เปิดตัว New S Curve Capital Market โครงการปั้นธุรกิจเข้าตลาดทุน รับเงินสูงสุด 1 ล้าน สมัครได้แล้ววันนี้ | Techsauce

เปิดตัว New S Curve Capital Market โครงการปั้นธุรกิจเข้าตลาดทุน รับเงินสูงสุด 1 ล้าน สมัครได้แล้ววันนี้

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือ LiVE Platform พร้อมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และ KMPG ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ New S Curve Capital Market เพื่อปั้นธุรกิจเข้าสู่ตลาดทุน โดยโฟกัสที่กลุ่มธุรกิจ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 

  • Life Science ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
  • High Technology ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ 
  • High Growth ธุรกิจที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง
     

โดยเปิดรับจำนวน 60 บริษัท เพื่อเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ เพื่อให้ธุรกิจมีคุณภาพเพื่อเติบโต และพร้อมระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ

ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ และทักษะผ่านการ Workshop, Coaching และ One-on-One Coaching ตลอดเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2567 พร้อมโอกาสในการรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สูงสุดบริษัทละ 1 ล้านบาท รวมถึงทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ 

ปั้นธุรกิจให้เป็นดาว จาก 4 พันธมิตรสุดแกร่ง

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจผ่าน LiVE Platform แพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจจากองค์กรชั้นนำ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้พร้อม และเติบโตต่อการเข้าตลาดทุน

ทางด้าน นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เปิดเผยให้ทราบเพิ่มเติมว่า Life Science มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก 

TCELS ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นทุนเดิม จะเข้ามาช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็น New Economy เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความแข่งแกร่งในตลาด ตลอดจนถึงการสนับสนุนการสร้างเงินทุน เพื่อปั้นธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนการสนับสนุน นายเจริญ ผู้สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KMPG ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า KMPG ที่หลายคนรู้จักน่าจะรู้จักในฐานะหนึ่งในบริษัท 'Big 4 Audit Firm' เรื่องการตรวจสอบบัญชี ที่จริงแล้วบริษัทยังให้คำปรึกษาด้านภาษี, เป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมาย และเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การเข้ามาในโครงการนี้ KPMG มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยให้คำปรึกษาในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเสริมศักยภาพในการวางแผนธุรกิจ ไปจนถึงเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความเติบโตให้ธุรกิจจนสามารถก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป

ส่วนความร่วมมือจาก NIA ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า บทบาทสำคัญของ NIA คือการส่งเสริม  แลัพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

โดยมองว่าผู้ประกอบการในภาควิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยี เป็น ‘New Economy’  ของประเทศ จะต้องมีความรู้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง สามารถเตรียมระบบงานให้มีความพร้อม รวมถึงสร้างสรรค์รวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ 


SME - Startup ไทยแข่งกับตลาดโลกไหวไหม? อะไรคือจุดเด่นของเรา?

ในช่วงเสวนาภายในงานมีการพูดถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันมาแรง จนอาจส่งผลต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยหน้าใหม่ โดยทาง ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง จาก NIA ก็ให้คำตอบว่า 

“ต้องถามผู้ประกอบการไทยว่า เราจะสู้กลับไป ณ จุดไหน” 

และได้ยกตัวอย่างของ EV ในบ้านเราที่ตอนนี้ยังไม่มีแบรนด์ไทย มีแต่แบรนด์ต่างชาติ 100% ซึ่งเราอาจไม่จำเป็นต้องผลิตรถ EV มาแข่ง เพราะยังมีพื้นที่อื่นที่สามารถเล่นได้ เช่น Charging Station ไปจนถึงอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ (IoT) หรือจะเป็นการเกษตร และอาหาร การแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่ รวมถึง Health และ Creative ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยเก่ง และสามารถแข่งขันได้

นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล จาก TCELS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ‘สารสกัดสมุนไพร’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของประเทศไทยเช่นเดียวกัน สมุนไพรเป็นเกษตรมูลค่าสูง เราต้องการ สกัดสาร ในสมุนไพรให้เป็นสารมูลค่าสูง รวมถึง Medical AI ซึ่งเป็นสิ่งที่เราโดดเด่นมาตลอด

ประเทศไทยมี Potential แทบทุกอันแต่ไม่มาก เพราะเส้นทางมันขรุขระ และลำบาก รัฐฯ เลยมองว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุน เพราะทั่วโลกมีคนป่วย มีเกิดแก่เจ็บตาย ทุกคนจะต้องใช้สิ่งที่เราผลิตออกไป แต่ barrier ที่กีดกันเราคือ มาตรฐาน ยิ่งสินค้าทางการแพทย์มาตรฐานยิ่งสูง

TCELS จึงมุ่งมั่นปลุกปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่ในสาย Life Science ให้มีความพร้อมไม่ใช่เฉพาะแค่ในไทย แต่ต้องพร้อมแข่งในตลาดโลกด้วยนั่นเอง

ภาพรวม Startup ไทยตอนนี้เป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่น่าห่วง ?

