Microsoft Teams เตรียมเปิดฟีเจอร์ 'วุ้นแปลภาษา' แบบเรียลไทม์ | Techsauce

Microsoft Teams เตรียมเปิดฟีเจอร์ 'วุ้นแปลภาษา' แบบเรียลไทม์

Microsoft เตรียมพัฒนา Microsoft Teams ด้วยฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลียนเสียงของตัวเองเพื่อใช้ในการประชุม พร้อมรองรับการพูดคุยในหลากหลายภาษา

ในงาน Microsoft Ignite 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Microsoft ได้เผยโฉมฟีเจอร์ใหม่ใน Teams ชื่อ “Interpreter” ซึ่งเป็นระบบแปลภาษาแบบเรียลไทม์ที่สามารถจำลองเสียงพูดของผู้ใช้ในภาษาอื่นได้ถึง 9 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน ญี่ปุ่น เกาหลี โปรตุเกส จีนกลาง และสเปน โดยฟีเจอร์นี้จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในต้นปี 2025 

“ลองจินตนาการว่าคุณสามารถพูดในภาษาอื่นได้ด้วยเสียงที่เหมือนตัวคุณเอง” Jared Spataro ประธานฝ่ายการตลาดของ Microsoft กล่าวในบล็อกโพสต์ พร้อมอธิบายว่า Interpreter in Teams ฟีเจอร์ใหม่ใน Microsoft Teams จะช่วยแปลภาษาให้แบบเรียลไทม์แถมยังทำให้เสียงเราพูดภาษาอื่นได้ด้วยเหมือนมีล่ามส่วนตัวคอยแปลให้แต่เป็นเสียงเราเอง 

ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ

แม้ Microsoft จะยังไม่ได้ให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับฟีเจอร์นี้ แต่ได้ยืนยันว่า Interpreter in Teams จะไม่เก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ของผู้ใช้ และไม่เพิ่มอารมณ์หรือข้อความใดๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเสียงต้นฉบับ ซึ่งฟีเจอร์นี้ยังสามารถปิดการใช้งานได้จากการตั้งค่าใน Teams

“ฟีเจอร์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อถ่ายทอดข้อความของผู้พูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด โดยไม่ใส่การตีความเพิ่มเติม” พร้อมเสริมว่าการเปิดใช้งานเสียงจำลองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้ให้ความยินยอมผ่านการแจ้งเตือนหรือการตั้งค่า

โอกาสและความท้าทายของ AI แปลภาษา

Microsoft ไม่ใช่บริษัทเดียวที่พัฒนาเทคโนโลยีโคลนเสียง Meta เองก็ได้เริ่มทดสอบเครื่องมือแปลเสียงใน Instagram Reels ขณะที่ ElevenLabs มีแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างเสียงพูดหลายภาษาที่ทรงพลัง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีแปลภาษา AI ยังมีข้อจำกัด เช่น การแปลที่ไม่อาจสื่อถึงความหมายได้อย่างแม่นยำเท่ามนุษย์ แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า หลายองค์กรก็ยอมรับข้อจำกัดนี้เพื่อแลกกับความคุ้มค่า โดยข้อมูลจาก Markets and Markets ระบุว่า อุตสาหกรรมการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) รวมถึงเทคโนโลยีการแปลภาษา มีมูลค่าที่อาจสูงถึง 35.1 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2026

ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การโคลนเสียงยังมีประเด็นด้านความปลอดภัยที่น่ากังวล ยกตัวอย่างเช่น Deepfake ซึ่งถูกนำไปใช้แพร่กระจายข้อมูลเท็จหรือแอบอ้างบุคคล เช่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนักร้องชื่อดัง เทย์เลอร์     สวิฟต์ ซึ่งได้รับยอดวิวและการแชร์นับล้านครั้ง รวมถึงการหลอกลวงทางการเงินที่สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

แม้ Microsoft จะออกแบบ Interpreter in Teams ให้ใช้งานได้เฉพาะบางกรณี แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่เครื่องมือนี้จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การนำคลิปเสียงปลอมมาขอข้อมูลสำคัญ ในอนาคต Microsoft น่าจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันที่พัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้ฟีเจอร์นี้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สภาพัฒน์ฯ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 67 โตเกินคาด 3% แต่ยังรั้งท้ายในอาเซียน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2567 ส่งสัญญาณบวกด้วยการขยายตัว 3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.4-2.7% สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่แข็งแก...

Responsive image

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เดินหน้าควบคุม Google ยื่นคำร้องขาย Chrome หวังสกัดการผูกขาดตลาด Search Engine

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลให้ Google ต้องขายเบราว์เซอร์ Chrome แยกจากบริษัท หลังศาลตัดสินว่า Google ละเมิดกฎหมายการผูกขาดตลาด Search Engine...

Responsive image

TikTok ประกาศลุยสู่เป้าหมายเป็น 'บริษัทที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก' ท่ามกลางวิกฤตแบนสหรัฐฯ

Shou Zi Chew ซีอีโอ TikTok ประกาศเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก ท่ามกลางกระแสแบนในสหรัฐฯ และความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูลในยุโรปและแคนาดา พร้อมลงทุนเสริมความปลอ...