บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด มีสิทธิเข้าร่วมประมูลในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในวันที่ 15 มกราคม 2566 | Techsauce

บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด มีสิทธิเข้าร่วมประมูลในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในวันที่ 15 มกราคม 2566

ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัท มีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ สำนักงาน กสทช.  


สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด


สำหรับกรณีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั้น พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” นั้น กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งตามนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงได้ใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากยกเลิกการประมูลและให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจาก ITU ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย กลับไปสู่การผูกขาด และขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ” 

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ดังจะเห็นได้จาก การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องมีหน้าที่จัดช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดของข่ายงานดาวเทียมจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband ซึ่งหากเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม รวมทั้งในชุดที่ 3 ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นต้น  


“ กสทช.ยินดีสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยที่ หากเป็นการให้บริการเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีวัตถุประสงค์การใช้งานในเชิงพาณิชย์ แล้ว กสทช.พร้อมที่จะอนุญาตให้สิทธิดังกล่าวแก่หน่วยงานรัฐ หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องประมูล เหมือนที่ กสทช.ได้สนับสนุนและอนุญาตให้สิทธิแก่กองทัพอากาศและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น ส่วนกรณีการนำสิทธิไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ กสทช.ต้องพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาต ให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เสรี และ เป็นธรรม รวมทั้ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ด้วย เพราะต้องเข้าใจว่ากิจการดาวเทียมสื่อสารไม่ใช่ให้บริการเฉพาะภายในประเทศ แต่สามารถให้บริการในต่างประเทศได้ด้วย รวมทั้งต่างประเทศเองก็ต้องการมาให้บริการในประเทศไทยด้วยเช่นกัน “ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ ฯ  กล่าว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Soft Power และ Technology คือสิ่งที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า สรุปแนวคิด ทักษิณ ชินวัตร

ดร.ทักษิณ ชินวัตรเผยวิสัยทัศน์ 5 ปีข้างหน้าของประเทศไทยในงาน Forbes Global CEO Conference เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซอฟต์พาวเวอร์ และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมสร้างความสามารถ...

Responsive image

เปิดบ้าน WHA สำรวจศักยภาพ นวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ

WHA Open House 2024: Explore – Discover – Shape the Future เป็นการเปิดบ้านครั้งแรกของ WHA เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ WHA Group ในฐานะต้นแบบของธุรกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช...

Responsive image

จีนบุกตลาด AI เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 ให้เหตุผลเหมือนมนุษย์ ท้าชน o1 จาก Open AI

AI จีนขอท้าชิงพื้นที่ตลาด เมื่อบริษัทวิจัย AI เปิดตัวโมเดล DeepSeek-R1 โมเดล AI ให้เหตุผลใกล้เคียงกับมนุษย์ เปิดตัวมาท้าชิงความสามารถของโมเดล o1 จาก OpenAI...