Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท | Techsauce

Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาเป็นแกนหลักในการประกอบธุรกิจ ล่าสุดออกมาตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย ด้วยการประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ปี พ.ศ. 2568 - 2569 ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท พร้อมเผยวิสัยทัศน์ของบริษัทเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย ว่ามุ่งผนึกกำลังกับสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ร่วมลงทุน และชุมชนสตาร์ทอัพ ในการปลดล็อกศักยภาพด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมอีโคซิสเต็มที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย

รู้จัก Openspace กันก่อน

OpenspaceSource :facebook.com/openspacevc

โอเพ่นสเปซ (Openspace) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 เป็นกองทุนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันบริหารจัดการเงินทุน 800 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท และมีสำนักงานใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยในด้านเงินลงทุน โอเพ่นสเปซได้รับเงินลงทุนมากถึง 65% จากนักลงทุนสถาบันหลายแห่ง อาทิ Temasek, DEG, JICA, กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Funds) ในอเมริกาและออสเตรเลีย แล้วโอเพ่นสเปซก็จะนำเงินไปลงทุนในสตาร์ทอัพให้เติบโตต่อ โดยลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแล้วมากกว่า 60 แห่ง 

โอเพ่นสเปซก้าวขึ้นเป็นผู้ลงทุนสำคัญ (Lead Investor) ในวงการเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับกุญแจสู่ความสำเร็จของโอเพ่นสเปซ คุณณิชาภัทร อาร์ค ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของกองทุนโอเพ่นสเปซ เวนเจอร์ส (Openspace Ventures) บอกว่า เกิดจากการใช้ข้อมูลเชิงลึกและความเชี่ยวชาญระดับสูงของทีมงาน เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่บริษัทที่ได้เข้าลงทุนได้สร้างผลงานที่โดดเด่น พร้อมกับสร้างประโยชน์ให้สังคม และคำนึงถึง ESG

Openspace

สำหรับประเทศไทย คุณณิชาภัทรให้ข้อมูลเพิ่มว่า โอเพ่นสเปซเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ด้วยเงินลงทุนรวมเกือบ 1,000 ล้านบาท 

"เราภูมิใจในบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่เราได้ลงทุนอย่างมาก เนื่องจากมีทีมผู้บริหารที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่ทำอยู่ในเชิงลึกและสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างน่าพอใจ กองทุนของเรายังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย และมองหาโอกาสที่จะเพิ่มเงินลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจุดแข็งของประเทศไทย เช่น การเงิน การแพทย์ การเกษตร การบริการและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เรายังสนใจสตาร์ทอัพที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทนและการลดโลกร้อน เนื่องจากปัญหาใหญ่เช่นนี้จะต้องนำเทคโนโลยีมาแก้ไขถึงจะเห็นผลที่ชัดเจน”

นอกจากนี้ โอเพ่นสเปซยังมุ่งมั่นสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย ร่วมกับการส่งเสริมอีโคซิสเต็มอย่างต่อเนื่อง จากบทบาทของคุณณิชาภัทรที่สะท้อนผ่านการดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนและเทคโนโลยี ได้แก่ 

  • กรรมการสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน 
    (Thai Venture Capital Association)
  • สมาชิกคณะกรรมการของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
    (Sasin School of Management, Chulalongkorn University)
  • สมาชิกคณะกรรมการของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล 
    (Institute for Technology and Innovation Management, Mahidol University)

พอร์ตโฟลิโอในไทยที่ Openspace เข้าไปลงทุน

Openspace

พอร์ตโฟลิโอของโอเพ่นสเปซในประเทศไทยในขณะนี้มี 3 สตาร์ทอัพ ได้แก่ 

  1. ฟินโนมีนา (Finnomena) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการลงทุนดิจิทัลชั้นนำของไทยที่ผสานพลัง AI เข้ากับความเชี่ยวชาญของมนุษย์ เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการบริหารความมั่งคั่งได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลเกือบ 50,000 ล้านบาท

  2. เฟรชเก็ต (Freshket) ผู้จำหน่ายวัตถุดิบด้านอาหารแบบครบวงจรผ่านแพลตฟอร์มที่สะดวกต่อการติดตามในทุกขั้นตอน โดยปัจจุบันได้ให้บริการแก่ธุรกิจร้านอาหารกว่า 20,000 แห่ง และมีอัตราการเติบโตถึง 10 เท่าในระยะเวลาเพียง 4 ปี

  3. อบาคัส ดิจิทัล (Abacus Digital) ผู้ให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันมันนี่ทันเดอร์ (MoneyThunder) ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการเงินด้วยเทคโนโลยี AI ให้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้เงินกู้นอกระบบ ปัจจุบัน มีผู้สนใจสมัครสินเชื่อกับมันนี่ทันเดอร์ สูงถึง 200,000 รายต่อเดือน โดยมียอดดาวน์โหลดแอปแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง ยอดปล่อยสินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง โดยมี NPL ต่ำกว่าตลาดถึง 3 เท่า อบาคัส ดิจิทัลได้รับการจัดให้อยู่ใน Forbes Asia 100 to Watch โดยนิตยสาร Forbes เมื่อปีที่แล้ว จากการคัดเลือกสตาร์ทอัพผู้สมัครทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ  
                                 

Finnomena

คุณเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มบริษัท ฟินโนมีนา กล่าวถึงความร่วมมือกับโอเพ่นสเปซ และการสนับสนุนที่ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับฟินโนมีนาอย่างต่อเนื่องว่า 

“โอเพ่นสเปซ เวนเจอร์ส ไม่ได้เป็นเพียงแค่นักลงทุน แต่เป็นพันธมิตรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของฟินโนมีนา ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โอเพ่นสเปซช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของเราอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการสร้างแบรนด์ การสร้างกลยุทธ์เพื่อกระจายประเภทสินทรัพย์ และการวางแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจ นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว ทีมงานของโอเพ่นสเปซ ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ต่อความสำเร็จของฟินโนมีนา โดยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญกับธุรกิจของเราในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสรรหาบุคลากรไปจนถึงการวางกลยุทธ์” 

และนอกเหนือจากโอเพ่นสเปซ เวนเจอร์ส ฟินโนมีนายังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันชั้นนำอื่นๆ อาทิ กรุงศรี ฟินโนเวต, ธนาคารออมสิน, Gobi Partners 

เผยทิศทางการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยของ Openspace

Openspace

โอเพ่นสเปซเชื่อแน่ว่า การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตต่อได้ด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพของสตาร์ทอัพเอง, การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศไทยที่จะเพิ่มมากขึ้น, ศักยภาพของตลาดและการเติบโตของเทคโนโลยีในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการลงทุนเข้ามามากขึ้น แนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

"ที่เราอยากลงทุนในเมืองไทยเพิ่มเพราะว่าสตาร์ทอัพไทยที่เราได้ลงทุนในทุกสตาร์ทอัพ Good Performer หมด อย่างตอนแรกที่เราลงทุนในฟินโนมีนา Pain Point มันคือ การลงทุนทางออนไลน์เป็นเรื่องยากมากในช่วง 4 ปีที่แล้ว แต่เมื่อนำเทคโนโลยี เช่น AI เข้ามาช่วยเพื่อหาโซลูชัน ช่วยเลือกกองทุน ส่งผลให้มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล (Asset Under Advisement) อยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่พอได้รับผลกระทบโควิด สินทรัพย์ลดลงไป 5,000 ล้านบาท ตอนนี้สินทรัพย์ก็ขึ้นมาเป็น 50,000 ล้านบาท แล้วเราก็ตั้งเป้าหมายว่าอยากทำให้บริษัทเทคในไทยโตจนพาเข้าไปจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้" 

คุณณิชาภัทรยกตัวอย่างความสำเร็จของฟินโนมีนา แล้วบอกเพิ่มในกรณีของอบาคัส ดิจิทัล ที่นำ AI มาพิจารณาเพื่อให้เงินกู้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย ว่าถ้าไม่มี AI เข้ามาช่วย ก็จะไม่สามารถพิจารณาและปล่อยสินเชื่อออนไลน์ให้ผู้มีรายได้น้อยได้ เนื่องจากผู้กู้ไม่มีเอกสารหรือข้อมูลทางการเงินว่ามีรายได้ที่แน่ชัด ปิดท้ายด้วยการให้รายละเอียดด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ดังนี้
 Openspace

  • เน้นลงทุนในสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในประเทศไทย โดยสตาร์ทอัพที่จะได้รับการลงทุนต้องสามารถนำ AI เข้ามาใช้ประโยชน์ในการทำงานเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีขึ้นได้

  • ยินดีเปิดรับสตาร์ทอัพจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่อาจโฟกัสแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา และในเวลานี้โฟกัสที่ FinTech, WealthTech, AgTech, MedTech, HealthTech, EnergyTech

  • 500 ล้านบาท คืองบลงทุนขั้นต่ำที่เตรียมไว้ให้สตาร์ทอัพไทย ในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2568 - 2569) 

  • จำนวนเงินลงทุนในแต่ละ Stage หากเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Early Stage (Series A-B) มีสิทธิ์ได้รับเงินลงทุน 3 - 8 ล้านดอลลาร์ (ราว 100 - 272 ล้านบาท) แต่หากอยู่ในระดับ Growth Stage (Series C ขึ้นไป) มีสิทธิ์ได้รับเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 500 ล้านบาท)

  • รูปแบบการลงทุน จะนำไปสู่ 2 แนวทาง (Exit) คือ 1) ผลักดันให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตจนสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ หรือ 2) การควบรวมกิจการ (M&A)

  • หนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกสตาร์ทอัพ คือ ต้องสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 500,000 ดอลลาร์ (ราว 17 ล้านบาท)

  • คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพ ควรให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ลูกค้า โดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาธุรกิจ

ดังนั้น ผู้สนใจหรือต้องการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการร่วมมือกับโอเพ่นสเปซ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล [email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NVIDIA เปิดตัว Jetson Orin Nano Super Developer Kit ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI จิ๋ว เตรียมใช้ในหุ่นยนต์ AI

NVIDIA กำลังก้าวไปในสู่โลกของหุ่นยนต์อย่างเต็ม หลังเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวของสำคัญหลายอย่างทั้ง Blackwell ชิปกราฟิกประสิทธิภาพสูงสำหรับประมวลผล AI โดยเฉพาะ ไปจนถึง Pro...

Responsive image

ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นจับมือ! Honda-Nissan เตรียมควบรวมกิจการ

รายงานระบุว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณารวมตัวกันภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงในเร็วๆ นี้ โดยมีแผนจะดึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่นิสสันถือหุ้น 24% เข้ามาร่วมด้วย เพื...

Responsive image

เกาหลีใต้คุมความปลอดภัยรถ EV อย่างไร ? ส่องมาตรการหลังเหตุเพลิงไหม้ EV ที่เกาหลีใต้

ช่วงเดือนสิงหาคม 2024 เกิดเหตุเพลิงไหม้รถเก๋งไฟฟ้า Mercedes-Benz ที่จอดไว้เฉยๆ ในลานจอดรถใต้ดินโดยไม่ได้เสียบชาร์จ นักดับเพลิงต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง ซึ่งส่งผลให้รถยน...