Techsauce มีโอกาสพูดคุยเพิ่มเติมกับ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง จาก NIA ถึงสถานการณ์ของ Startup ไทยในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะล้มหายตายจากไปเยอะจากสถานการณ์โควิด ก็ได้รับคำตอบว่า

คำว่าล้มหายตายจากน่าจะจบลงแล้ว เพราะมีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุน ถ้าเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีใบเหี่ยว ตอนนี้ก็ถูกลมพัดเปลือยหมดแล้ว เหลือแต่ใบที่คงอยู่ และใบที่กำลังจะผลิขึ้นใหม่


โดยสิ่งที่ NIA ต้องทำในตอนนี้คือ ต้องมองว่าใบไหน หรือต้นไม้ต้นไหนที่ยัง ‘แข็งแรง’ และจะทำอย่างไรให้ ‘เข้มแข็ง’ ซึ่งการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพเข้ากับกองทุน และองค์กรต่าง ๆ จะช่วยให้สตาร์ทอัพเปิดตัวเร็วขึ้น และการเสริมแกร่งจากหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีอยู่จะทำให้โตอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของโครงการ New S Curve Capital Market ที่รับบริษัทเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 บริษัทนั้น ทาง NIA มองว่า จะมีบริษัทสมัครเข้ามามากกว่าจำนวนที่คาดหวังแน่นอน และหากยิ่งเป็นบริษัทที่ไม่เคยรู้จักเข้ามาสมัครร่วมโครงการนี้จะยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะตรงกับเป้าหมายของ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ตอนตอบรับตำแหน่ง ที่ต้องการ ‘ลดควาเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงให้ทุกคน’ 

ส่วนผลลัพธ์ของโครงการนั้น NIA อยากให้ทุกบริษัทเป็น ‘New S Curve’

“S Curve ต้องเข้าใจอย่างนึงว่ามีหลายแบบ อย่างรัฐบาลเองก็ประกาศออกมาว่า S Curve มีทั้งหมด 12 New S Curve ซึ่งเราอยากให้ทุกบริษัทเติบโตใน S Curve ของตัวเอง” 

ส่วนสิ่งที่น่าห่วงของสตาร์ทัพไทยในตอนนี้คือ ‘การบริหารจัดการ’ 

องค์กรมีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความสามารถในด้านการบริหารจัดการด้วยจึงจะสามารถเติบโตได้ ปัญหาใหญ่ของสตาร์ทอัพตอนนี้คือ มีเงินอย่างเดียว

สตาร์ทอัพสาย Deep Tech, EV และ AI เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ประเทศไทยขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเช่นกัน ส่วน FinTech ยังคงเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสที่ดีอยู่ เพราะ FinTech ไม่ได้หมายถึงกระแส Virtual Bank ที่กำลังมาในตอนนี้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน  และ Ecosystem ต่าง ๆ ที่จะช่วยต่อยอดเศรษฐกิจไทยได้

NIA ทิ้งท้ายว่าทักษะ Management คือ สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องหันมาโฟกัสมากขึ้น ซึ่งการบริหารในที่นี้ไม่ใช่แค่การบริหารองค์กรอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการบริหารอื่น ๆ ที่อยู่ในองค์กร เช่น การคุมบัญชี การบริหารโครงสร้าง การบริหารเงินทุน ไปจนถึงการบริหารธุรกิจ ซึ่งหากสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมทักษะนี้อย่างตรงจุดจากฝั่งรัฐฯ หรือเอกชนก็ตาม จะทำให้เราได้เห็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูงในตลาด รวมถึงโอกาสในการสร้าง Unicorn ตัวใหม่ในไทย

สมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้ววันนี้ที่ https://www.live-platforms.com/th/newscurve2024/



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

องค์กรไทยพร้อมแค่ไหนเรื่อง AI? ซิสโก้เผยไทยพร้อมเพียง 21% แม้ลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนยังต่ำกว่าคาด

ซิสโก้เผยผลสำรวจ 'ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปี 2024' ชี้องค์กรไทยเผชิญความท้าทายในการใช้ AI แม้จะมีการตื่นตัวและลงทุน แต่ความพร้อมโดยรวมยังต่ำ โดยมีองค์กรเพียง 21% ที่พร้อมใช้งาน ...

Responsive image

ทุนจีนดันไทยเป็นฐานที่ตั้งการผลิตแห่งใหม่ ตั้งรับภัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งให้ตลาดรถยนต์ EV-อิเล็กทรอนิกส์พุ่งแรง

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งทั้งในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ได้พร้อมใจเร่งขยายฐานธุรกิจในประเทศไทย เพื่อ...

Responsive image

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน...