หมอชนะ แอปติดตามโดยไม่ต้องเช็กอิน รักษา Data Privacy แจ้งเตือนความเสี่ยงได้ทันเวลา | Techsauce

หมอชนะ แอปติดตามโดยไม่ต้องเช็กอิน รักษา Data Privacy แจ้งเตือนความเสี่ยงได้ทันเวลา

หลังจากเกิดเหตุการณ์ผู้ติดเชื้อที่ระยอง เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้เห็นการทำงานของแอป ‘หมอชนะ’ ที่มีการแจ้งเตือนไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นไว้บนโทรศัพท์อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงนั้นรู้ตัว ป้องกันตัวเอง และสามารถที่จะไปตรวจได้ทันที ซึ่งแน่นอนว่าภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างง่ายดายนั้น ‘ความเร็ว’ ในการแจ้งเตือนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในการป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้าง Techsauce จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอชนะ และจะพาทุกคนนั้นไปรู้จักกับแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนความเสี่ยงแบบ Real-time ว่ามีจุดเริ่มต้นได้อย่างไร ระบบมีกลไกการทำงานอย่างไรบ้าง และไขข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ ที่หลายคนอาจมีความกังวล

จุดเริ่มต้นของ ‘หมอชนะ’

ในเดือนกุมภาพันธ์ เราได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มแตะหลักร้อยต่อวัน ซึ่งในตอนนั้นก็มีหลายกลุ่มพยายามที่จะหาโซลูชั่นต่างๆ เราจึงได้ไปชักชวนกลุ่มอาสาสมัครอื่นๆ มาร่วมพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอชนะด้วยกัน ซึ่งก็ได้ความร่วมมือจากกลุ่มอิสระ อย่าง Code for Public และ Blockfint รวมถึงการร่วมมือจากภาครัฐ อย่าง สำนักเงินส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa), สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มใหญ่ที่สำคัญคือกลุ่มของภาคเอกชนที่รวมกลุ่มกันหรือที่เรียกกันว่า กลุ่มช่วยกัน ซึ่งก็มีหลากหลาบริษัทเข้าร่วม เช่น EA หรือมหาลัยต่างๆ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาลัยธรรมศาตร์ เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เร่งพัฒนาแอปหมอชนะขึ้นมาให้ประชาชนใช้ในเวลาไม่ถึงอาทิตย์

ออกแบบโซลูชั่นอย่างไรให้ตอบรับกับการแพร่ระบาดแบบ Exponential Growth?

เนื่องจากตัว COVID-19 นั้นมีระยะเวลาเพาะเชื้อ 14 วัน ซึ่งภายในระยะเวลา 14 วันนี้ หากผู้ติดเชื้อนั้นออกไปข้างนอก ก็จะแพร่กระจายไวรัสไปสู่ผู้อื่นต่อไปเป็นทอดๆ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็กินเวลาไปประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อนั้นเพิ่มขึ้นแบบ Exponential Growth

ทำให้เป้าหมายของหมอชนะก็คือการสร้างระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดภายใต้ระยะการฝักตัวของเชื้อ COVID-19 ที่มีเวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นหมอชนะจึงได้นำเทคโนโลยีหลายๆ ตัวเข้ามาใช้ร่วมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น GPS, Bluetooth และ QR Code Scanning เนื่องจากอุปกรณ์สื่อสารนั้นมีค่อนข้างหลากหลายรูปแบบและมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแอปหมอชนะจึงต้องใช้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างมาประมวลผลเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะทำให้ขนาดของกลุ่มเสี่ยงนั้นมีขอบเขตจำกัด 

หากเรากำหนดกลุ่มเสี่ยงโดยใช้สถานที่อย่างเดียว กลุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก อย่างเช่น หากถ้าผู้ติดเชื้อไปห้างๆ หนึ่ง แล้วเรากำหนดให้กลุ่มเสี่ยงนั้นเป็นคนที่ไปห้างนั้นทั้งหมด ซึ่งภายใน 14 วัน ผู้ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ก็ได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ มากมาย ทำให้ความเสี่ยงนั้นกระจายออกไปเรื่อยๆ เป็นวงกว้าง ทำให้คนจำนวนมากนั้นต้องกักตัว ดังนั้นสิ่งที่หมอชนะนั้นได้ทำคือการทำให้กลุ่มเสี่ยงนั้นเล็กที่สุด เพื่อให้คนในสังคมนั้นยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะในตอนนี้ผู้คนนั้นไม่ได้พบกับปัญหาจาก COVID-19 อย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของปัญหาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ 

ปฎิเสธไม่ได้ว่าการล็อกดาวน์นั้นส่งผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก การระบุกลุ่มเสี่ยงจากพื้นที่นั้นอาจจะทำให้คนจำนวนพันถึงหมื่นนั้นต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่ถ้าเรามีเทคโนโลยีที่ดี ผสมผสานการใช้งานจาก GPS, Bluetooth และอื่นๆ รวมกัน จะทำให้จำนวนคนที่ต้องล็อกดาวน์เหลือแค่หลักสิบ

   ระบบยิ่งดีเท่าไหร่ จะต้องล็อกดาวน์จำนวนคนน้อยที่สุด

การป้องกันที่ดีจะต้องลดความเสี่ยงในการติดตั้งแต่แรก ทำให้ในระบบของหมอชนะนั้นมี QR ของแต่ละบุคคลที่แสดงสีความเสี่ยง เพื่อให้สถานที่ต่างๆ นั้นสามารถดูได้ว่าบุคคลใดมีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายในพื้นที่ 

เทคโนโลยีแบบ Real-time แจ้งเตือนได้ทันเวลา

โจทย์หลักของหมอชนะคือการทำโซลูชั่นที่จะป้องกันคน 70 ล้านคน ดังนั้น Software Architecture ที่ได้พัฒนาขึ้นมานั้นจะสามารถรองรับคนจำนวนมากได้ ซึ่งในขณะนี้แอปหมอชนะนั้นก็มีผู้ใช้ที่ Active อยู่จำนวนประมาณ 4 แสนคน ทำให้หมอชนะนั้นเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดในการทำ Track และ Tracing ได้แบบ Real-time

หากมีการติดเชื้อจำนวนมาก แน่นอนว่ากำลังคนในการติดต่อผ่านการโทรไปหาผู้มีกลุ่มเสี่ยงนั้นคงไม่เพียงพอ ดังนั้น หมอชนะจึงได้พัฒนาตัว Algorithm และ Automation ทำให้ระบบนั้นสามารถจะเตือนความเสี่ยงแบบ Real-time ได้ในตัวของมันเอง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถรู้ความเสี่ยงของตัวเอง ได้ทันที โดยไม่ต้องไปย้อนดูว่าได้เดินทางไปที่ไหนมาบ้างหรือใกล้ชิดกับใครมาบ้าง เพราะการแพร่ระบาดในครั้งนี้เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อที่ติดได้อย่างรวดเร็วและง่ายต่อการติดเชื้อ หากเรารู้เร็วก็สามารถที่จะป้องกันไม่ให้การระบาดนี้แพร่ขยายไปในวงกว้าง

หมอชนะ-ไทยชนะ แตกต่างกันอย่างไร?

หมอชนะนั้นถูกออกแบบมาเพื่อเน้นการติดตามแบบเป็นรายบุคคลเป็นหลัก ทำให้การทำงานของหมอชนะนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฟีเจอร์หลัก ๆ คือ

  1. Geolocation หรือ GPS: ระบบนั้นสามารถที่จะติดตามพิกัดของผู้ใช้
  2. Bluetooth: หากผู้ใช้นั้นเปิดตัว Bluetooth ก็จะทำให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นว่าผู้ใช้นั้นเข้าใกล้กับผู้ใดบ้าง
  3. QR Code: ผู้ใช้สามารถที่จะสแกนทั้ง QR Code ของผู้ใช้คนอื่นและของสถานที่ที่มี QR Code ของหมอชนะและไทยชนะ โดยผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์หรือไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถที่จะทำ QR Code ของตัวเองขึ้นมาและปริ้นท์ออกมาเพื่อให้ผู้อื่นสามารถสแกนได้เช่นกัน

เมื่อผู้ใช้นั้นเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และ 3 วันหลังจากนั้นได้ตรวจพบเชื้อ ทางหมอชนะนั้นก็จะมาร์กเส้นทางที่ผู้ใช้นั้นเดินทางไปและทำการแจ้งเตือนให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้นได้รู้ พร้อมส่งแบบประเมินอาการให้ทำ 

ดังนั้น หมอชนะจึงเป็นแอปพลิเคชั่นที่ครบวงจรทั้งผู้ใช้และร้านค้าต่างๆ แก้ปัญหาการเช็กอินเช็กเอาท์ ถึงแม้ว่าผู้ใช้นั้นจะไม่ได้เช็กอินเข้าสถานที่ต่างๆ แต่ทางระบบนั้นก็สามารถที่จะติดตามได้เมื่อพบผู้ติดเชื้อ และสำหรับฝั่งของร้านค้า ร้านค้าสามารถที่จะขอดูความเสี่ยงของผู้ใช้ผ่านทาง QR Code ได้ เพื่อที่จะป้องกันผู้ที่มีความเสี่ยงจากการเข้าใช้สถานที่ต่าง ๆ

แต่สำหรับไทยชนะ ที่เน้นการติดตามในแบบสถานที่ นับจำนวนคนเข้าออก และต้องการความร่วมมือของประชาชนในการสแกน QR Code ซึ่งจะมีระบบการติดตามที่ต่างกันไป สำหรับหมอชนะนั้น ระบบจะแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ แต่ไทยชนะจะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อคนที่มีการเช็กอินสถานที่นั้น ๆ และติดต่อไปอีกที

แต่ความท้าทายในตอนนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีของหมอชนะนั้นดีเท่าใด แต่ถ้าจำนวนผู้ใช้นั้นมีไม่เยอะ ก็จะทำให้ระบบนั้นไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในตอนนี้หมอชนะนั้นมีผู้ใช้งานอยู่จำนวน 400,000 คนเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 70 ล้านคน ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่น้อย ซึ่งถ้าทางหมอชนะนั้นมีโอกาสนำโปรแกรมไปร่วมมือกับทางไทยชนะที่มีการใช้งานที่แพร่หลายมากกว่า และนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกัน ก็เชื่อว่าจะทำให้การป้องกันและการติดตามนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่านี้หลายเท่า ซึ่งประชาชนก็สามารถช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้โดยการโหลดและติดตั้งแอปนี้ไว้บนโทรศัพท์ของทุกคน

ไม่จัดเก็บข้อมูลรักษา Data Privacy พร้อมตรวจสอบด้วย Open Source

สำหรับหมอชนะแล้วเป็นโปรแกรมที่รักษา Data Privacy ของผู้ใช้มาก โดยจะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลใด ๆ ของผู้ใช้เลย ซึ่งทางระบบนั้นจะเห็นตัวผู้ใช้บนโปรแกรมเป็นรูปแบบจุดๆ เท่านั้น นอกจากนี้ทางหมอชนะยังใช้ซอฟต์แวร์แบบ Open Source ซึ่งเปิดให้ใครก็ได้สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ว่าทางแอปนั้นไม่ได้ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ หรือนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ

แอปใหม่ ติดตามการเข้าสถานที่เพียงติดตั้งอุปกรณ์ไว้ตามร้านค้า และเปิด Bluetooth จากโทรศัพท์

ซึ่งในตอนนี้ทางผู้พัฒนาหมอชนะนั้นก็กำลังที่จะพัฒนาแอปตัวใหม่ออกมา ที่ทำให้สถานที่ต่างๆ สามารถติดตั้งอุปกรณ์ Beacon และถ้าหากผู้ใช้นั้นเปิด Bluetooth ข้อมูลการเข้าใช้สถานที่ต่างๆ ก็จะถูกจัดเก็บทันทีโดยไม่ต้องสแกน QR Code ซึ่งจะเหมาะกับสถานที่ต่างๆ อย่างสถานการศึกษา โรงงาน หรือบริษัท โดยเป้าหมายของ Beacon ตัวนี้ก็คือการทำให้กลุ่มเสี่ยงนั้นมีขนาดที่เล็ก ทำให้เมื่อพบผู้ติดเชื้อก็จะสามารถที่จะระบุกลุ่มเสี่ยงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ จากการล็อกดาวน์ทั้งบริษัทหรือทั้งโรงงาน ซึ่ง Beacon นั้นมีระยะการใช้งานที่ค่อนข้างนาน หากติดตั้งแล้วแบตเตอรี่สามารถใช้ได้นานถึง 2-5 ปี

การแจ้งเตือนความเสี่ยงในกรณีผู้ติดเชื้อที่ระยอง

เนื่องจากในกรณีที่ระยอง ผู้ติดเชื้อชาวอียิปต์นั้นไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น ทำให้ทางผู้พัฒนานั้นต้องเพิ่มข้อมูลของสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไปเข้าไปในระบบหลังบ้านของหมอชนะ ซึ่งระบบของหมอชนะก็จะทำการประมวลออกมาว่าในช่วงที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ นั้นมีใครบ้าง โดยจะออกมาในรูปแบบของ Anonymous ID และส่งการแจ้งเตือนไปที่ Annonymous ID เหล่านี้ ซึ่งในตอนแรกก็มีจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่ทางหมอชนะพบอยู่แค่ 10 คนเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดายมาก ซึ่งหมอชนะก็อาจจะต้องมีการโปรโมตที่มากขึ้นหรือถ้าหากมีผู้เดินทางมากจากนอกประเทศ ก็อาจจะให้ดาวน์โหลดแอปหมอชนะไว้ เพื่อที่จะทำให้การแจ้งเตือนและการติดตามนั้นมีความละเอียดและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ทั้งนี้ทางผู้พัฒนานั้นได้ฝากทิ้งท้ายไว้ให้กับทุกคนในการช่วยกันโปรโมทและช่วยกันดาวน์โหลดหมอชนะมาใช้ เพื่อป้องกันทั้งตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมจากไวรัส COVID-19 นี้ รวมถึงเพื่อเป็นการช่วยเพิ่ม Data ให้กับทางระบบหมอชนะในการที่จะสามารถติดตามและประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้กลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวนั้นมีจำนวนเล็กลง ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่น้อยลงและไม่ต้องมีการล็อกดาวน์อย่างเช่นเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา และอยากให้มั่นใจว่าทางหมอชนะนั้นไม่มีการละเมิดความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวใดๆ จากการทำงานในรูปแบบ Anonymous ID เพียงแต่การใช้ GPS และ Bluetooth นั้นอาจจะมีการกินแบตโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็อยากจะให้ประชาชนทุกท่านนั้นดาวน์โหลดแอป ‘หมอชนะ’ นี้มาใช้เพื่อพาประเทศไทยผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สามารถรับชมการพูดคุยกับผู้พัฒนาแอปหมอชนะแบบเต็ม ๆ ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=Gz5VnTS7CBU

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...