สื่อต่างประเทศรายงานว่า University of Oxford ได้เผยแพร่รายงาน Com-Cov ที่ลองเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกันในแต่ละโดส พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบผสมผสาน หรือการจับคู่วัคซีนหลายยี่ห้อ มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อมากกว่าการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันทั้ง 2 โดส
โดยการทดลอง Com-Cov ได้ให้อาสาสมัครทดลองรับวัคซีน Pfizer ทั้ง 2 โดส รับวัคซีน AstraZeneca ทั้ง 2 โดส หรือฉีดวัคซีน ต่างยี่ห้อทั้งในโดสแรกและโดสที่สอง ผลทดสอบพบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ทั้งสิ้น และบรรเทาปัญหาการขนส่งกระจายวัคซีนที่ล่าช้าอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลการศึกษายังบ่งบอกอีกว่า แม้ว่าประชาชนได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 โดสแล้ว หากรับวัคซีนกระตุ้นเพิ่มจากยี่ห้ออื่นอีก ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ขณะนี้ มีสองประเทศได้ใช้วิธีการฉีดวัคซีนดังกล่าวไปแล้ว โดยประเทศสเปนและเยอรมนีก็มีการใช้วิธีการฉีดวัคซีนแบบผสม เพื่อให้กลุ่มคนที่มีอายุน้อยที่เคยรับวัคซีน AstraZeneca โดสแรก ได้รับวัคซีนโดสที่สองเป็น Pfizer หรือ Modernaที่ไม่ใช่ Astra Zeneca เพื่อติดตามปัญหาภาวะลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นจากวัคซีน AstraZeneca ว่าจะบรรเทาลงหรือไม่
ทางด้านศาสตราจารย์ Jonathan Van-Tam รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของสหราชอาณาจักร ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแบบผสมผสานว่าจะเป็นการบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ เพราะจะทำให้กระจายวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็ไม่มีแผนการที่จะจัดตารางการรับวัคซีนใหม่เพราะมองว่าการรับวัคซีนแบบที่เป็นอยู่ก็มีประสิทธิภาพดี
นอกจากนี้ ผลการทดลองยังแสดงให้เห็นว่า การรับวัคซีนโดสที่ 3 ที่เป็นโดสกระตุ้น (booster shot) เป็นยี่ห้อที่แตกต่างจากเดิม อาจเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งขึ้นได้ การทดลองนี้จึงสรุปเบื้องต้นให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนแบบผสมผสานจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า และการฉีดวัคซีนโดสที่สามเป็นยี่ห้อที่แตกต่างจากสองโดสแรกก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวยังไม่มีการตรวจสอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรับวัคซีนแบบผสม จึงต้องมีการตรวจสอบผลข้างเคียงเพิ่มเติมต่อไป
อ้างอิง : BBC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด