OR เตรียมขายหุ้น IPO พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจในยุคที่ปั๊ม ต้องเป็นได้มากกว่าสถานีบริการน้ำมัน | Techsauce

OR เตรียมขายหุ้น IPO พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจในยุคที่ปั๊ม ต้องเป็นได้มากกว่าสถานีบริการน้ำมัน

บริษัท  ปตท.  น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมเปิดโอกาสให้คนไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ไทยที่จะก้าวไปเป็นแบรนด์ระดับโลก พร้อมสร้างคุณค่าให้กับสังคมชุมชน ผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ  และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)  โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “OR” ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ พร้อมเผยกลยุทธ์สร้างฐานทัพที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัท เดินหน้าขยายธุรกิจในยุคที่ปั๊ม ต้องเป็นได้มากกว่าสถานีบริการน้ำมัน 


OR ประกาศแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,610,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.5 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัทฯ ภายหลังที่มีการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ (ในกรณีที่มีการเสนอขายหุ้นทั้งจำนวน โดยไม่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดยแบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 300,000,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. (“ผู้ถือหุ้นของ ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น”) ทั้งนี้ ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 2,610,000,000 หุ้น หากมีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายดังกล่าว บริษัทฯ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้แก่ผู้ลงทุนจำนวนไม่เกิน 390,000,000 หุ้น อีกทั้ง การจัดสรรหุ้นของ OR ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยในครั้งนี้จะไม่มีการจัดสรรหุ้นผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่ OR พร้อมเดินหน้าสู่การเติบโตครั้งใหม่ ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากจุดแข็ง รากฐานทางธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตอันแข็งแกร่งของ OR เพื่อก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกอย่างแท้จริง กับแนวคิดธุรกิจ “Retailing Beyond Fuel” วันนี้ เราพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมเป็นเจ้าของและต่อยอดสู่การเติบโตที่ไกลกว่าเดิม”

ธุรกิจของ OR

OR ดำเนินธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) อย่างผสมผสานกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่เช่า มีแบรนด์ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง เช่น “PTT Station” แบรนด์สถานีบริการน้ำมัน ที่มีสาขา 1,968 แห่งในประเทศไทย และ 329 แห่งในต่างประเทศ “Café Amazon” แบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำของประเทศไทยที่มีจำนวน 3,168 ร้านในประเทศไทย และ 272 ร้านในต่างประเทศ  ศูนย์บริการยานยนต์ “FIT Auto” จำนวน 56 แห่งในประเทศไทย และ 4 แห่งในต่างประเทศ ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ “7-Eleven” ในสถานีบริการ และแบรนด์ “Jiffy” จำนวนรวมกัน 1,960 ร้านในประเทศไทย และ 86 ร้านในต่างประเทศ เป็นต้น 

จุดแข็งของ OR

ด้วยจุดแข็งและปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง OR ในฐานะบริษัท Flagship ของ กลุ่ม ปตท. ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก มีสถานีบริการน้ำมัน “PTT Station” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านความน่าเชื่อถือ คุณภาพ และความสะดวกครบครันในที่เดียว ความเป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 38.9 (เมื่อพิจารณาจากปริมาณการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการในปี 2562 โดย Wood Mackenzie) การมีเครือข่ายระบบจัดเก็บและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย การเดินหน้าพัฒนาธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ซึ่งส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี และความมีศักยภาพในการเติบโตสูงทั้งในและต่างประเทศ มีรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคงในประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว อีกทั้งยังมีความสามารถในการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีคณะผู้บริหารที่มากประสบการณ์ และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) 

กลยุทธ์สร้างการเติบโตอีก 5 ปี(64-68)

สำหรับแผนสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) บริษัทจะใช้งบลงทุนรวมทั้งหมด 74,600 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้สำหรับ ธุรกิจน้ำมัน(Oil) 34.6% ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน(Non-Oil) 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่นๆ 15% โดยบริษัทฯยังคงเน้นลงทุนในธุรกิจน้ำมันเป็นหลักเนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดได้ค่อนข้างสูง 

พร้อมกันนี้ยังได้วาง 6 กลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ ประกอบด้วย 

1.รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย 

2) มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร 

3) ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก 

4) เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) 

5) ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี และ 

6) มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล


ด้านคุณพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน โออาร์ กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้  เพื่อนำไปใช้ในการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน การขยายธุรกิจสำหรับตลาดพาณิชย์ การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้า การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

โดยบริษัทตั้งเป้าขยายสถานีบริการน้ำมันปั๊ม PTT Station เพิ่มเป็น 2,500 สาขาภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีทั้งหมด 1,968 สาขา พร้อมทั้งเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์กลางค้าปลีกของชุมชน (Living Community) ซึ่งจะให้ความสำคัญในการให้บริการลูกค้าทุกรายไม่ใช่เพียงแค่ลูกค้าที่เข้ามาเติมน้ำมันเท่านั้น

นอกจากนี้บริษัทฯยังมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทฯจะนำมาเสริมการเติบโตให้แก่ OR โดยปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างศึกษาพฤติกรรมเชิงลึกของผู้ที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยการติดตั้งสถานีชาร์จไว้แล้วทั้งหมด 25 แห่งทั่วประเทศ และสร้างแอพพลิเคชั่นรองรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า หากได้ข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะนำมาสร้างโมเดลในธุรกิจ(business model )และสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมารองรับไม่ว่าจะเป็น การผลิตแบตเตอรี่ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผลิตและขายเครื่องชาร์จ(EV Charger)  เพื่อติดตั้งในสถานีบริการน้ำมันของตนเองในอนาคต  





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มองศึก Virtual Bank ไทย เทียบชั้นผู้เล่นบนเวทีโลกได้หรือไม่

หลังจาก ธปท. เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank ยื่นขอเข้ามา ส่งผลให้ธุรกิจการเงินในไทยกลับมาคึกคักมากขึ้น...

Responsive image

Google Workspace อัปเกรดครั้งใหญ่ ! ดึงพลัง AI พลิกโฉมการทำงาน

Google Workspace บริการชุดแอปพลิเคชันผ่านระบบคลาวด์ ได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่ด้วยการผสานความสามารถของ Generative AI ในหลากหลายแอปพลิเคชันยอดนิยม เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นเรื่องที่...

Responsive image

จาก ลี เซียงลุง สู่ ลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 4

ลี เซียนลุง ได้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 16 เมษายน 2024 ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรั...