เผยโฉมผู้ชนะ LINE HACK 2019 โชว์ศักยภาพนักพัฒนาไทย สร้างบริการใหม่ผ่าน LINE Messaging API | Techsauce

เผยโฉมผู้ชนะ LINE HACK 2019 โชว์ศักยภาพนักพัฒนาไทย สร้างบริการใหม่ผ่าน LINE Messaging API

แข่งขันเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ LINE HACK 2019 การแข่งขัน Hackathon ครั้งใหญ่ที่ทาง LINE ประเทศไทยจัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 500,000 บาท เมื่อวันที่ 14-15 กันยายนที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้นักพัฒนา สตาร์ทอัพ รวมถึงนักเรียนและนักศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ และชื่นชอบในด้านเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมแข่งขันสร้าง chatbot ผ่าน LINE Messaging API เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมหรือไอเดียบริการใหม่ๆ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เป็นประโยชน์และสะดวกแก่ผู้ใช้งาน LINE กว่า 44 ล้านคน อีกทั้งเสริมต่อภาคธุรกิจของผู้ประกอบการน้อยใหญ่ในประเทศได้

โดยงาน LINE HACK ปีนี้ LINE ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากทั้งองค์กรภาครัฐ นำโดย depa Thailand และพันธมิตรภาคเอกชนจากคอมมิวนิตี้นักพัฒนาชั้นนำอย่าง Google Developer Group Thailand ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งในปีนี้ ได้แบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ภายใต้โจทย์ของผลงาน และเงินรางวัลที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

สำหรับนักพัฒนาทั่วไป ภายใต้ธีม Innovation for business

[สร้างบริการที่แตกต่างหรือนวัตกรรมใหม่สำหรับธุรกิจบนแพลตฟอร์ม LINE ได้อย่างน่าสนใจ]

ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศสำหรับนักพัฒนาทั่วไป รับเงินรางวัล 200,000 บาท ได้แก่ ทีม EDM ด้วยไอเดีย 'LINE ใส่ซอง' ปฎิวัติรูปแบบของงานแต่งงาน ด้วยการนำ Chatbot เข้ามาช่วยบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกเรื่องการใส่ซองหรือเงินกำนัล ผ่าน Rabbit LINE Pay พร้อมมี Dashboard ช่วยแสดงรายการและผลรวมจำนวนเงิน รวมถึงแจ้งขั้นตอนและกิจกรรมต่างๆ ภายในงานแต่งงานแก่ผู้มาร่วมงานได้อย่างเต็มรูปแบบผ่าน LINE

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สำหรับนักพัฒนาทั่วไป รับเงินรางวัล 80,000 บาท ได้แก่ ทีม NYTU ด้วยไอเดียพัฒนาอุปกรณ์กล้อง IP Camera สำหรับดูแลบ้าน สัตว์เลี้ยง และผู้สูงอายุ โดยมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้าตรวจสอบใบหน้าบุคคลต่างๆ เพื่อดูแลสอดส่องความปลอดภัยและความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและสะดวกผ่าน LINE

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สำหรับนักพัฒนาทั่วไป รับเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ ทีม Hao Haan กับไอเดียในการใช้ Chatbot เข้ามาช่วยให้ผู้ใช้งานหรือลูกค้า สามารถค้นหาและจับกลุ่ม เพื่อร่วมซื้อโปรโมชั่นที่มีสำหรับหลายๆ คนขึ้นไปมาแชร์กันได้อย่างง่ายดายผ่าน LINE

​สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ภายใต้ธีม Life on LINE

[การพัฒนาบริการที่ยกระดับชีวิตของผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทย]

ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศสำหรับนักเรียน นักศึกษา รับเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ทีม PETTO จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อกับ LINE เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเลี้ยงแมวและสุนัข แม้เวลาที่เจ้าของไม่ได้อยู่บ้าน โดยนำเอา AI มาทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบ ดูแล และแจ้งเตือนผ่าน LINE ได้อย่างลงตัว

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สำหรับนักเรียน นักศึกษา รับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ทีม FaSAC จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยการสร้างอุปกรณ์ IoT สำหรับตรวจสอบสุขภาพของต้นไม้ที่ปลูกได้อย่างสะดวกและง่ายดายผ่าน LINE และสามารถวัดอุณหภูมิ ค่าความชื้น และตัวแปรอื่นๆ เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกเติบโตได้อย่างดีที่สุด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สำหรับนักเรียน นักศึกษา รับเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีม Sis จากมหาวิทยาลัยมหิดล กับ LINE Chatbot ที่ตอบโจทย์ผู้หญิงยุคใหม่ในยุคดิจิตอลได้อย่างดี ด้วยการช่วยตรวจนับรอบเดือน ช่วยวางแผนไลฟ์สไตล์ต่างๆ เสมือนมีพี่สาวที่รู้ใจ รวมถึงช่วยแจ้งเตือนแฟนหนุ่มได้ เมื่อผู้หญิงกำลังอยู่ในช่วงวันนั้นของเดือน

ดร. พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “LINE HACK ปีนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ด้วยจำนวนทีมที่สมัครจากทั่วประเทศรวมกว่า 150 ทีม โดยเราได้คัดเลือก 20 ทีมที่ดีที่สุดมาแข่งขันร่วมกัน เรียกได้ว่าทุกทีมล้วนมีแนวคิดที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ และมีฝีมือด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่น”

​“งาน LINE HACK นี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นสำหรับพวกเขาเท่านั้น เราเชื่อมั่นว่าศักยภาพของทุกทีม ไม่ว่าจะเป็นรุ่นนักพัฒนาทั่วไป หรือรุ่นเยาวชน ยังสามารถเติบโตและสร้างประโยชน์ต่อคนไทย ต่อธุรกิจไทย และต่อสังคมไทยได้อีก และ LINEก็พร้อมที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กับนักพัฒนาไทยเหล่านี้ต่อไปอย่างแน่นอน”ดร. พิเชษฐ กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...