MQDC มุ่งพัฒนานวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย เปิดตัวศูนย์วิจัยเพื่อความยั่งยืนเต็มรูปแบบ | Techsauce

MQDC มุ่งพัฒนานวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย เปิดตัวศูนย์วิจัยเพื่อความยั่งยืนเต็มรูปแบบ

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับสากล เตรียมเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย บนพื้นที่ราว 1,000 ตารางเมตร มีมูลค่าการลงทุนเริ่มต้นกว่า 200 ล้านบาท โดยจะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 25 ธันวาคม 2560 นี้ ตั้งเป้ายกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ ให้เน้นการพัฒนาโครงการให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์ริสค์ หรือที่เรียกว่า RISC กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ลงทุนและดำเนินการบริหารโครงการที่พักอาศัยแนวราบ คอนโดมีเนียม และโครงการมิกซ์ยูสคอมเพล็กซ์ ภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ (Magnolias) และ วิสซ์ดอม (Whizdom) ได้เริ่มลงทุนก่อสร้างศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปีที่ 2559 และจะพร้อมเปิดพื้นที่วิจัยนี้ให้กับทุกคน ทุกองค์กร ที่สนใจด้านการพัฒนาและก่อสร้างอย่างยั่งยืน

"RISC จะทำการวิจัยภายใต้หลักการ "นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน" เราจะพยายามค้นคว้าวิจัยให้บรรลุเป้าหมายทางความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ"

รศ. ดร.สิงห์ กล่าวว่า "บริษัทได้ทุ่มทุนกว่า 200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการรองรับกิจกรรมวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่แบบครบวงจร โดยเฉพาะส่วนของห้องแล็บและศูนย์ทดสอบได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยไว้พร้อมรองรับการใช้งานให้ทีมงานนักวิจัยได้สามารถทำการศึกษา ค้นคว้าและทดสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในพื้นที่ 1,000 ตรม ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ประกอบไปด้วย ห้องทดสอบการใช้งานของงานระบบต่างๆ อาทิ เช่น ห้องทดสอบประสิทธิภาพของงานระบบปรับอุณหภูมิใต้แผ่นปูพื้นหรือ radiant flooring ซึ่งระบบนี้จะทำหน้าที่ช่วยปรับอุณหภูมิภายในห้องให้เหมาะสมและลดการใช้พลังงาน ห้องทดสอบสภาวะอากาศ ห้องทดสอบระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับสารระเหยจากวัสดุตกแต่งในอาคาร "

ศูนย์ RISC จะเป็นเสมือนห้องค้นคว้าของประชาชนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน เป็นที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยศูนย์ RISC ได้รวบรวมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับงานก่อสร้าง จำนวนกว่า 300 ชิ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมทั้งเป็นแหล่งรวมงานดีไซน์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภายในศูนย์ RISC ยังประกอบไปด้วย ห้องทดสอบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีต่อวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่งต่างๆ มีห้องทดสอบระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนและแสง ตลอดจนแล็ปทดสอบการใช้งานของวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

 "สำหรับตัวศูนย์ฯ เองก็ได้มีการก่อสร้างและตกแต่งด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกชิ้น โดยที่นี่ถือเป็นสำนักงานแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย the WELL Building Standard from the International WELL Building Institute (IWBI) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการรับรองอาคารที่ส่งเสริมสุขภาวะ โดย IWBI พิจารณาให้ใบรับรองการออกแบบและก่อสร้างที่พิถีพิถัน ทั้งทางด้านคุณภาพอากาศ แสงสว่าง น้ำ พื้นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย รวมทั้งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น เราได้นำเอาวัสดุที่ทำจากเปลือกไข่อัพไซเคิลมาเป็นวัสดุพื้นผิวโต๊ะและเคาน์เตอร์ วอลเปเปอร์ฟอกอากาศ และสีทาภายในอาคารปลอดสารระเหย รวมถึงวัสดุตกแต่งทุกชนิดปลอดจากสารระเหยฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นต้น"

โครงการของ MQDC ถือเป็นผู้บุกเบิกวงการอสังหาฯ เป็นรายแรกที่นำเทคโนโลยีล้ำหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อาทิเช่น โครงการ วิสซ์ดอม รัชดา-ท่าพระ เป็นโครงการอาคารห้องชุดพักอาศัยแห่งแรกที่นำเทคโนโลยี Co2 sensors ผนวกกับ Energy Recovery Ventilation (ERV) ซึ่งเป็นระบบถ่ายเทอากาศภายในอาคาร โดยมีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับอากาศ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ในห้องนอนกับห้องนั่งเล่น หากตรวจพบค่า CO2 เกินมาตรฐาน จะมีการเติมอากาศจากด้านนอกเข้ามาหมุนเวียน เพื่อทำให้ปริมาณ CO2 ลดลง ซึ่งจะช่วยปรับคุณภาพอากาศภายในอาคาร หรือ indoor air quality ให้ดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย

“ค่า CO2 มาตรฐานไม่เกิน 1,000 ppm หรือ 1,000 ในล้านส่วน งานวิจัยชิ้นนี้มาจากพฤติกรรมการพักอาศัยคนเมืองเฉลี่ย 90% ใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร โดยเฉพาะการอยู่ในห้องแอร์แทบจะตลอดเวลาทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน ในห้องนอน ห้องที่ใช้แอร์ส่วนใหญ่ไม่มีระบบอากาศหมุนเวียน ทำให้เรารับก๊าซ CO2 สะสมทุกวัน ซึ่งมีผลในระยะยาว เช่น เกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัย หรือสมองพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก นวัตกรรม ERV จึงพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหานี้โดยตรง”

นอกจากนี้ RISC ยังจัดสรรพื้นที่ทดสอบพืชพรรณต่างๆ ที่สามารถปลูกภายในอาคารที่ช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศภายในอาคารได้ พื้นที่ Laboratory ที่มีเครื่องมือทันสมัยสำหรับสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งมีพื้นที่ Simulation Lab ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์และการออกแบบด้านการประหยัดพลังงาน การใช้แสงสว่าง เป็นต้น

ผลทดสอบจากแล็บจะช่วยให้ทางบริษัทสามารถเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดและคงทน ปลอดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ตลอดจนยังช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานให้กับผู้อยู่อาศัยด้วย

รศ. ดร.สิงห์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า " เรามีโปรแกรมที่จะแลกเปลี่ยนการวิจัยกับเครือข่ายต่างชาติที่ศึกษาและทำงานด้าน Healthy living อย่างเช่น Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT, มหาวิทยาลัย Harvard และ Baycrest Research Centre ใน Toronto ซึ่งเราได้แชร์ความรู้และร่วมกันพัฒนานวัตกรรม"

ความท้าทายของนักวิจัยในเมืองไทยคือ การมีข้อจำกัดในการทำวิจัยด้วยตัวเอง และเทคโนโลยีที่นำเข้ามา บางครั้งก็จะไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย

"หากเราสามารถวิจัยเองภายในประเทศได้ เราก็จะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศเราได้"

นอกจากนี้ MQDC ยังมีแผนเปิดศูนย์วิจัยอีกแห่ง แต่จะโฟกัสที่การออกแบบคอนเซปและนวัตกรรม โดยจะเปิดในปีหน้า บนถนนบางนาตราด

อ้างอิงภาพและเนื้อหา MQDC และ The Nation

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จับตา 18 อุตสาหกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้กว่า 48 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2040

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดกว่าเดิม มีอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่กำลังมาแรง และเติบโตแบบก้าวกระโดด เราเรียกอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า 'Arenas' ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็ต้...

Responsive image

Gemini 2.0 คืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง ? สรุปของใหม่กับ AI ที่เก่งที่สุดของ Google

หลังจาก Google เปิดตัว Gemini 1.0 ซึ่งเป็น AI แบบ Multimodal และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ใช้มากถึง 2 พันล้านคนทั่วโลก ล่าสุดได้มีการอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ในชื่อ Gemini 2.0 ซึ่งเป็น...

Responsive image

พลังงานจากหลุมดำ พุ่งชนวัตถุลึกลับในกาแล็กซี เกิดรอยปริศนารูปตัว V

NASA พบร่องรอยแปลกประหลาดจากการพุ่งชนของลำแสงพลังงานสูงที่มาจากหลุมดำขนาดมหึมาในกาแล็กซี Centaurus A (Cen A) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 12 ล้านปีแสง การค้นพบนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ...