ในยุคของ Generative AI ที่เข้ามาเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้นเสียจนปรับตัวกันแทบไม่ทัน รวมไปถึงอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และกลายเป็นว่า AI เข้ามามีอิทธิพลมากเลยทีเดียว ทำให้สำนักข่าวบางแห่งใช้ AI ในการทำข่าว เพื่อความรวดเร็วแม้จะเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด หรือข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก็ตาม รวมไปถึงในอนาคตอาจมีการใช้ AI แทนนักข่าว
มีรายงานจาก JournalismAI โครงการจาก Polis, London School of Economics และ วารสารของ Political Science ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Google News Initiative ในหัวข้อ “Generating Change: A global survey of what news organisations are doing with artificial intelligence” รวมถึงมุมมองของ “บรรณาธิการ นักข่าว เทคโนโลยี และผู้สร้างสื่อมากกว่า 120 คนจากสำนักข่าวขนาดเล็กและขนาดใหญ่ 105 แห่งใน 46 ประเทศ” รายงานฉบับนี้เป็นแค่ตัวแทนในอุตสาหกรรมสื่อในการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น
ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม มากกว่า 75% ใช้ AI ในการรวบรวมข่าวสาร การผลิต และการเผยแพร่ มากกว่าครึ่งของการสำรวจกล่าวถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเหตุผลในการใช้งาน AI เพราะ AI สามารถทำงานที่ซ้ำซากให้เป็นไปโดยอัตโนมัติได้ และ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า “AI ช่วยให้เข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้น ปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้อ่านให้เป็นแบบส่วนตัว และเพิ่มการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น”
ในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 60% ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางจริยธรรมในการใช้ AI ผลิตเนื้อหา และยังต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความยุติธรรม ความโปร่งใสของเนื้อหา โดยทั่วไปแล้วสำนักข่าวยังคงมองว่า “มนุษย์” ยังสำคัญอยู่ เพราะต้องควบคุมข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก AI เช่นอคติและความไม่ถูกต้องของข้อมูล ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามเองก็ยังกังวลว่าเทคโนโลยี AI อาจทำให้การรายงานข่าวมีอคติที่รุนแรงขึ้น และบิดเบือนความจริงไปพอสมควร ซึ่งมีเพียงไม่กี่สำนักข่าวที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามนี้ จะมีวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน
รายงานระบุว่า AI มีข้อผิดพลาดอย่างมากในแถบซีกโลกใต้ เพราะ AI ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาจากภาษาอังกฤษ (เน้นที่สำเนียงแบบเจาะจงด้วย) เงินทุนและทรัพยากรในการพัฒนา AI จึงกระจุกอยู่ที่บางประเทศเท่านั้น อีกทั้งการเมืองที่แตกต่างกันอาจส่งผลต่อความไว้วางใจในการใช้ AI ของผู้คนด้วย
นอกจากนี้ สำนักข่าวร้อยละ 90 ใช้ AI รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในการผลิตข่าวอยู่แล้ว ร้อยละ 80 ใช้เผยแพร่ข่าว และร้อยละ 75 ใช้ในการรวบรวมแหล่งข่าว ทั้งการถอดเทป และการแปลอัตโนมัติ การแยกข้อความออกจากรูป รวมไปถึงการแปลบทความเป็นภาษาอื่น การพิสูจน์อักษร การพาดหัวข่าว หรือการเขียนบทความฉบับเต็ม และยังมีการใช้ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการค้นหา ปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะผู้อ่านเฉพาะกลุ่มอีกด้วย
รายงานไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนสำนักข่าวใช้เทคโนโลยี AI สำหรับงานเท่าไหร่ อย่างไรบ้าง แต่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการนำเครื่องมือ AI มาใช้ และ 1 ใน 3 เพียงเท่านั้นที่บอกว่า สำนักข่าวของตัวเองมีกลยุทธ์การใช้ AI เพื่อควบคุมมันอยู่
บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Google กำลังสร้างเครื่องมือ AI ไว้ในธุรกิจหลักของตน แม้ว่าจะมีความกังวลใหม่ด้านจริยธรรมและกฎหมายก็ตาม สำนักข่าวหลายแห่งได้บล็อก GPTBot ซึ่งเป็นเครื่องมือรวบรวมข้อมูลเว็บจากคู่แข่งของ Google อย่าง OpenAI จากการใช้ข้อมูลของพวกเขา และยังเคยมีนักข่าวฟ้องร้อง OpenAI และ Meta ที่ใช้ข้อมูลข่าวในการฝึก AI อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวยังได้ทำข้อตกลงกับบริษัท AI เช่น The Associated Press ซึ่งลงนามข้อตกลงกับ OpenAI เมื่อต้นปีนี้ เพื่อควบคุมเทคโนโลยีนี้อีกด้วย
อ้างอิง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด