อีกหนึ่งฝีมือของนักวิจัยชาวไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือ "การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ในประเทศไทยและการพัฒนา Application Mushroom Image Matching" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาโปรแกรม Application Mushroom Image Matching ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว โดยได้รวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ กลุ่มละ 1,000 ภาพ เก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพ และแสดงผลชนิดของเห็ดด้วยชื่อและร้อยละของความถูกต้อง
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.สิทธิพร ปานเม่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ นางสาวเกษร บุญยรักษ์โยธิน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และรองศาสตราจารย์ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำงานประสานกันพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวจนสำเร็จพร้อมใช้งาน
รองศาสตราจารย์ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 (เดือนมกราคม-เดือนกันยายน) มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 1,176 ราย และมีรายงานการเสียชีวิต 3 ราย ตัวอย่างเห็ดพิษจากหลากหลายแห่งถูกส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ยะลา ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และสกลนคร เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดถ่านเลือด เห็ดระโงกพิษ และเห็ดคันร่ม ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาหรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดถ่านเลือดคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่ เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ เห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวกไก่น้อย เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษคล้ายกับเห็ดนกยูงกินได้ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดและเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป
สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว ต้องทำการดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนแบบ Android เท่านั้น โดยเข้าถึง Application ได้ 2 ช่องทาง คือ 1.เลือกจาก Play store ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” และ 2. สแกน QR Code จากนั้นทำการลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรมด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบ real time และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือเราสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้ นอกจากนี้โปรแกรมนี้ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด