NIA พัฒนาหลักสูตรด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชน เรียนได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ผลักดันคนรุ่นใหม่ปั้นธุรกิจ Startup | Techsauce

NIA พัฒนาหลักสูตรด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชน เรียนได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ผลักดันคนรุ่นใหม่ปั้นธุรกิจ Startup

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าส่งเสริมและสร้างโอกาสให้เยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจนวัตกรรมผ่านโครงการและโปรแกรมที่ครอบคลุมการเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมปูพื้นฐานสำหรับแนวทางการคิดหรือสร้างไอเดียทำธุรกิจ โปรแกรมส่งเสริมเยาวชนแบบเชิงรุกในโรงเรียน โปรแกรมทดลองฝึกงานเพื่อเติมเต็มประสบการณ์กับเจ้าของธุรกิจตัวจริง โครงการประกวดไอเดียการสร้างธุรกิจนวัตกรรม รวมไปถึงโปรแกรมการสนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจเป็นจริง พร้อมเผยที่ผ่านมา NIA ส่งเสริมความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ ให้เยาวชนจนสามารถจัดตั้งธุรกิจนวัตกรรมได้จริงกว่า 40 ธุรกิจ 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้กับเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ หรือการทำธุรกิจนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ NIA ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาหรือเพิ่งเรียนจบใหม่เพิ่มมากขึ้น  NIA จึงริเริ่มแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนให้มีช่องทาง และมีตัวเลือกในการเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถผลิตสตาร์ทอัพรุ่นใหม่โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพทางนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งจะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งและเติบโตแบบก้าวกระโดด 

ที่ผ่านมา NIA ได้พัฒนาหลักสูตร - แผนการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนตั้งแต่วัย 7-30 ปี โดยแต่ละหลักสูตรจะมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรสำหรับเด็ก ไปจนถึงหลักสูตรสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก โดยมีโปรแกรมที่น่าสนใจ ดังนี้

  • โปรแกรมสำหรับเด็กเล็ก-มัธยมศึกษาตอนต้น เป็นโปรแกรมการส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรให้แก่เยาวชนผ่านฐานการเรียนรู้ STEAM4INNOVATOR โดยจะเน้นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทดลองสร้างธุรกิจนวัตกรรม ตั้งแต่กระบวนการหาไอเดีย การเรียนรู้ขั้นตอนในการทำธุรกิจ การจัดการธุรกิจในแต่ละด้าน ไปจนถึงการสร้างตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือ นวัตกรรมเพื่อให้ผู้ใช้งานพึงพอใจ ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้ปรับฐานการเรียนรู้ STEAM4INNOVATOR ไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้เด็กได้เข้าไปทดลองคิดไอเดียการทำธุรกิจผ่านหัวข้อที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กมีโอกาสสร้างสรรค์ไอเดียในทำธุรกิจนวัตกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น                                                           
  • โปรแกรมสำหรับเด็กมัธยม ในชื่อ STEAM4INNOVATOR @School ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะเข้าไปส่งเสริมความเป็นนวัตกรให้แก่นักเรียนด้วยการเข้าไปสอนและความรู้เกี่ยวกับการคิด และการทำธุรกิจนวัตกรรมผ่านห้องเรียนพิเศษ หรือห้องเรียนในวันเสาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาชนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ โดยที่ผ่านมา NIA ได้นำร่องในโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดี และในปี 2564 จะขยายการเข้าไปให้ความรู้ในอีก 50 โรงเรียนภายใต้โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ซึ่งเป็นการกระจายความรู้ไปให้แก่โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด

  • โปรแกรมสำหรับอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย จะเน้นการให้ความรู้ผ่านการประกวดไอเดียในการทำธุรกิจนวัตกรรม เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่มีไอเดียน่าสนใจและเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม และเข้าค่ายอย่างเข้มข้น โดย NIA ได้แบ่งประเภทโครงการจัดประกวดออกเป็น 2 โครงการ คือ โครงการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Innovation Awards ซึ่งจะเน้นการทดลองไอเดียในการทำธุรกิจและพัฒนาวัตกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ โครงการ STARTUP THAILAND LEAGUE ที่เน้นประกวดแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรมสำหรับนักศึกษาหรือนักเรียนอาชีวะที่อยากจะเป็นสตาร์ทอัพ โดยจะมีการสอดแทรกให้เยาวชนได้เรียนรู้ในขั้นตอนการทำธุรกิจในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น

  • โปรแกรมสำหรับนิสิต/นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย  จะเน้นการส่งเสริมศักยภาพด้านผู้ประกอบการให้แก่เยาวชนผ่านโครงการ Founder Apprentice โดยเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าไปฝึกงานกับเครือข่ายบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นการฝึกงานที่ให้เด็กได้ทดลองลงมือทำจริงในทุกแผนกร่วมกับสตาร์ทอัพผู้ก่อตั้งธุรกิจนั้น ตั้งแต่การดูภาพรวมการบริหารจัดการธุรกิจ การหาพาร์ทเนอร์ร่วมธุรกิจ การประชุม การพบปะพูดคุยกับลูกค้า การพิชชิ่งงาน สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้เพิ่มพื้นฐานการเป็นเจ้าของธุรกิจจริง และได้เรียนรู้กระบวนการในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Achievement Program ซึ่งจะคอยแนะนำการจัดตั้งบริษัทแบบเข้มข้น พร้อมทั้งมีเงินทุนสนับสนุนให้เยาวชนได้ต่อยอดการทำธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ไอเดียการทำธุรกิจของเยาวชนเกิดขึ้นจริงและพร้อมที่จะสู้กับโลกธุรกิจนวัตกรรมจริงได้อย่างสมบูรณ์

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า  ในช่วงที่ผ่านมา NIA ได้มีการส่งเสริมเยาวชนให้สามารถก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรม - สตาร์ทอัพ ได้สำเร็จแล้วกว่า 40 บริษัท  และมีบางบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้สูงถึงหลักสิบล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้การสนับสนุนเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้น ก้าวต่อไปของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในอนาคต NIA จึงเตรียมกระจายหลักสูตรและแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม ออกเป็น  2  ทางหลัก โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายในช่วงวัย คือ ระดับประถม -มัธยม จะมีการขยายผลผ่าน 2 โครงการ คือ โครงการ Trainer's LAB และโครงการ Steam4innovator @school โดยลักษณะทั้ง 2 โครงการ คือ การขยายผลแบบสร้างตัวคูณผู้สอนผ่านการรับรองจาก NIA และสร้างโรงเรียนนวัตกรรมด้วยการรับรองการสอนในโรงเรียนที่นำกระบวนการเข้าไปปลูกฝังให้นักเรียน โดยวางแผนนำกระบวนการนี้เข้าสู่ระดับโรงเรียน ใน 6 ภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันได้นำร่องที่ภาคใต้ร่วมกับ มรภ. ยะลา และจะขยายผลต่อในอีก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และ ระดับอุดมศึกษา ที่มุ่งพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการในคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการ FounderApprentice โดยเน้นการเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการฝึกงาน ซึ่งมีแกนหลักปลายทางให้เยาวชนสามารถเติบโตไปเป็น ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Entrepreneur) หรือ บุคลากรนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนานวัตกรรมระดับองค์กร (Intrapreneur) หรือ การสร้างอาชีพใหม่ที่หลากหลายสายสร้างสรรค์ (creative career) 

นางสาวปาลิตา วิษณุโยธิน

ด้านนางสาวปาลิตา วิษณุโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แอ็กนอสเฮลท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน AGNOS -รู้ทันโรคด้วย AI กล่าวว่า ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Founder Apprentice (FA) ของ NIA ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้แนวคิด วิธีการทำงานในโลกธุรกิจจริงพร้อมฝึกงานกับสตาร์ทอัพแถวหน้าของเมืองไทยดังนั้น จึงทำให้สนใจและอยากลองทำธุรกิจสตาร์ทอัพมากยิ่งขึ้น ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำแอปพลิเคชัน “Agnos-รู้ทันโรคด้วย AI” แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วย เนื่องจากเห็นถึงภาระที่ประชาชนเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากทั้งที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลารอพบแพทย์เป็นเวลานาน รวมทั้งยังทำให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ดังนั้น ตนและทีมจึงเห็นว่าควรมีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจเช็คอาการของตนเองเบื้องต้นได้ก่อนจะไปพบแพทย์ หรือไปซื้อยาขึ้น และหลังจากที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว ปัจจุบันแอปพลิเคชันสามารถคัดกรองโรคได้มากถึง 170 โรค และภายหลังจากที่เปิดให้ดาวน์โหลดได้ 5 เดือน มีผู้ใช้งานมากกว่า 30,000 ราย

แอปพลิเคชัน Agnos

นางสาวปาลิตา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ช่วยให้ตนมีความกล้าที่จะลองทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการกับ NIA เพราะแต่ละหลักสูตรช่วยให้เรามองเห็นภาพการทำธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เราเกิดความมั่นใจที่จะลองทำธุรกิจ และสิ่งที่อยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่คือ นวัตกรรมมีความสำคัญมาก เพราะนวัตกรรมทำให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งเราจะเห็นว่าทุกวันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงและถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง และในอนาคตเทรด์นวัตกรรมก็จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมาก หากใครที่จับทางและเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้ก่อน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะพัฒนาสิ่งแปลกใหม่เพื่อตอบโจทย์เหล่านั้น ซึ่งจะนำมาทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าที่ดีกับสังคม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...