กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. จัดการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Software Dee Season 3” เพื่อเร่งสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่และเสริมสร้างขีดความสามารถพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “สมาร์ท โซลูชั่น (Smart Solution) เป็นแนวทางการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อการแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพการผลิต ตลอดจนสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับภาคเอกชน ตลอดจนเกิดเป็นชุมชนของกลุ่มผู้ประกอบการยุคใหม่ (Tech Startup) เพื่อรองรับการขยายตลาดไปสู่ตลาด AEC ได้อย่างมั่นคง”
ที่ผ่านมา สนช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง โดยในระยะที่ 1 (ปี 2555-2556) สนช. ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) พัฒนา “โครงการซอฟต์แวร์ดี...มีนวัตกรรม” โดยเป็นเงินทุนโครงการละไม่เกิน 200,000 บาท ต่อมาระยะที่ 2 (ปี 2557-2558) ได้มีการต่อยอดสู่ “โครงการซอฟต์แวร์ดี...สมาร์ทโซลูชั่น” โดยเป็นเงินลงทุนโครงการละไม่เกิน 300,000 บาท เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้านสมาร์ท โซลูชั่น จำนวน 21 โครงการวงเงินสนับสนุนรวม 5.5 ล้านบาท เกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 213 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการเพิ่มโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้มีการพัฒนานวัตกรรมในวงกว้างรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตลอดจนสามารถขยายตัวสู่ตลาดโลกได้อย่างมั่นคง สนช. จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ดำเนิน “โครงการซอฟต์แวร์ดี...สมาร์ทโซลูชั่น” ระยะที่ 3 ขึ้น
แนวทางการดำเนิน “โครงการซอฟต์แวร์ดี...สมาร์ทโซลูชั่น” ระยะที่ 3 นี้ สนช. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการแสวงหาโอกาสและพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรม “ซอฟต์แวร์ดี...สมาร์ทโซลูชั่น” จำนวน 25 โครงการ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ ซอฟต์แวร์สำหรับการท่องเที่ยวและบริการซอฟต์แวร์สำหรับการเงิน ซอฟต์แวร์สำหรับค้าปลีกและอีคอมเมอร์ส ซอฟต์แวร์สำหรับการตลาดดิจิทัล และซอฟต์แวร์สนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้วงเงินไม่เกินโครงการละ 500,000 บาท จำนวน 20 โครงการ และโครงการละไม่เกิน 2,000,000 บาท จำนวน 5 โครงการ นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์แนวโน้มตลาดอาเซียน กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบลีน การเงินและการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบธุรกิจนวัตกรรมที่สามารถเติมโตสู่ตลาดโลกได้ ให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
สำหรับแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการยุคใหม่ สนช. มองว่าในปัจจุบันสามารถแบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการทั่วไป (SMEs) ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อม (Smart SMEs) และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Start up SMEs) โดย สนช. จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในส่วนที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการยุคใหม่ ให้สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ทั้งด้านเงินทุน วิชาการ และพื้นที่ โดยเฉพาะการให้วามช่วยเหลือและสนับสนุนในระยะแรกของการก้าวสู่ธุรกิจจริง ผ่านกลไกของ สนช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกขน และมหาวิทยาลัย ในด้านความช่วยเหลือพิเศษอื่นๆ เช่น ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด