ปัจจุบันอาชีพ Developer เป็นอาชีพที่หลายบริษัทมีความต้องการสูง ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของ Developer ที่ทุกๆบริษัทมองหา นอกจากการทำงานเชิงเทคนิคได้แล้ว เรื่องของการสื่อสารก็เป็นทักษะสำคัญ เพราะต้องสื่อสารกับทั้งคนภายนอกและภายใน ให้สามารถเข้าใจเทคโนโลยียากๆได้ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ หลายที่จึงได้มีทีมที่เรียกว่า Dev Relations ผู้ที่จะสามารถสื่อสาร และเผยแพร่เทคโนโลยีได้
Techsauce ได้พูดคุยกับทีม LINE DEV หนึ่งใน Community ด้าน Developer ที่แข็งแรงมากแห่งหนึ่งในไทย กับการสร้าง Community เพื่อภารกิจสำคัญ คือการลดช่องว่างเทคโนโลยีกับนักพัฒนา
LINE DEV เป็น Community ที่รวมตัวของนักพัฒนาหรือ Developer คนไทย มีทั้งกลุ่ม , เพจ , Podcast และการจัดงานใหญ่อย่าง LINE Thailand Developer Conference ซึ่งจะเห็นได้ว่า LINE ได้ให้ความสำคัญกับ Developer เป็นอย่างมาก โดยคุณวีระ เกษตรสิน Head of Engineering ได้เปิดเผยถึงความสำคัญของการสร้าง Community แห่งนี้ว่า เทคโนโลยีจะสร้าง Impact ได้ต้องมีคนนำไปใช้ การนำเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ สิ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นก็คือ Developer Community โดยภารกิจที่ LINE ทำ คือพยายามลดช่องว่างกับกำแพงที่มีระหว่างเทคโนโลยีที่มีกับกลุ่ม Developer ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้
LINE จึงได้มีทีมที่ดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ นำโดยคุณวริศ วรรณวิทู Developer Relations และคุณจิรวัฒน์ กรัณย์วิทยาการ Tech Evangelist
คุณวริศได้เล่าว่า ในบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆเช่น Apple จะมีส่วนที่เรียกว่า Developer Relations หรือ Tech Evangelist หรือเรียกสั้นๆ ว่า DevRel ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ชื่นชอบ มีใจรัก ที่จะเผยแพร่เทคโนโลยี บริษัทที่มีทีม DevRel จะต้องเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง และเผยแพร่ให้คนนอกเอาไปใช้ ดังเช่น LINE ที่มีการเปิด API ให้สามารถนำไปพัฒนา Service ใหม่ๆขึ้นใช้กับ LINE ได้ ดังนั้นการที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีทีมที่ช่วยเผยแพร่
DevRel เปรียบเสมือนกับผู้เผยแพร่ลัทธิ เพื่อนำเอา API ของเรามาทำให้ประสบความสำเร็จได้
ทั้ง 3 ท่านได้เผยถึงสิ่งที่ Developer ไทยยังขาด โดยสามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
นักพัฒนาที่เก่งไม่ใช่แค่เขียน Code เก่ง แต่ต้องเป็นคนที่สามารถอธิบายผลงานของตัวเองให้คนอื่นเข้าใจและเห็นคุณค่าจากสิ่งที่ทำได้
คุณวีระได้เผยว่าทุกๆปี นอกจาก LINE Developer Day ที่ทางสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นมีการจัดขึ้นแล้ว ของไทยเราเองก็จะมีงานใหญ่ประจำปีของไทยคือ LINE Thailand Developer Conference ซึ่งเป็นงานที่รวม Developer ไทยไว้มากที่สุดงานหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ทีมได้ดำเนินการมาตลอดอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ
1. การทำ Content ให้ความรู้ สร้างเนื้อหา ที่ในหลากหลายรูปแบบ คือ
2. กิจกรรมที่ทำร่วมกับ Developer
คุณวีระแนะนำว่า ให้เริ่มจากความสนใจในการเขียน Code การแก้ปัญหา ทั้งนี้การเขียนโปรแกรมไม่ใช่เรื่องที่ยากที่สุด แต่ความเข้าใจเรื่องที่เราต้องเข้าไปแก้ปัญหาเป็นเรื่องยากกว่า ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ที่กว้าง
“หลายครั้งที่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าต้องโฟกัสและลงรายละเอียดในเรื่องอะไร ซึ่งเมื่อไม่มีการลงรายละเอียดแล้วจะทำให้ทำงานในสายอาชีพนี้ได้ยาก เพราะจะทำให้ผลิตของที่ไม่ดีออกไป Product ในสมัยนี้สามารถ Copy ได้ง่าย จากหลายที่ทำเหมือนกัน Function เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะทำให้แตกต่างคือ คุณภาพของ Product และความต่างนี้จะสร้างไม่ได้หากไม่ลงรายละเอียดกับตัวงาน” คุณวีระกล่าว
คุณวริศให้คำแนะนำว่า การสื่อสารเป็นทักษะสำคัญ ต้องออกไปทำกิจกรรม พบปะคนใหม่ ๆ ยิ่งพบปะจะมีโอกาสสื่อสาร เจอคนใหม่ๆ ได้เรียนรู้และเพิ่มทักษะการสื่อสารให้มากขึ้น และฝึกฝนด้านเทคนิคเยอะ ๆ ค่อยๆค้นหาตัวเองว่าสนใจในด้านไหน แล้วค่อยลงลึกเข้าไปในจุดที่สนใจ โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้น Developer ต้องรู้จักพัฒนาตัวเอง ติดตามข่าวสารสม่ำเสมอ และการทำงานในสายนี้การอ่านหนังสืออย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย
นอกจากการพัฒนาด้วยตนเองแล้ว ทุกภาคส่วนทั้ง รัฐ เอกชน บริษัท มหาวิทยาลัย ก็ต้องร่วมมือกันในการสร้าง Developer เก่งๆในไทย ซึ่งทีม LINE DEV ให้ความเห็นว่า ต้องมีเวทีที่สามารถทำเทคโนโลยีออกไปใช้จริง แก้ปัญหาได้จริง ถ้าอยู่ในกรอบของการแก้ปัญหาในบริษัทจะไม่สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้นได้ ถ้าเปิดเวทีให้มีการนำเสนอผลงาน ให้ช่วยกันเข้าไปดู เข้าไปแก้ปัญหา จะทำให้สามารถฝึกฝนทักษะเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น LINE เคยมีโครงการที่ให้เด็กนักศึกษาได้มาทำ Hack กัน ทำให้ได้เห็นว่าเด็กมีความเก่ง แค่มีเวทีที่ให้ได้มาแสดงออก
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนให้เร็วเช่นกัน หลักสูตรต่าง ๆ ที่สอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลกมากขึ้น ทางทีม Line Developer Relations ก็ได้มีการทำงานร่้วมกับอาจารย์หลายมหาวิทยาลัย เพื่อการปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น
โครงการหลักในการพัฒนาทักษะ คือ Line Developer Thailand พยายามให้คนเห็น Used Case ของการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการใช้งาน เพราะในการใช้งานจะรู้แต่เทคโนโลยีไม่ได้ ต้องหา Used Case มาดูว่าเทคโนโลยีถูกใช้อย่างไร มีปัญหาอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร เป็นพันธะกิจหลักในการเข้าไปผลักดันสังคม เข้าไปผลักดัน Community Developer ให้เก่งขึ้นด้วยทักษะที่มี
ทั้งนี้ยังเตรียมทำเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาให้เยอะขึ้น เข้มข้นขึ้น อ่านง่ายขึ้น เช่น Line Developer Codelabs ให้นักพัฒนา นักเรียนนักศึกษา สามารถตามได้ง่าย และ Line Rookie (โครงการรับนักศึกษาฝึกงานของ LINE ประเทศไทย) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก น้อง ๆ ที่เข้ามาฝึกงานก็ได้ลงมือทำจริง งานถูกใช้งานจริง
ทุกวันนี้การทำงาน ธุรกิจต่าง ๆ มีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ ต่างจากแต่ก่อน และยิ่งมีวิกฤติของ COVID-19 ด้วยแล้ว ธุรกิจต้องปรับตัวทันที แต่ตอนนี้ตลาดไทยแคบลง ต้องทำธุรกิจให้ไปในระดับ Global ยิ่งออกห่างจากเทคโนโลยีเท่าไหร่จะทำให้การเติบโตของธุรกิจช้ามากเท่านั้น การปรับตัวไม่ใช่ปรับแค่การลงมือหรือคน แต่ต้องปรับในเรื่องเทคโนโลยีด้วย ซึ่งเทคโนโลยีกลายมาเป็นกุญแจหลักในการปรับตัวในด้านธุรกิจ และหนีไม่พ้นการมี Developer ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ ไปวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดในธุรกิจนั้น และนำเทคโนโลยีไปใช้ในการแก้ปัญหาให้กับธุรกิจ
การสร้าง Community ของ Developer จึงเป็นภารกิจสำคัญของ LINE DEV ซึ่งเทคโนโลยีของ LINE มีอยู่มากมาย จะไม่มีความหมายถ้าไม่มี Community “A Technology Without A Community Has No Meaning” คุณจิรวัฒน์กล่าวปิดท้าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด