Mastercard วางแผนเปิดตัวระบบชำระเงินโดยใช้ระบบจดจำใบหน้า เริ่มทดลองปีหน้าใน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ไทย
Mastercard และ NEC บริษัทด้านเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าหรือ Biometrics ในการชำระเงิน สร้างมิติใหม่ของการชำระเงินแบบไร้สัมผัส เบื้องต้นจะมีการทดลองขึ้นในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
Karthik Ramanathan รองประธานอาวุโสของ Mastercard มองว่าเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับวิธีการชำระเงินแบบ Biometrics หรือแบบสแกนใบหน้า เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีความกระตือรือร้นในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยธุรกรรมของ Mastercard มากกว่า 80% ในภูมิภาคนี้ล้วนเป็นแบบ contactless หรือแบบไร้สัมผัส
ระบบ Biometrics ในบริการนี้ถูกพัฒนาโดย NEC ซึ่งได้รับการยอมรับว่าแม่นยำที่สุด จากความสำเร็จในการใช้งานบนบัตรประชาชนของประเทศสิงคโปร์และจุดตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินชางงี ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) ทำให้ระบบสามารถรองรับการปรับทิศทางใบหน้า ความละเอียด และระยะห่างของกล้องที่แตกต่างกันได้
ผู้ใช้จะต้องลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัวและภาพถ่ายใบหน้าผ่านสมาร์ตโฟนก่อนใช้งานระบบนี้ จากนั้นเมื่อชำระเงิน ก็จะสามารถจ่ายได้ง่าย ๆ เพียงแค่สแกนใบหน้าบนแท็บเล็ตที่รองรับ โดยไม่จำเป็นต้องเสียบหรือแตะบัตรเครดิตอีกต่อไป และคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานสำหรับร้านค้าเมื่อเทียบกับการใช้งานเครื่องบันทึกเงินสดแบบดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอาจก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย Mastercard ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว บริษัทได้ออก framework การทำงานมาตรฐานที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องปฏิบัติตาม
เช่น framework กำหนดให้มีการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูล Biometrics ที่บันทึกระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องจะไม่ถูกจัดเก็บประวัติเอาไว้เพื่อป้องกันการแฮ็กและการใช้งานในทางที่ผิด
แม้ว่าข้อกำหนดของระบบชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้ากับ NEC ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ Mastercard มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้การชำระเงินแบบสแกนใบหน้า และสิ่งสำคัญคือทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะสะดวกสบายเมื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้
Mastercard วางแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทค้าปลีกและดำเนินโครงการนี้ในประเทศต่าง ๆ นอกจากอินโดนีเชียและสิงคโปร์แล้ว ยังมี ไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยจะเริ่มนำร่องครั้งแรกในปี 2024
อ้างอิง: asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด