OpenAI เปิดตัว GPT-4.5 ‘Orion’ โมเดล AI ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท

OpenAI ประกาศเปิดตัว GPT-4.5 โมเดล AI ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้โค้ดเนม "Orion" ซึ่งเป็นโมเดลที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทจนถึงปัจจุบัน ถูกฝึกด้วยปริมาณข้อมูลและพลังการประมวลผลมากกว่ารุ่นก่อนหน้าทั้งหมดของ OpenAI

แม้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ OpenAI ยืนยันว่า GPT-4.5 ไม่ใช่โมเดล AI ระดับแนวหน้า (frontier AI model) **Note: หลังจากเปิดตัว GPT-4.5 ได้ไม่นาน OpenAI ได้ลบข้อความหนึ่งออกจากเอกสารของโมเดลที่เคยระบุว่า “GPT-4.5 ไม่ใช่ AI ระดับแนวหน้า” ตามการรายงานของ Techcrunch

ผู้ใช้ที่สมัครแพ็กเกจ ChatGPT Pro ในราคา 200 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน จะสามารถใช้งาน GPT-4.5 ได้ตั้งแต่วันนี้ในฐานะ การเปิดตัวเพื่อการวิจัย (research preview) 

ผู้พัฒนาที่ใช้ OpenAI API แบบเสียเงินก็สามารถเข้าถึง GPT-4.5 ได้เช่นกันตั้งแต่วันนี้ 

ด้านผู้ใช้ ChatGPT Plus และ ChatGPT Team คาดว่าจะได้รับการอัปเกรดในสัปดาห์หน้า

GPT-4.5 ฉลาดขึ้นแค่ไหน ?

สำหรับ GPT-4.5 Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ยกให้เป็นโมเดลที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดเท่าที่เคยพัฒนา “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกเหมือนได้พูดคุยกับคนที่มีความคิดรอบคอบจริง ๆ” Altman กล่าว พร้อมเผยว่าแม้แต่ตัวเขาเองยังรู้สึกตะลึงกับคุณภาพของคำแนะนำที่ได้รับจาก AI รุ่นใหม่นี้

แม้ว่า GPT-4.5 อาจไม่ได้พัฒนาก้าวกระโดดแบบเห็นได้ชัดในทุกด้าน แต่ก็มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายอย่าง ทำให้มัน มีความรู้รอบด้านมากขึ้น สามารถเข้าใจข้อมูลเชิงลึกได้ดีขึ้น และ ลดข้อผิดพลาดหรือการสร้างข้อมูลผิดพลาด (hallucination) ซึ่งหมายความว่ามันมีแนวโน้ม ให้คำตอบที่แม่นยำขึ้นกว่ารุ่นก่อน

หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของ GPT-4.5 คือ ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์และโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เพียงแค่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ยังสามารถสื่อสารในลักษณะที่อบอุ่นและเข้าใจผู้ใช้มากขึ้น ทำให้มันเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานที่ต้องการ AI ที่เป็นมิตรและสามารถสื่อสารได้อย่างใกล้เคียงมนุษย์

ในด้านการเขียนโค้ด GPT-4.5 มีศักยภาพสูงขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า สามารถช่วยแก้ปัญหาและสร้างโค้ดที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มันยังไม่ใช่ AI ที่เก่งที่สุดในด้านนี้ เมื่อเทียบกับโมเดล reasoning ที่ถูกพัฒนามาเฉพาะสำหรับการคิดวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับโค้ด

โดยรวมแล้ว GPT-4.5 เป็นโมเดลที่ฉลาดขึ้น ตอบคำถามได้แม่นยำขึ้น เข้าใจมนุษย์ได้ดีขึ้น และสร้างข้อผิดพลาดน้อยลงเมื่อเทียบกับ AI รุ่นก่อนของ OpenAI

ก้าวสำคัญของวงการ AI หรือจุดอิ่มตัวของโมเดล ?

GPT-4.5 ถูกพัฒนาโดยใช้แนวทางเดียวกับโมเดลก่อนหน้าของ OpenAI ตั้งแต่ GPT-1 จนถึง GPT-4 นั่นคือการขยายขนาดโมเดลโดยเพิ่มพลังการประมวลผลและปริมาณข้อมูลในการฝึกแบบ unsupervised learning ให้มากขึ้น ซึ่งในอดีต วิธีนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ เมื่อขนาดของโมเดลเพิ่มขึ้น ความสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ การเขียนโค้ด และการใช้ภาษาก็พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในกรณีของ GPT-4.5 แม้ว่ามันจะใหญ่และใช้พลังประมวลผลมหาศาล แต่ประสิทธิภาพไม่ได้ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด เหมือนที่ผ่านมา นี่เป็นสัญญาณว่า แค่เพิ่มขนาดโมเดล อาจไม่ทำให้ AI ฉลาดขึ้นอีกต่อไป ในการทดสอบ AI Benchmarks หลายตัวระบุว่า GPT-4.5 ยังเป็นรองโมเดล reasoning models จากบริษัทอื่น เช่น DeepSeek, Anthropic และแม้แต่โมเดลบางตัวของ OpenAI เอง

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ ต้นทุนในการให้บริการ GPT-4.5 สูงมาก OpenAI ยอมรับว่าโมเดลนี้ใช้พลังประมวลผลมากจนทำให้ต้นทุนการรันสูงกว่าปกติ โดยค่าบริการของ GPT-4.5 ใน OpenAI API อยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ล้านโทเคนอินพุต (ประมาณ 750,000 คำ) และ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ล้านโทเคนเอาต์พุต ในขณะที่ GPT-4o ซึ่งเป็นโมเดลที่เล็กกว่า มีค่าบริการเพียง 2.50 ดอลลาร์สหรัฐฯและ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ 

Ilya Sutskever อดีตนักวิทยาศาสตร์ของ OpenAI เคยออกมาแสดงความเห็นว่า "เราไปถึงจุดสูงสุดของข้อมูลแล้ว และการ pre-training แบบเดิมจะจบลงแน่นอน" 

ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเหตุผลทำให้เราเห็นว่าในปัจจุบันนักวิจัยเริ่มหันไปพัฒนาโมเดล AI ที่ "คิดวิเคราะห์" (Reasoning AI) ซึ่งไม่ได้แค่ใช้ข้อมูลจำนวนมาก แต่พยายามให้ AI คิดได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น แทนที่จะเพิ่มขนาด AI ไปเรื่อยๆ 

OpenAI ก็มีแนวทางนี้ โดยจะรวม GPT series (ภาษาธรรมชาติ) กับ o-series (reasoning) ใน GPT-5 ที่จะมาในอนาคต แม้ว่า GPT-4.5 จะไม่ได้เป็นสุดยอด AI แต่ OpenAI มองว่ามันเป็นขั้นที่นำไปสู่การพัฒนาโมเดลที่ดีกว่า เช่น GPT-5 ที่อาจรวม AI ที่เข้าใจภาษา และ AI ที่ให้เหตุผลได้ดีขึ้นเข้าด้วยกัน

อ้างอิง: techcrunch , openai

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...