ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการ FinTech ไทยอีกหนึ่งข่าวเลยก็ว่าได้เมื่อ Omise เข้าซื้อบริษัทระดับตำนานด้าน Payment Gateway ของไทยอย่าง Paysbuy ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทลูกของ dtac นั่นเอง
การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ของ Omise ทำให้บริษัทสามารถขยายเข้าสู่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ที่ทาง Paysbuy มีฐานอยู่แล้วอย่าง Telco, ประกัน, ธุรกิจท่องเที่ยว/บริการ และ ค้าปลีกออนไลน์ นอกจากนี้ยังปูทางให้ Omise ที่กำลังจะขยายเข้าสู่ธุรกิจ E-wallet ภายใต้ชื่อ OmiseGO (OMG) ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น นับเป็นการผนวกจุดเด่นของทั้ง 2 ฝั่งเข้ามานั่นคือ Paysbuy นั้นโดดเด่นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สาย Payment มาอย่างยาวนาน ในขณะที่ Omise ได้ชื่อว่ามีทีมที่ดูแลด้าน UX ที่เก่งและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อตอบโจทย์ประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างดี ในช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้ ทั้ง 2 บริษัทยืนยันว่าร้านค้าต่างๆ จะยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ช่วงที่ dtac ยังคุมบังเหียนโดย Sigve เป็นช่วงเวลาที่ dtac ขยายธุรกิจออกไปโดยเข้าซื้อกิจการ 3 ธุรกิจช่วงไล่ๆ กัน นั่นคือ Fat Radio ในแง่ของคอนเทนต์เพลง และศิลปิน Indy มากมาย (ปัจจุบันตัวคลื่นวิทยุได้ปิดตัวลงแล้ว) เพื่อรองรับ 3G ในเวลานั้น, ครีเอ้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้กับบริษัท และ Paysbuy ก็เข้ามาในช่วงเวลานั้นนั่นเอง เป็นการซื้อกิจการจากผู้ก่อตั้ง Aung Kyaw Moe ซึ่งต่อมาไปทำธุรกิจ 2C2P ดังที่เห็นในปัจจุบัน Paysbuy เป็นก้าวสำคัญของ dtac ในเวลานั้น ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต่างต้องเริ่มสร้าง Payment Gateway และ Ewallet ขึ้นมา เพื่อรองรับการชำระเงินของบริการต่างๆ ในเครือ Telco เอง ซึ่งโดยปกติแล้วก็มี 2 ทางคือ ไม่สร้างขึ้นมาเอง ก็เลือกที่จะเข้าซื้อกิจการที่มีอยู่เดิม
ในขณะที่คู่แข่งอย่าง True และ AIS ที่ไม่ต้องการเป็นเพียงแค่โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องการขยายอาณาจักรออกไปทั้งโลกของคอนเทนต์และอื่นๆ อีกมากมาย การมี mpay และ True Money ทุกวันนี้จะเห็นว่ารองรับการชำระเงินมากกว่าบริการของตัวเองเสียแล้ว หลังจากยุครุ่งเรืองของ Telco ได้ผ่านพ้นไปเมื่อทศวรรษก่อน ในช่วงเวลาของ 4G ที่มีการแข่งขันกันสูง ดูเหมือนว่า Telenor ต้องโฟกัสในธุรกิจหลักมากขึ้นอาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่ขายบางส่วนออกไป
ปัจจุบัน Paysbuy มีใบอนุญาต บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money บัญชี ค) เป็นใบอนุญาตที่เข้าใจกันได้คือ E-Wallet การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้ Omise ซึ่งเดิมถือใบอนุญาตแบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Payment Gateway อยู่ จะมีโอกาสขยายไลน์ธุรกิจได้อีกมากทันที อย่างที่ข้างต้นได้กล่าวไปแล้วนั่นคือ OmiseGO หนึ่งใน E-wallet รูปแบบใหม่ที่ทำงานอยู่บน Blockchain
นับเป็น Startup ดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในช่วง 2 ปีนี้หลังจากเป็น Startup ที่ระดมทุนด้าน FinTech สูงสุดในไทยและในภูมิภาคนี้ไปเมื่อปีก่อน และไม่บ่อยนักที่จะได้เห็น Startup เข้าซื้อกิจการจากบริษัทยักษ์ใหญ่อีกทีหนึ่ง ยังไม่พอเมื่อวานก็พึ่งประกาศระดมทุนในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO) ไปกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ด้วยการใช้ Cryptocurrency และ Crowd โดย Omise เป็นรายแรกๆ ของโลกที่ถือว่าเป็นบริษัทที่เติบโตมากแล้ว และมีนักลงทุนในรูปแบบของ Venture Capital มาก่อน ยังมาระดมทุนในรอบใหม่ผ่านทาง ICO อีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด