งานวิชาการชี้ชัด โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคม ต้องเร่งปรับตัว รับผลกระทบจากการแข่งขัน OTT | Techsauce

งานวิชาการชี้ชัด โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคม ต้องเร่งปรับตัว รับผลกระทบจากการแข่งขัน OTT

งานวิชาการชี้ชัด โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมต้องเร่งปรับตัว รับผลกระทบจากการแข่งขัน OTT  แนะหน่วยงานกำกับเปิดโอกาสให้ธุรกิจปรับตัวสู่ยุคเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งผู้ประกอบการทุกรายแข็งขันแกร่งและปรับตัวได้ ลูกค้าจะได้ประโยชน์ในขณะที่ราคาไม่สูงขึ้น

งานวิชาการชี้ชัด โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคม ต้องเร่งปรับตัว รับผลกระทบจากการแข่งขัน OTT  ผศ.ดร. กฤษณ์ วงรุจิระ ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่า ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากในการรับส่งข้อมูลให้มีความเร็วที่สูงและยังมีความเสถียร ทำให้มีการเกิดขึ้นของบริการดิจิทัลบนแอพลิเคชั่น  (Application) ที่ให้บริการโดยผู้ให้บริการจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคดาต้าของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการความรวดเร็ว มักนิยมสื่อที่เป็นรูปแบบวิดีโอ มากกว่าการอ่านข้อความ และเสียง เพียงอย่างเดียว 

ทำให้การบริการแบบ OTT (Over The Top) เป็นดิสรัปเตอร์ ที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเดิม ที่มีลักษณะการบริการเสียง ข้อความ วิดีโอ เหมือนรายการโทรทัศน์และรายการต่าง ๆ ส่งผ่านโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ธุรกิจ OTT จึงมีการเติบโตอย่างมาก เกิดบริการที่หลากหลาย เช่น การส่งข้อมูล ข้อความ ภาพและเสียง 

ทำให้ส่วนหนึ่งไปทับซ้อน แย่งส่วนแบ่งรายได้ และแข่งขันกับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น voice service เหมือนการใช้โทรศัพท์ และอีกส่วนหนึ่งเหมือนรายการโทรทัศน์ โดยเป็นการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม โดยผู้ให้บริการ OTT ไม่ได้เป็นผู้ลงทุน (Free Rider) แต่พึ่งพาความเร็วและการครอบคลุมการให้บริการ ของผู้สร้างโครงข่ายโทรคมนาคม 

ผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมจึงเสียเปรียบผู้เล่น (OTT) ที่ไม่ต้องลงทุนเครือข่าย  OTT จึงได้เปรียบในการแข่งขัน การเติบโตของเมือง ทำให้การลงทุนด้านเครือข่ายต้องลงทุนเพิ่มตามไปด้วย ด้วยการพัฒนาถนนหนทางต่าง ๆ ที่เข้าถึงทุก ๆ หมู่บ้านของประเทศไทยทำให้เกิดการขยายบริการโทรคมนาคม ด้วยการลากสายไปยังเสาพาดสาย ที่ต้องพึ่งเสาไฟฟ้าตามถนนที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เข้าถึงทุก ๆ บ้านผู้อยู่อาศัย และการประมูลคลื่นความถี่ในเทคโนโลยี 3G/4G/5G ในประเทศได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ความเร็วของการสื่อสารที่มากขึ้น 

ปัจจุบันการมาใช้ 5G ยังน้อยกว่า 5% แต่ค่าใช้จ่ายในการขยายเครือข่ายได้เกิดขึ้นแล้ว การให้บริการมีทั้งแบบมีสาย(fixed line) และแบบไร้สาย(Mobile) นอกจากนี้ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทางเลือกที่มากขึ้น การใช้บริการการสื่อสารจึงไม่เป็นเพียงข้อความ ภาพและเสียงเท่านั้น แต่เป็นการใช้บริการสื่อผสมที่หลากหลาย โดยเฉพาะการบริการแบบ OTT ที่แพร่ภาพ เสียง และวิดีโอต่าง ๆ ในลักษณะสื่อผสมทุกรูปแบบโดยผู้ให้บริการ OTT ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเช่าสัญญาณและการลงทุนสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมเอง 

ในขณะที่ผู้บริโภคได้รับความสะดวกในการรับชมภาพและเสียงได้ในทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์หลายประเภทขอเพียงแค่อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ รวมทั้งโทรทัศน์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

รายงานการใช้ อินเทอร์เน็ตของสำนักงาน กสทช.  พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 49 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 70 ของประชากรไทย  (ข้อมูลปี 2020) โดยมีการใช้งาน bandwidth แบ่งเป็นในประเทศ 10 Tbps และต่างประเทศ 18 Tbps (ข้อมูลปี 2022) ความเร็วอินเทอร์เน็ต โดยเฉลี่ย แบบมีสาย (fixed line) 171.37 Mbps ขณะที่ แบบไร้สาย(mobile) อยู่ที่ 31.91 Mbps Digital Report [2]

นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทย ใช้งานอินเตอร์โดยเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง รับชมรายการโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งตลาดบริการการสื่อสารโทรคมนาคมเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะรายงาน statica.com มีการคาดการณ์ว่า ตลาดการใช้บริการ OTT จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากปี 2022 มีมูลค่าประมาณ 600 ล้านเหรียญและจะเพิ่มเป็น 800 ล้านเหรียญในปี 2024  อีกทั้งข้อมูลจาก รายงานผลสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2020 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต ยังพบอีกว่าคนไทยใช้บริการ OTT ที่เป็น Platform จากต่างประเทศถึง 6 อันดับแรก จาก 8 อันดับ 

ปัญหาและความท้าทาย คือ รายได้ที่ลดลงของผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยผู้บริโภคมักนิยมใช้บริการ OTT แบบตามความต้องการมากกว่าการรับชมตามผังรายการสด เพราะสามารถเลือกเวลาและสถานที่ได้ตามสะดวก แต่อย่างไรก็ตาม การให้บริการ VDO content ยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ความเหมาะสมของเนื้อหา การคัดกรองความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของเนื้อหา ส่วนในแง่ธุรกิจจะมีประเด็นปัญหาเรื่องการแข่งขัน ต้นทุนธุรกิจ เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้คลื่น การเสียภาษี ค่าลิขสิทธิ์ ผลกระทบส่วนแบ่งทางธุรกิจที่ OTT มีต่อตลาดโทรทัศน์ดิจิทัลและตลาดบอกรับสมาชิกในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโทรทัศน์แล้ว ยังมีผลกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคม โดยการให้บริการ OTT ในรูปแบบ การฝากข้อความขนาดสั้น (short message service) การสนทนาแบบ กลุ่มและเดี่ยว ทั้งในแบบ VDO call และ voice call เช่น LINE WhatAPP WeChat และ อื่น ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งทางธุรกิจของตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะเป็นการให้บริการทับซ้อนกับธุรกิจของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ 

ซึ่งในรายงานของ กสทช.พบว่าการให้บริการโทรศัพท์ voice called ระหว่างประเทศ และในประเทศ ลดลงอย่างต่อเนื่องร้อยละ 10-40 ในช่วงปี 2018-2021 เนื่องจาก OTT ให้บริการแบบทับซ้อนดังกล่าว ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มแบบต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องลงทุนประมูลคลื่นความถี่ การลงทุนสร้างโครงข่าย และการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นทั้งสามส่วนนี้เป็นทั้งต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม   

ในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าตลอด ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารได้นำเสนอ ขายอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ และมีการเก็บค่าลิขสิทธิ์หรือsoftware license เป็นรายปีทุก ๆ ปี ไม่มีการลงทุนซื้อ hardware ครั้งเดียวแล้วใช้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งต้นทุน software license เป็นภาระที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่สามารถขึ้นค่าบริการได้ในขณะที่ต้องลงทุนกับ เทคโนโลยีใหม่ตลอดเวลา ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่ผ่านมายังไม่สามารถคืนผลประโยชน์จากการลงทุน ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่กับต้องลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ไปเรื่อย ๆ พร้อมกันนั้นยังมีการบริการ OTT (free rider) มาแย่งส่วนแบ่งบริการในลักษณะใกล้เคียงกัน 

คำแนะนำ ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การทำให้ผู้ประกอบการทุกรายมีความแข็งแรง และ ปรับตัวสู่บริการดิจิทัลใหม่ ๆ ได้ โดยการประหยัดต้นทุน จะทำให้ค่าใช้บริการต่ำลง 

ในการศึกษาของ  Angelos  ที่กล่าวถึง บริการ OTT เป็นมิตรหรือศัตรู ของผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งผลการศึกษาใช้ ตัวแปรคือ GPD ของประชากร จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต รายได้ของ ISP รายได้ของ OTT และค่าใช้จ่ายของ CAPEX ของ ISP ได้แสดงถึง ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีความสัมพันธ์ไปในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่รายได้ของ OTT เพิ่มขึ้น จะทำให้รายได้ของ ISP เพิ่มขึ้น การลงทุนด้าน CAPEX ของ ISP ทำให้ รายได้ของ ISP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทำให้รายได้ของ OTT เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 

ซึ่งผลของการศึกษาได้กล่าวถึงการทำตลาดผลประโยชน์ร่วมกันของ OTT และ ISP ควรเป็นทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้น ในยุค 5G และต่อไปในอนาคต ผู้ประกอบการโทรคมนาคม จะเติบโตไปสู่ความเป็นบริษัทเทคโนโลยีเช่นเดียวกับผู้เล่น OTT ดังนั้นต้องมีการปรับตัว และให้บริการในรูปแบบของนวัตกรรม รายได้จะไปอยู่ที่โซลูชั่น IOT ซึ่งการกำกับดูแลของภาครัฐต้องเข้าใจบริบทตลาดใหม่ของการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 

ดังนั้น โอเปอร์เรเตอร์ ต้องให้บริการนอกเหนือจากโทรคมนาคมเดิม แต่ต้องเข้าสู่การเป็นเทคคัมพานี ทำงานร่วมกับ OTT โดยในการศึกษาของ ITU  ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ของ OTT กับ MNO (Mobile Network Operator) โดยการพัฒนาของ ธุรกิจของ OTT ก่อเกิดทำให้มีการใช้ bandwidth ที่ทำให้ รายได้ของ MNO มากขึ้น การพัฒนารายการของ OTT ดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้ bandwidth มากขึ้น 

ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของโอเปอเรเตอร์โทรคมนาคม MNO ดังนั้น โอเปอเรเตอร์ ก็ได้ประโยชน์ที่ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการมากขึ้น ทำให้การร่วมมือกันของ OTT และ MNO สามารถได้ผลประโยชน์ร่วมกันได้ในระยะยาวใน การดึงผู้ใช้ให้อยู่บน ระบบหรือ platform ของผู้ให้บริการให้ได้  การปรับตัว ปรับโครงสร้างของผู้ให้บริการมีหลากหลายรูปแบบรวมทั้งการควบรวมกิจิการ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการลงทุนในอนาคต 

ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการทุกรายแข็งแกร่งขึ้น มีแนวโน้มที่ราคาให้บริการจะลดลง โดย Houngbonon ตรวจสอบการควบรวมกิจการของ Hutchison/Orange จาก 4 รายเป็น 3 รายในออสเตรียและรายการจาก 3 รายเป็น 4 รายในฝรั่งเศส ซึ่งได้ประเมินผลกระทบของการรวมกิจการในออสเตรียพบว่าราคาลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันที่สูสีกันมากขึ้น

นอกจากนี้ Lear, et al. (2017) ตรวจสอบการควบรวมกิจการจาก 5 รายเป็น 4 รายในปี 2010 ในสหราชอาณาจักรระหว่าง T-Mobile และ Orange การวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติโดยใช้วิธี difference-in-difference approach ที่คล้ายกับ Aguzzoni et al (2018) ระบุว่าราคาของบริการมือถือลดลง 8.5-18.6 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากการควบรวมกิจการ เนื่องจากหลังจากการควบรวม ผู้ให้บริการมีความแข็งแรงมากขึ้น ใกล้เคียงกับผู้นำตลาดมากขึ้น การแข่งขันจึงสูงขึ้นนั่นเอง 

นอกจากนี้ การจัดระเบียบให้การเกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมในธุรกิจ OTT เป็นเรื่องที่สำคัญ การเกิดขึ้นของ OTT จริง ๆ แล้วทำให้เกิดผลกระทบเรื่องใหม่ ๆ เช่น การพิจารณาเรื่อง ภาษี การเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ การตรวจสอบและกำกับดูแลเนื้อหา การออกข้อกำหนดระเบียบต่าง ๆ จะถูกปรับปรุง ให้เกิดความทันสมัยถูกต้องและควบคุมได้ดีขึ้น ซึ่งการศึกษาของ ITU ได้บอกถึงความท้าท้ายของหน่วยงานกำกับดูแลแต่ละประเทศที่ต้องออกกฎหมาย ข้อกำหนดต่าง ๆ และมีการประมูลคลื่นความถี่ไปใช้งาน 

เพราะการพัฒนาของ OTT อาจทำให้บริการใหม่ๆ เกิดขึ้นทดแทนบริการแบบเก่า ที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เมื่อเทียบกับบริการแบบใหม่ซึ่งมีต้นทุนน้อยลง ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีความยืดหยุ่นสูงมาก และ ปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสถานการณ์ อีกทั้งต้องทำความร่วมมือกับนานาชาติมากขึ้น เพราะการให้บริการOTT ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในประเทศไทยอีกต่อไป

ในรายงานของ ITU ยังได้ยกกรณีศึกษาของ French Telecom ในตลาดยุโรป และ แอฟริกา พบว่า MNO สามารถนำบริการของ OTT เข้ามารวมใน package ที่เสนอขายให้ลูกค้า เช่น VDO streaming เพื่อให้มีการใช้ data มากขึ้น หรือการจัดเก็บค่าบริการ ซึ่ง MNO มีจุดแข็งที่มีฐานข้อมูลลูกค้าและวิธีการเก็บค่าบริการ สามารถผนวกกับค่าบริการ OTT ที่ต้องชำระมาอยู่ในค่าบริการรายเดือนที่ลูกค้าต้องชำระร่วมกับค่าบริการของ MNO 

ในรายงานยังกล่าวถึงความร่วมมืออีกว่า หากมีการพัฒนาร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง OTT กับ MNO/ISP จะสามารถทำให้เกิดกระแสเงินสด ของธุรกิจโทรคมนาคมเพิ่มถึงร้อยละ 50 

นอกจากนี้ OTT ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสาร การพูดคุย และทำธุรกิจ ทลายกำแพงของการออกสินค้าและบริการใหม่ ๆ สามารถทำได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว เข้าตรงถึงผู้บริโภคแบบไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเหมือนธุรกิจในอดีต และยังมีระบบ rating ที่ผู้บริโภค feedback กลับมายังผู้ผลิตให้มีการปรับปรุงสินค้าและบริการได้อย่างตรงจุด ก่อเกิดให้มีการพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้น ซึ่งทำได้ดีกว่าระบบธุรกิจการวางขายสินค้าหน้าร้านแบบเดิม

ในบทสรุปของการศึกษาของ ITU ได้กล่าวถึงการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่นกับบริการของ OTT ส่วนในธุรกิจของโทรคมนาคมควรต้องมุ่งการให้บริการ data มากขึ้น โดยต้องยอมรับการลดลงของบริการvoice และ SMS การอยู่ร่วมกันของ OTT และผู้ให้บริการธุรกิจโทรคมนาคม (MNO/ISP) ต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ควรร่วมมือกันพัฒนาไปด้วยกันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ทั้งสองธุรกิจ

เอกสารอ้างอิง

[1]  http://webstats.nbtc.go.th/netnbtc/INTERNETUSERS.php  

[2] https://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand 

[3] https://www.statista.com/forecasts/1256808/ott-video-services revenue-thailand 

 [4] “ศึกษาผลกระทบของ OTT ต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และแนวทางการส่งเสริมและกำกับดูแล”, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.), ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 ธันวาคม 2563  

[5] Antonopoulos, Angelos; Perillo, Chiara; Verikoukis, Christos (2016). Internet Service Providers vs. Over-the-Top Companies Friends or Foes? SIGMETRICS Performance Evaluation Review, 44(3):37.

DOI: https://doi.org/10.1145/3040230.3040242

[6] ITU-D study Group 2018-2021, Economic impact of OTTs on national telecommunication/ICT markets, https://www.itu.int/dms_pub/itu-d/oth/07/23/D07230000030001PDFE.pdf

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

LINE MAN ประกาศจุดยืนทางธุรกิจใหม่ "ถูกสุดทุกวัน" พร้อมตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทย

LINE MAN Wongnai ผู้นำในวงการฟู้ดเดลิเวอรีของไทย จัดงานแถลงทิศทางธุรกิจครั้งใหญ่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ Quartier Avenue ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ โดยประกาศ Positioning ใหม่ "ถู...

Responsive image

’การบินไทย‘ กางไทม์ไลน์ฟื้นฟูกิจการ เตรียมสยายปีกกลับตลาด SET

การบินไทย ก้าวข้ามวิกฤตเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และดำเนินการตามแผนโดยไม่เกิดเหตุผิดนัด สเต็ปต่อจากนี้ บริษัทวางกลยุทธ์ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการอย่างไร เพื่อพาการบินไทยกลับเข้ามาซื้อขายหุ...

Responsive image

SME ไทยรับมือกับความยั่งยืนอย่างไรดี ? รู้จัก UOB Sustainability Compass ตัวช่วย SMEs เริ่มต้นเส้นทางแห่งความยั่งยืน

ยุคนี้ธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุน ก็ให้ความสำคัญ จากผลสำรวจ UOB Business Outl...