J Ventures เข้าถือหุ้นใน "พระอินทร์ ฟินเทค" เตรียมพัฒนา Payment Gateway ในระบบกู้เงินแบบ P2P | Techsauce

J Ventures เข้าถือหุ้นใน "พระอินทร์ ฟินเทค" เตรียมพัฒนา Payment Gateway ในระบบกู้เงินแบบ P2P

เมื่อวานนี้ ธปท. เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 โดยต้องเข้า Regulartory Sandbox ของ ธปท. ก่อน หลังจากผ่านการทดสอบแล้ว จึงจะให้บริการได้จริง

ล่าสุด บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ผู้ประกอบธุรกิจบริการให้คำปรึกษา พัฒนา และวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายงานเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับภาครัฐและเอกชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC (บริษัทย่อยของกลุ่ม บมจ. เจมาร์ท ผู้พัฒนา ICO ที่ชื่อว่า JFinCoin) เข้าถือหุ้นใน "บริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด" ผู้พัฒนา Payment Gateway ที่ชื่อว่า ChillPay ในสัดส่วน 18.92% มูลค่าเงินลงทุนรวม 21 ล้านบาท


อ่านประกอบ


ซึ่งบริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ MFEC การ Synergy ระหว่างบริษัทย่อยของกลุ่ม JMART และ MFEC ส่วนตัวกลุ่ม JMART เป็น Holding Company มีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด, บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด, บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน), บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และมี JVC อีกด้วย

ด้าน JVC เปิดเผยสาเหตุของการเข้าซื้อหุ้นของ พระอินทร์ ฟินเทค ว่าเป็นไปเพื่อพัฒนา Payment Gateway Solution ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ JFIN Decentralized Digital Lending Platform (JFIN DDLP) ของบริษัทฯ และเป็นแผนการดำเนินงานภายใต้ White Paper ของโครงการ JFinCoin ที่จะนำเงินระดมทุนเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว

โดย JVC เตรียมเปิดตัว Digital Lending Platform (DLP) ที่บริษัทฯ ได้พัฒนาขึ้นในภายใต้แบรนด์ “ป๋า” ซึ่งคาดว่าเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2561 นี้ และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อเนื่องเป็น Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) ที่นำเอา Blockchain เทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยตั้งเป้าแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562 ตามแผนเดิมที่วางไว้

สำหรับแผนในอนาคตของพระอินทร์ ฟินเทค มี 2 แนวทางที่ MFEC วางไว้ คือ การผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ส่วนอีกแนวทางคือ การขายหุ้นให้นักลงทุนที่มีแนวคิดการทำงานที่เหมือนกัน

โดยทาง MFEC เชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายตอบโจทย์ทั้ง MFEC จากการได้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งของกลุ่มเจมาร์ท ต่อยอดการเป็น Payment Gateway ของสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบภายใต้เครื่องหมายทางการค้า “ChillPay” ในทางกลับกันทางกลุ่มเจมาร์ท ก็จะได้ธุรกิจเพิ่มจากลูกค้าของ ChillPay ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เซ็นสัญญากับ MFEC แล้วกว่า 10 ราย จำนวนนี้บางรายมาเป็นกลุ่มบริษัท รวมๆแล้วมีลูกค้าในมือกว่า 100 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจ E-Commerce โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้ต่อไปสามารถใช้วงเงินผ่านธุรกิจ J-Money สินเชื่อของกลุ่มเจมาร์ทได้

ขณะเดียวกันยังเป็นการตอบโจทย์ระบบชำระเงิน (Payment Gateway) ของ ChillPay ที่เริ่มมีผลกระทบเชิงบวกจากการที่ธนาคารพาณิชย์ฟรีค่าธรรมเนียมการโอน แต่ ChillPay ต้องเสียค่าธรรมเนียม บริษัทฯ จึงต้องปรับตัว โดยธุรกรรมผ่าน ChillPay แต่ละปีเติบโตหลายเท่าตัว ปี 2559 มีวงเงินธุรกรรมผ่านประมาณ 100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3 เท่าตัวเป็น 300 ล้านบาทในปี 2560 และปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตเป็น 2 เท่าตัว หรือประมาณ 600 ล้านบาท

โดยคุณศิริวัฒน์ตั้งเป้าหมายรายได้การเติบโตของ บริษัท พระอินทร์ ฟินเทค จำกัด ว่า ในปี 2561 จะเติบโตถึง 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ยอดโอนเงินผ่านระบบมีเติบโตเท่ากับยอดทั้งปีของปี 2560 แต่ในแง่ของกำไรอาจไม่ได้โตเหมือนรายได้

ก่อนหน้านี้ JFinCoin ก็ปะทะกับ DevNetwork ด้วย Whitepaper หลังจากนั้นก็มีสื่อพาดพิงถึง JFinCoin อีกครั้งว่าอาการไม่สู้ดี จากราคาเริ่มต้น 6.60 บาท ผ่านไปเพียง 6 เดือน เหลือเพียงประมาณ 1.70 บาทเท่านั้น น่าติดตามว่าธุรกิจใหม่ของกลุ่ม JMART หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

หมายเหตุจาก Techsauce: การลงข่าวที่เกี่ยวข้องกับ ICO และ Cryptocurrency เป็นไปเพื่ออัพเดทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การชี้ชวนให้ลงทุนแต่ประการใด การลงทุนในช่องทางดังกล่าวเป็นวิจารณญาณและการตัดสินใจของผู้อ่านข่าวเอง “การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

ความเห็นกองบรรณาธิการ

Photo: StockSnap.io

ข่าวนี้ จริงๆ คือการร่วมลงทุนในบริษัทผู้พัฒนาระบบ Payment แต่ระบบ Payment นี้จะถูกไปใช้ใน "ธุรกิจที่เปิดให้กู้ยืมเงินระหว่างบุคคลถึงบุคคล" หรือ "Peer-to-Peer Lending Platform" (P2P Lending) ซึ่งทำให้เราสนใจว่าหลังจากนี้ เมื่อธุรกิจนี้เข้ามาในไทย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

หากพูดถึงข้อดีหรือข้อเสียสำหรับการเปิดช่องให้ธุรกิจ P2P Lending สามารถประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้นั้น สามารถมองได้ในหลายแง่มุมหากมองในแง่ดีก็คือ การเปิดกว้างให้บริษัท Startup ด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech Startup สามารถประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อปัญหาในชีวิตประจำวันของคนได้มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐ หรือแม้แต่แหล่งเงินกู้ของเอกชนได้ เนื่องจากด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เอกสารไม่ครบ เงินเดือนยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด อายุไม่ถึง เป็นต้น

แต่หากพูดถึงข้อเสียหรือข้อกังวลที่เกิดขึ้น ต้องบอกก่อนว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นที่นิยมในประเทศจีนมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ก็เราจะได้ยินข่าวหรือรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น โดยปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นขึ้นหลังจากเปิดให้บริการ P2P Lending คือ ผลสำรวจจากธนาคารเพื่อการลงทุนของจีน (CICC) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วยอดคงค้างของสินเชื่อเพื่อการบริโภค (Consumer Loans) ของจีนเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปี 2560 ที่ผ่านมามูลค่าหนี้ครัวเรือนของจีนสูงถึง 33 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

รายงานจาก Financial Times วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตรวดเร็ว ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ที่พยายามวิ่งหนีจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนจีนรุ่นเก่า ด้วยการกู้เงินมาจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต่างๆ เปิดกว้างให้เด็ก ๆ สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายขึ้น ต่างธนาคารแบบเดิมที่ต้องการขอเอกสารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่มีช่องทางกู้เงินออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นมากนับ 100 ราย

หนึ่งในวิธีการกู้ที่วัยรุ่นจีนนิยม คือ P2P Lending หรือ ระบบสินเชื่อออนไลน์ เป็นการปล่อยกู้ตรงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยไม่ต้องมีธนาคารเป็นตัวกลาง ผู้ให้บริการอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกค้า การจับจ่ายใช้สอย ความตรงต่อเวลาในการจ่ายหนี้ ฯลฯ ไม่ใช่การปล่อยกู้จากหลักทรัพย์ค้ำเหมือนรูปแบบดั้งเดิม

“ตียีหวังไต๋” บริษัทวิจัยในจีนยังระบุด้วยว่า ปีที่แล้วยอดสินเชื่อคงค้างใน P2P Lending มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน ถือว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงถึง 37 เปอร์เซ็นต์และยังมีค่าปรับเพิ่มหากจ่ายเกินเวลากำหนด

ซึ่งนี่คือข้อเสียจากการเปิดธุรกิจดังกล่าวในจีน หากหลังจากนี้ในไทยไม่มีการกำกับดูแลที่รัดกุมพอ อาจทำให้เกิดภาพแบบในจีนได้ ผู้กำกับดูแลธุรกิจในไทยทั้ง ธปท. กระทรวงการคลัง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงไม่อาจเลินเล่อได้เลยหลังจากนี้

ซึ่งแน่อนหลังจากนี้ เราไม่อาจห้ามกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงได้ หากใครต้องการทดลองใช้ P2P Lending จริงๆ อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า บริการนั้นเข้าสู่การทดสอบ Regulatory Sandbox  ของ ธปท. แล้วหรือยัง ประกอบด้วยน่าจะเป็นการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดในเวลานี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

RML ตั้ง เบร็นตัน มอเรลโล นั่งเก้าอี้ CEO คนใหม่แห่งอสังหาชั้นนำฯ ลุยกลยุทธ์บุกตลาดโลก

บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี่ และอัลตร้าลักชัวรี่ชั้นนำของไทย ประกาศแต่งตั้ง เบร็นตัน จัสติน มอเรล ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานเ...

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...