Microsoft ประเทศไทย ชูความสำคัญของการสร้างความไว้วางใจในแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในเชิงเทคโนโลยีและกลยุทธ์ เน้นย้ำบทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการวางนโยบายให้สังคมได้เติบโตเคียงข้างนวัตกรรม AI อย่างมั่นคง พร้อมเผยผลสำรวจมุมมองผู้บริโภคไทยในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
ปัจจุบัน แพลตฟอร์มบริการและการทำธุรกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้ถูกยกระดับสู่ระบบดิจิทัลกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เห็นได้จากกลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลสูงที่สุดในโลก จึงทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมารับรู้ถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในโลกออนไลน์ โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้มาจากกลุ่มอาชญากรไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหละหลวมขององค์กรธุรกิจอีกด้วย
คุณโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะพากันหันมาเลือกใช้งานบริการดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่ายังมีช่องว่างที่ต้องเติมเต็มอยู่ในด้านความไว้วางใจ โดยผลสำรวจของไอดีซีพบว่าผู้บริโภคจำนวนมากยังขาดความมั่นใจในศักยภาพขององค์กรต่างๆ ว่าจะสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาให้ปลอดภัย หรือไม่นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน การประกาศใช้กฎหมายใหม่ๆ อย่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ธุรกิจต้องเดินหน้าปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง ชัดเจน เสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ”
Microsoft ร่วมกับ IDC เผยผลวิจัยด้านความเชื่อมั่นใน Digital Security ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับผู้บริโภค โดยประเด็นที่น่าสนใจจากผู้บริโภคชาวไทยมีดังนี้
ขณะเดียวกัน อาชญากรไซเบอร์ยังคงมุ่งจู่โจมทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยรายงาน Security Intelligence Report (SIR) ฉบับที่ 24 ของไมโครซอฟท์ สรุปว่าภัยร้าย 4 อันดับแรกสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ได้แก่มัลแวร์ทั่วไป สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 107 เปอร์เซ็นต์ มัลแวร์ที่ขุดสกุลเงินดิจิทัล สูงกกว่าค่าเฉลี่ยโลก 133% มัลแวร์เรียกค่าไถ่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 140 เปอร์เซ็นต์ และการหลอกล่อด้วยเว็บไซต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก33 เปอร์เซ็นต์
“ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ จากหลายช่องทาง ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรเอง การสร้างความไว้วางใจในกลุ่มผู้บริโภคจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับทุกองค์กร” นายโอมกล่าวเสริม “งานวิจัยฉบับนี้ยังระบุอีกว่าผู้บริโภคไทยถึง 42 เปอร์เซ็นต์ เคยพบกับปัญหาในการใช้งานบริการดิจิทัลที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจ โดยที่ผู้บริโภคกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้ตัดสินใจหันไปใช้บริการคู่แข่งแทนเมื่อต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ขณะที่ 33% จะหยุดใช้บริการไปอย่างเด็ดขาด”
การลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศไทยบนเส้นทางสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ด้วยการตีกรอบให้ชัดเจนว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิใดบ้างเหนือข้อมูลนั้นๆ วางแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูล พร้อมกำหนดขั้นตอนที่องค์กรหรือผู้ให้บริการจะต้องกระทำในกรณีที่เกิดเหตุข้อมูลรั่วไหลขึ้น จึงถือเป็นการกำหนดมาตรฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูลประเภทนี้ในประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
“การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นฐานรากสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องมี ก่อนที่จะเปิดรับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่าง AI ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม” นายโอมกล่าว “ขณะนี้ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังคงอยู่ในช่วงการรอประกาศใช้ โดยจะมีระยะเวลาผ่อนผันให้ภาคเอกชนได้ปรับตัวหลังจากที่บังคับใช้แล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาดองค์กร ได้ลงมือศึกษาข้อกฎหมายโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็น พรบ. ฉบับนี้ของไทย หรือกฎหมาย GDPR ที่บังคับใช้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อปรับแนวทางการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ ปูทางไปสู่การพัฒนาธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง และรักษาฐานลูกค้าให้เหนียวแน่นด้วยความพร้อมในทั้ง 5 ปัจจัยหลัก”
“หนึ่งในองค์ประกอบหลักที่จะช่วยให้องค์กรปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน คือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานทั้งในด้านความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย เสถียรภาพ และการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในระดับนานาชาติ ไมโครซอฟท์เองพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนภาคธุรกิจในด้านนี้ด้วยแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ในด้านนี้อย่างครบถ้วน”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด