ปตท. รัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของไทยเตรียมพิจารณาลงทุนกว่า 16,500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาทในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดำเนินการภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มออกนโยบายที่จะเปลี่ยนทิศทางประเทศไปสู่สังคมที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ โดยรัฐบาลเริ่มออกปริมาณการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิล และวางเป้าหมายเพิ่มปริมาณยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจำนวน 30% ภายในปี 2030
ปตท. กลุ่มพลังงานรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นบริษัทที่มีรายได้หลักจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียม รวมไปถึงการจัดการด้านการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ก็เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
“การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะนำพาธุรกิจให้ไปไกลยิ่งกว่าบริษัทพลังงานรูปแบบเดิม” นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปตท. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Nikkei “ทางกลุ่มปตท. จะเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนลงในธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำตามเทรนด์โลก”
ในการลงทุนครั้งนี้ ปตท. วางแผนว่าจะจัดสรรเม็ดเงินลงทุนลงให้กับธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) ในสัดส่วน 32% จนไปถึงปี 2030 คาดการณ์ว่าธุรกิจกลุ่มนี้จะสร้างผลกำไรได้ประมาณ 30% แม้ว่าปตท. ยังไม่ได้กำหนดปริมาณการลงทุนที่แน่ชัดจนถึงภายใน 2030 นี้ แต่บริษัทได้กล่าวว่าจะลงทุนในจำนวน 863,400 ล้านบาท ระหว่างปี 2564-2568 และคาดการณ์ว่าจะลงทุน 5.3 แสนล้านบาทในธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030
ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในแผนสำคัญของปตท. นั่นก็คือ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อ “สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปราศจากมลพิษ”
ก่อนหน้านี้ปตท. ได้ประกาศความร่วมมือกับ Foxconn บริษัทประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับ Apple จากไต้หวัน ในการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนด้านการผลิตยานยนต์โดยเฉพาะ ซึ่ง ปตท. จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน 60% ขณะที่ Foxconn ถือหุ้น 40% โดยโรงงานผลิตยานยนต์ EV ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือครั้งนี้จะตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการประมาณปี 2566 หรือ 2567 และคาดว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะได้รับเงินทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ปตท. ยังมีแผนการที่จะเปิดตัวธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งการผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในเดือนก.คที่ผ่านมา บริษัท Global Power Synergy ซึ่งเป็นแกนธุรกิจไฟฟ้าของปตท. ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในลักษณะกึ่งเหลวกึ่งแข็ง โดยอาศัยเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า 24M Technologies เช่นเดียวกันนี้ ปตท. ก็จะเพิ่มสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับ EV ทั่วประเทศให้พร้อมใช้งาน ซึ่งขณะนี้มีอยู่แล้ว 30 แห่งในสถานีเติมน้ำมันจากปตท.
อ้างอิงจาก Nikkei Asia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด