โดย: คุณธเนศ อังคศิริสรรพ, ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคอินโดจีน Lenovo
เพราะชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างรอบตัวเราถูกพัฒนาให้มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, ชุดอุปกรณ์ภาพและเสียงสำหรับห้องประชุม หรือแม้กระทั่งหลอดไฟ มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะรับมือและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีรอบตัวทั้งในที่ทำงานและที่บ้านเพื่อการใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวัน โดยเทคโนโลยีส่วนใหญ่นั้นถูกพัฒนาขึ้นจากความต้องการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น ในปี 2019 การเชื่อมต่อแบบไร้ขีดจำกัด, การใช้งานระบบออโตเมชั่น และเทคโนโลยีโลกเสมือนจะถูกนำมาใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มนุษย์สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดเหล่านี้และสามารถรับมือกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
สมาร์ท สเปซ (smart spaces) ทั้งในชีวิตจริงและในแบบดิจิทัล คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คน อุปกรณ์ และระบบ ทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสมาร์ท ซิตี้ (smart city), ดิจิทัล เวิร์คสเปซ (digital workspace) หรือสมาร์ท โฮม (smart home) ก็ต่างมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานในระบบนิเวศแบบเชื่อมต่อนี้
แล้วอะไรคือช่องโหว่ จากการศึกษาล่าสุดโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านความพึงพอใจของลูกค้าพบว่า เทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย, ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และตอบโจทย์คือสิ่งที่ผู้ใช้งานมองหา หากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นไม่ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ แนวโน้มที่คนจะเลิกใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับผู้บริโภค เทคโนโลยีสำหรับสมาร์ท โฮมจำเป็นต้องช่วยลดความยุ่งยากและลดเวลาในการติดตั้งในอนาคต อุปกรณ์สมาร์ท โฮมจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยจะเน้นที่การติดตั้งง่าย มีโซลูชั่นที่เชื่อมต่อกันแบบครบวงจร และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีแก่ผู้บริโภค อาทิ คอมพิวเตอร์ในบ้านจะมีฟังก์ชั่นอัจฉริยะ อย่าง การจดจำเสียง (voice recognition) ระบบยืนยันตัวตนด้วยอัตลักษณ์ส่วนบุคคล(biometric authentication), การเชื่อมต่อแบบ always-on หน้าจอแสดงผลแบบอัจฉริยะ(smart display) จะเป็นแบบสัมผัส และมีตัวช่วยในการสั่งงานด้านเสียงเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเชื่อมต่อได้สะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับองค์กร การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงานให้แก่พนักงานคือสิ่งสำคัญ โดยนอกเหนือจากเทคโนโลยี, สถานที่ และวัฒนธรรมขององค์กร สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการทำงานร่วมกันของทั้งสามปัจจัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดพนักงานใหม่และรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กร ตลอดจนเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลกำไร องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความต้องการที่แตกต่างกันของพนักงานในยุคมิลเลเนียล (Millennials) และยุคอื่นๆ รวมถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากที่ทำงานและในด้านความเป็นส่วนตัว ปัจจุบันองค์กรมีการปรับสำนักงานให้พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคนิคที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ แต่อย่างไรก็ตามพนักงานยังคงต้องการความรู้สึกสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัว องค์กรสมัยใหม่ที่มองการณ์ไกลเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลง, การเพิ่มความคล่องตัวในการเชื่อมต่อ การจัดสรรพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำงานและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นโถงทางเดิน ห้องอาหาร หรือห้องประชุมย่อยที่ต้องเอื้อต่อการทำงานร่วมกันมากขึ้น อาทิ การติดตั้งระบบโซลูชั่นสำหรับห้องประชุมอัจฉริยะ จอแสดงผลแบบอินเตอร์แอคทีฟ และอื่นๆ เมื่อคนในยุคเจเนอเรชั่น ซี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน สิ่งที่พวกเขามองหาคือสิทธิในการเลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ตนเองคุ้นเคย องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำงานสู่ยุคใหม่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายด้วยนโยบายเชิงวัฒนธรรมและสร้างความประทับใจในการช่วยเปลี่ยนสังคมการทำงานสู่รูปแบบใหม่นี้ได้
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทำงานสู่ยุคใหม่คืออุปกรณ์ภายในองค์กรต้องสามารถรองรับการเชื่อมต่อเข้ากับโปรแกรมหรือระบบคลาวด์ นอกจากนี้สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมคือ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบครบวงจร (Smart vending solutions) ซึ่งช่วยให้พนักงานสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ไอทีต่างๆตั้งแต่แล็ปท็อปตลอดจนเมาส์ คีย์บอร์ด หรือชุดหูฟังได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจุดเด่นของโซลูชั่นนี้คือช่วยลดขั้นตอนเอกสารให้กับฝ่ายจัดซื้อและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้พนักงาน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมาร์ท ออฟฟิตช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มความคล่องตัว ความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มผลผลิตในการทำงาน
อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ปัญญาประดิษฐิ์ (AI) และเทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/VR) เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากหลากหลายอุตสาหกรรมเนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่ไร้พรหมแดน ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของออโตเมชั่นแบบเต็มรูปแบบ ช่วยให้การใช้งานผ่านมุมมองโลกเสมือนได้เหมือนจริงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และในปี 2019 ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงสำหรับสถาบันการศึกษา ร้านค้าปลีก และอีกมากมาย หากอ้างอิงจากผลวิจัยของ Accenture พบว่า มากกว่า 72% ของผู้บริหารธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เชื่อว่าโลกเสมือนจริงนั้นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานทุกอุตสาหกรรมในอีก 5 ปีข้างหน้า
ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยี IoT และ และแอพพลิเคชั่นต่างๆที่ถูกพัฒนาด้วย AI จะช่วยเพิ่มความสามารถในการก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนามากมายในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดเวลาในการรอห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล การควบคุมและดูแลบริการด้านสุขภาพจากทางไกล การเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบความพร้อมในการให้บริการของอุปกรณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)เพื่อลดเวลาทำงานของแพทย์ในการวินิจฉัยก้อนเนื้อ อ้างอิงจากผลการวิจัยซึ่งจัดทำขึ้นโดย Market Research คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 IoT ด้านสุขภาพ จะถูกใช้กันแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยคิดเป็นตัวเงินมากถึง 163.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 38% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2015
เทคโนโลยีเสมือนจริง(AR/VR) สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพในอนาคตได้เช่นกัน อาทิ การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/VR) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเห็นบรรยากาศภายในของโรงพยาบาลได้ก่อนเข้าไปรับการรักษาเพื่อลดความเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี VR ยังช่วยรักษาสภาพจิตใจของเด็กๆที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลด้วยความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือการทำกายภาพเพื่อให้พวกเขารู้สึกสนุกสนานและมีกำลังใจในการรักษามากขึ้น
ด้านการศึกษา การนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในห้องเรียนนั้น ช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ๆที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสได้ง่ายขึ้น เช่น นักเรียนสามารถศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่มีชีวิตอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งผ่านการออกไปท่องเที่ยวในโลกเสมือนจริง หรือ ใช้ห้องทดลองในโลกเสมือนจริงเพื่อมีส่วนร่วม หรือศึกษาและอธิบายสัตว์สายพันธ์ใหม่จากรหัสทางพันธุกรรมต่างๆ และเทคโนโลยีเสมือนจริง(AR/VR) ยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นเมื่อนำมาใช้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย, ทางการเข้าสังคม หรือ ทางการเรียนรู้ โลกเสมือนจริงจากเทคโนโลยี VR จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมต่างๆ และเติมเต็มสิ่งที่พวกเขาต้องการ หรือแม้กระทั่งสนามเด็กเล่นในจินตนาการของพวกเขา นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) ยังมีประโยชน์มาก สำหรับการศึกษาทางไกล เพราะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม โดยครูและนักเรียนสามารถสร้างคอนเทนท์ในรูปแบบ VR ของตนเองและนำมาแบ่งปันซึ่งกันและกัน
อุตสาหกรรมค้าปลีกก็เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาเป็นตัวช่วยสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ดีให้แก่ผู้บริโภคอีกทั้งยังให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการซื้อผ่านบริการอย่างการซื้อสินค้าบนโทรศัพท์มือถือ ชำระเงินผ่านระบบอัตโนมัติด้วยตัวเองทั้งที่ร้านค้าและระบบออนไลน์ การขับเคลื่อนสู่แพลตฟอร์มในธุรกิจค้าปลีกถือว่าเป็นการพลิกโฉมทางธุรกรรมที่จุดขาย เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่เป็นจุดสำคัญในการมัดใจลูกค้า ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆซึ่งช่วยในการแสดงราคาตามจริง การจัดการสต๊อกสินค้า และวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า
จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการใช้งานที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้นจึงเกิดการคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาทุกภาคส่วนธุรกิจให้ดีขึ้นในราคาเทคโนโลยีที่ถูกลง
ตลาดเทคโนโลยีเสมือนจริงในโลกยุคปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายในปีนี้คาดการณ์ว่าตลาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีโลกเสมือน (AR) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) จะมีเงินสะพัดมากถึง 27,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากผลการวิจัยของ IDC ได้เปิดเผยว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามียอดเงินสะพัดสูงขึ้นมากถึง 92% กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) ได้กลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากท่ามกลางแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ วงการเกม การสื่อสารมวลชน ภาพยนตร์ การศึกษา การกีฬาและดนตรี ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นที่ยอมรับในการฝึกอบรมและการสร้างการเรียนรู้ผ่านการจำลองภาพดิจิทัลอีกด้วย
จากความต้องการในการใช้งานเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR) ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงของสื่อบันเทิงและองค์กรธุรกิจต่างๆ เทคโนโลยี AR ได้ถูกนำมาใช้ในการอบรมและสร้างการเรียนรู้ผ่านการจำลองภาพดิจิทัลซ้อนทับบนสภาพแวดล้อมจริง เพื่อให้สามารถมองเห็นถึงรายละเอียดหรือตำแหน่งต่างๆได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และด้วยการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ความสามารถที่หลากหลายและทรงคุณค่าของนวัตกรรม AR จึงปรากฏเพิ่มมากขึ้น อาทิ การสร้างภาพจินตนาการในชีวิตจริง ระบบความช่วยเหลือระยะไกล การรับรู้และจดจำวัตถุ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้มีความคล่องตัวและการสร้างคอนเทนท์เนื้อหาที่มีประสิทธิภาพอื่นๆ ดังนั้นจากความสามารถของเทคโนโลยีดังกล่าวที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้า จะเป็นสิ่งที่เสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มคุณค่าให้แก่ธุรกิจต่างๆได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างเช่น การใช้แว่นเออาร์ (AR glasses) มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อกับข้อมูลด้านการผลิตและงานภาคสนามอย่างเรียลไทม์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดข้อผิดพลาด ให้ความถูกต้องแม่นยำ เสริมสร้างความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพของเนื้องานอีกด้วย เช่น การใช้งาน AR ในระบบความช่วยเหลือระยะไกล ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งซึ่งอาจได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานในออฟฟิศที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านทางแว่นตาได้ ทั้งนี้ด้วยระบบการจดจำวัตถุในแว่นตา AR ที่สวมใส่โดยช่างซ่อมเครื่องบินยังสามารถเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ระยะไกลเพื่อระบุชิ้นส่วนที่กำลังทำงานและดึงข้อมูลแผนงานและวัตถุที่สำคัญอื่นๆ ออกมาได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ด้วยเครื่องมือการทำงานรูปแบบใหม่ของแว่น AR จะช่วยให้พนักงานที่พึ่งเริ่มทำงานใหม่สามารถเรียนรู้การทำงานได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และเป็นไปตามทีละขั้นตอนอีกด้วย
นอกจากนี้การเชื่อมต่อระหว่างซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์จะถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อเข้ากันได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาความยุ่งยากในการใช้งานระหว่างชุดหูฟัง AR และแว่นตา AR โดยทางทีมผู้สร้างโปรแกรมและผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อาจต้องมีการจับมือร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด และภายในปีนี้คาดว่าเทคโนโลยี AR จะได้รับความสนใจจากพื้นที่สื่อเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เราอาจได้เห็นการประยุกต์ใช้ระหว่างเทคโนโลยี AR และ VR ร่วมกันผ่านการบูรณาการด้านไอทีเพื่อประโยชน์ที่มากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากนี้ มนุษย์ที่มักถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว หลายองค์กรยังต้องรับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อาทิ นโยบายการให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ทำงาน (BYOD) การเข้าถึงระบบจากการทำงานระยะไกล และการจ้างงานแบบชั่วคราว ซึ่งล้วนส่งผลให้ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กรมีประสิทธิภาพลดลง หากพนักงานละเลยหรือไม่ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบด้านการรักษาความปลอดภัย องค์กรก็มีสิทธิ์เผชิญกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัย ความสูญเสียทางการเงิน ไปจนถึงความเสียหายของชื่อเสียงได้ ถึงแม้ว่าทุกองค์กรจะมีผู้เชียวชาญด้านไอทีที่คุ้นเคยกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล แต่บางครั้งพนักงานทั่วไปก็อาจยึดเอาความสะดวกในการทำงานมาก่อนการปฏิบัติตามระเบียบ ก่อเป็นเหตุให้เกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
แม้ AI จะได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันข้อมูลที่ดีที่สุด แต่ก็เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีอื่นๆ AI ก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่อาชญากรไซเบอร์ทั้งหลายต่างหมายตาไว้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงคาดการณ์ว่าในปี 2019 เราจะได้เห็นการศึกษาและนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อหาข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัยของระบบ หรือเป็นโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยแบบครบวงจร (End-to-end security solutions) ซึ่งจะช่วยให้หาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยง่ายขึ้น โดย 4 หัวข้อด้านความปลอดภัยที่องค์กรและพนักงานในองค์กรต้องช่วยกันดูแลป้องกัน คือข้อมูล ตัวตน ระบบออนไลน์ และอุปกรณ์ การพัฒนาแผนป้องกันภัยไซเบอร์แบบองค์รวมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับต่อต้านภัยคุกคามของทั้ง4 หัวข้อดังกล่าว แนวโน้มของการยืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอนในอุปกรณ์ส่วนบุคคล ที่กำลังเปลี่ยนเป็นการยืนยันตัวตนผ่านหลายขั้นตอนนั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อองค์กรในอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยอย่างFIDO Alliance ผนึกกำลังกับ Windows Hello ในการสร้างระบบตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ในบ้านและสำนักงานที่เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ยังนำไปสู่การเกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ดังนั้นการเรียนรู้จากผู้ใช้ ผ่านทางพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเองและรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ควบคู่กัน องค์กรต่างๆควรเข้าใจถึงแรงงานที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลายเพศและอายุเพื่อให้สามารถจัดการและปกป้องอุปกรณ์ได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาระเบียบการและแนวทางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด
การใช้บริการเช่าอุปกรณ์ IT หรือ DaaS (Device-as-a-Service) ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์มากมายรวมถึงไม่ต้องคำนึงถึงอายุงานของผลิตภัณฑ์เป็นทางเลือกที่ทันสมัยสำหรับจัดการกับปัญหาด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาเริ่มซับซ้อนและเกิดบ่อยขึ้น อันเนื่องมาจากกระจายตัวของแรงงานที่ทำงานนอกสถานที่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว องค์กรจึงต้องหาโซลูชั่นที่คล่องตัว ปรับแต่งได้ และสามารถควบคุมการทำงานและความปลอดภัยของอุปกรณ์ทั้งหมดได้ จากแบบสอบถามของ Gartner ที่สอบถาม CIO ของหลายองค์กรพบว่า เกือบ 30% ของ CIO ที่ตอบแบบสอบถามกำลังมีการพิจารณานำบริการ DaaS เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ด้านอุปกรณ์ในสำนักงานของตนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมของบริการ DaaS ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความท้าทายเกิดขึ้น โดย IDC ได้เน้นย้ำถึงประเด็นที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อพูดถึงการจัดการวงจรอุปกรณ์ ซึ่งกว่าครึ่งยอมรับว่าสามารถปรับปรุงได้ โดยความท้าทายรวมไปถึงการอัพเดทข้อมูล การปรับแต่งอุปกรณ์ และความกังวลเกี่ยวกับการทำให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้อย่างปลอดภัย
ภาพ Cover โดย Manufacturing Talk Radio
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด