าสถานการณ์โควิดและเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่ท้าทาย

รวมทั้งในปีนี้ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชมูลค่าสูง อาทิ เครื่องตัดหญ้าเนเปียร์ สำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมและพลังงานชีวมวล แทรกเตอร์ B2401 พร้อมเครื่องตัดหญ้าใต้ท้องรถ (Mid mower) โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตสูงถึง 60% ส่งผลให้เกษตรกรหันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนโตขึ้นเฉลี่ย 10% และพัฒนารถดำนาเดินตาม 6 แถวใหม่ นอกจากนี้ยังขยายฐานลูกค้าสู่นอกภาคเกษตรอย่างรถกระบะบรรทุกหนัก

สำหรับปี 2565 ที่ตั้งเป้า Save Volume ของกลุ่มแทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าว จากกรณีในปีนี้โครงการรัฐบาลในเรื่องของนาแปลงใหญ่ยังไม่เห็นภาพชัด จึงไม่ตั้งเป้ามากนัก แต่หากเทียบยอดขายปกติคาดว่าปีนี้จะโต 3% ดังนั้นภาพรวมทั้งปีมองว่ายังไปได้ดี

ส่วนทางด้านกำลังซื้อและการส่งออกยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดก็ส่งผลกระทบ เนื่องจากมีการดำเนินการมากขึ้น จึงต้องมีการส่งเสริมและติดตามตรงส่วนนี้

ขณะที่การส่งเสริมเกษตรกร จะเป็นในเรื่องของวัตถุดิบ ที่ไม่มีนโยบายขยับราคา พยายามตรึงเรื่องราคา และอีกส่วนช่วยเรื่องของการช่วยดอกเบี้ย การเก็บค่างวดต่างๆให้ยืดหยุ่น ส่วนโครงการมีอย่างน้อย 100 โครงการที่จะต่อยอดคูโบต้าร่วมมือเกษตรร่วมใจ โดยจะพิจารณาจากกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนและต้องการเครื่องมือ

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาสู่เครื่องจักรกลไฟฟ้า อาทิ รถแทรกเตอร์ที่ใช้ระบบไฟฟ้า โดยจะมีการพัฒนาอยู่แล้วเบื้องต้น แต่จะอยู่ในแถบประเทศยุโรป และตอนนี้สิ่งที่ยากคือต้นทุนในการพัฒนาสินค้า อาจจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

และหากพูดถึงในเชิงสังคม การส่งต่อองค์ความรู้ สินค้าเกษตร และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มีการทำงานร่วมกับเกษตรกร ผ่านการขยายผลองค์ความรู้ไปยังเกษตรกร และร่วมกับทางจังหวัด อาทิ โครงการเกษตรปลอดการเผา

ภาพความสำเร็จของสยามคูโบต้าในปี 2564 

  • ปี 2564 ภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% โดยปัจจัยบวกมาจากสภาพอากาศปริมาณน้ำฝนสำหรับการเพาะปลูกมีเพียงพอ

  • ส่งผลให้ผลประกอบการของสยามคูโบต้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวม 6.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 30%

  • ปัจจัยหลักของผลประกอบการที่เติบโตมาจาก
    1.แรงงานคืนถิ่นกลับสู่ภาคการเกษตรเพื่อต่อยอดการทำเกษตรของครอบครัว ทำให้มีความต้องการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานมากขึ้น ซึ่งสินค้าหลักคือกลุ่มแทรกเตอร์ และรถเกี่ยวนวดข้าว

    2.รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น

    3.ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

  • เนื่องมาจากในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีแรงผลักดันจากสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงยอดการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

สร้างวิดีโอสมจริง ใช้แค่รูปนิ่งกับคลิปเสียง รู้จักโมเดล VASA-1 ที่ Microsoft กำลังวิจัย

แค่ใช้รูปถ่ายกับคลิปเสียง ก็สามารถสร้างวิดีโอของเราได้แบบสมจริง ด้วยโมเดล VASA-1 ตัวใหม่จาก Microsoft ที่ต้องบอกว่าทั้งน่าทึ่ง น่าประทับใจ และน่ากลัวด้วย...

Responsive image

เข้าสู่ยุค AI TV ซัมซุงตอกย้ำผู้นำตลาดทีวีทั่วโลก เปิดตัว​ Samsung AI TV เจาะกลุ่มพรีเมี่ยม

ซัมซุง เปิดตัว Samsung AI TV จัดเต็ม 6 ไลน์อัป อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมเจาะเซกเมนต์พรีเมี่ยม...