รัฐมนตรีคลัง ชี้ COVID-19 ระลอกสองกระทบฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่มั่นใจมาตรการรองรับเพียงพอ | Techsauce

รัฐมนตรีคลัง ชี้ COVID-19 ระลอกสองกระทบฟื้นตัวเศรษฐกิจ แต่มั่นใจมาตรการรองรับเพียงพอ

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จัดงาน The Year Ahead 2021 งานสัมมนาใหญ่ประจำปีระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2564 สำหรับลูกค้า Wealth Management ในรูปแบบออนไลน์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนชั้นแนวหน้าของไทยและระดับโลกร่วมให้มุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564  รวมถึงโอกาสและความเสี่ยงสำคัญในอนาคต ภายใต้หัวข้อ Navigating the Path to Recovery อาทิ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณโฮเวิร์ด มาร์กส์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนโอ๊คทรี แคปิตอลตอล คุณจอน คอนโกล Global Head of Blackstone Growth Equity ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญของเกียรตินาคินภัทร อาทิ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นายธีระพงษ์ วชิรพงศ์ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย คุณยุทธพล ลาภละมูล และคุณทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ 

COVID-19

โดยคุณอาคมกล่าวว่าสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกสอง กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลยังมีช่องว่างและศักยภาพทางการคลังที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง และจะยังเดินหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการชิมช็อปใช้ โครงการคนละครึ่ง ที่กระตุ้นให้คนใช้จ่าย ส่วนโครงการบรรเทาความเดือดร้อนหรือเยียวยา จะจำกัดให้ตรงและครอบคลุมกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ และไม่ซ้ำซ้อน สำหรับประชาชนรัฐบาลเน้นมาตรการระยะสั้นที่เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของการเสริมรายได้หรือการลดค่าใช้จ่าย 

ส่วนผู้ประกอบการ มีมาตรการที่กระทรวงการคลังทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องของการพักชำระหนี้ และการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ในส่วนงบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้ใช้ไปกับการเยียวยาประมาณ 390,000 ล้านบาท งบฟื้นฟูใช้ไปเพียงแค่ประมาณ 120,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นยังมีเงินเหลืออยู่ และมาตรการ 3,500 บาท/คน/เดือน ก็จะใช้อีกประมาณ 200,000 ล้านกว่าบาท ก็จะใช้จากงบเงินกู้จึงจะไม่กระทบการใช้เงินงบประมาณ 

“ปัจจัยบวกที่ทำให้มีกำลังใจคือ วัคซีน ซึ่งมีความชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยมีการจองซื้อวัคซีนแล้วและมีปริมาณเพียงพอ โดยล็อตแรกจะมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะมีการผลิตเองในประเทศไทยเพื่อส่งกลับให้ประเทศต้นทาง แล้วขยายกำลังการผลิตเพื่อใช้ให้พอภายในประเทศ ตามที่รัฐบาลรับประกันว่าจะมีพอให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงจะขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านตามลำดับ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และหากเกิดกรณีที่แย่ที่สุดคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อและกระจายวงกว้างนั้น นโยบายที่สำคัญคือเรื่องการเงินกับการคลัง ซึ่งนโยบายการเงินได้ผ่อนคลายลงเพื่อให้คลังใช้จ่ายได้ง่ายขึ้นแล้ว และช่องว่างที่ทำให้การคลังใช้จ่ายได้ยังมี ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถทำได้ การก่อหนี้ของไทยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 50%  ไทยมีเพดานใช้ได้สูงสุดถึง 60%  ถ้าจำเป็นจริงๆ พรบ.วินัยการเงินการคลัง ก็เปิดให้ยกเพดานการก่อหนี้ให้สูงขึ้นได้อีก เชื่อว่ามาตรการที่กล่าวมาน่าจะเพียงพอที่จะช่วยให้รับมือได้ ถ้าหากไม่เพียงพอก็อาจจะมีมาตรการเสริมออกมาอีก”

COVID-19

“สำหรับแนวนโยบายในโลกหลังโควิด-19 หรือที่เรียกว่ายุคนิวนอร์มัลนั้น นโยบายของรัฐบาลมุ่งไปทางเดียวคือการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งที่รัฐดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นการลงทุนด้านรถไฟฟ้า ทั้งในกรุงเทพฯ ระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ เป็นการเชื่อมแบบไร้รอยต่อ ปรับปรุงสนามบิน  และมุ่งพัฒนาและลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่อีอีซี เรื่องการพัฒนาความรู้ด้านดิจิตอลทั้งในอุตสาหกรรมขนาดเล็กใหญ่ 

และของรัฐ เน้นในเรื่องของ Digital Transformation การนำดิจิตอลมาใช้ในการทำงานทั้งหมด และเรื่องของ Green Infrastructure เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และเรื่องของสุขภาพ ซึ่งรัฐมองว่าเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนโฉมประเทศไทย สิ่งที่ไทยเจอคืออันดับความสามารถในโครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน รัฐจึงจะมุ่งขับคลื่อนตรงนี้ โดยขอให้ประชาชนและนักลงทุนมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่หยุดถึงแม้จะเจอวิกฤติ ก็จะไม่หยุดพัฒนาประเทศในระยะยาว ในกฎหมายงบประมาณฯ ก็มีกำหนดไว้ว่าต้องมีประมาณ 20% สำหรับการจัดสรรงบประมาณการลงทุนให้กับประเทศ ก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าเต็มที่ตามแผน” คุณอาคมกล่าว


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...