PwC เผย 53% ของ CEO เอเชียแปซิฟิก เชื่อโมเดลธุรกิจในปัจจุบันจะไปไม่รอดในอีกทศวรรษหน้า | Techsauce

PwC เผย 53% ของ CEO เอเชียแปซิฟิก เชื่อโมเดลธุรกิจในปัจจุบันจะไปไม่รอดในอีกทศวรรษหน้า

PwC เผยผลสำรวจ CEO โลกครั้งล่าสุด พบเกือบ 70% ของ CEO ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นปัจจัยความกังวลที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ขณะที่ CEO เกินครึ่งเชื่อว่า โมเดลการทำธุรกิจในปัจจุบันจะไปไม่รอดในทศวรรษหน้า หากไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงองค์กร

PwC

ทั้งนี้ ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ฉบับเอเชียแปซิฟิก: ก้าวนำในโลกแห่งความเป็นจริงใหม่ (26th Annual Global CEO Survey - Asia Pacific: Leading in the new reality) ของ PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 1,634 ราย และเปิดเผยให้เห็นถึงข้อมูลที่โดดเด่นสองประการที่กำลังท้าทายซีอีโอในภูมิภาค

  • 69% ของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ 76% เชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น

  • 53% ของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า บริษัทของพวกเขาจะไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในทศวรรษข้างหน้า หากยังคงดำเนินการเฉกเช่นปัจจุบัน (มากกว่าซีอีโอทั่วโลก 14%) 

เมื่อสภาวะเศรษฐกิจมหภาคถดถอยลง ความไม่แน่นอนได้เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นแตะระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกจึงกำลังเผชิญกับสองความท้าทายสำคัญ นั่นคือ ผู้นำธุรกิจจะต้องจัดการความเสี่ยงจากภายนอกในระยะสั้นเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการทำกำไรเพื่อความอยู่รอด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อการเติบโตในระยะยาว

คุณเรย์มอนด์ ชาว ประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “ในเวลานี้ของปีที่แล้ว ความเชื่อมั่นของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่แค่เพียงหนึ่งปีต่อมา เราพบว่าความเชื่อมั่นนี้ได้กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง ด้วยดิสรัปชันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซีอีโอในภูมิภาคกำลังเผชิญกับความเป็นจริงใหม่ ซึ่งการจัดการกับสองความท้าทายสำคัญนี้ให้ไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำธุรกิจจำเป็นจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่เกี่ยวกับการสร้างคุณค่า สร้างพลังของวัฒนธรรมที่แตกต่าง และทำงานร่วมกันในระดับที่กว้างกว่าและลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็น”

แม้ว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอต่อเศรษฐกิจโลกจะลดลง แต่ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังคงมีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับโอกาสของประเทศตนเอง น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับซีอีโอทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีอีโอในประเทศขนาดใหญ่กว่า แสดงมุมมองเชิงบวกในระดับสูงสุดต่อการเติบโตภายในประเทศ นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน (64%) อินเดีย (57%) และอินโดนีเซีย (50%) (เปรียบเทียบกับทั่วโลกที่ 29%) 

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศที่เพิ่มขึ้น มากกว่าผลประโยชน์ของโลก แสดงให้เห็นถึงการเร่งตัวของแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของภูมิภาคยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดเสรีทางการค้า และการเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยความกังวลสูงสุดของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก 

ในขณะที่ความเสี่ยงด้านสุขภาพและไซเบอร์ เป็นปัจจัยความกังวลในอันดับต้น ๆ ในปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นสิ่งที่ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแสดงความกังวลมากที่สุดในปีนี้ โดยเงินเฟ้อ (41%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (30%) ถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริหารรู้สึกกังวลทั้งในระยะสั้น (เช่น 12 เดือนข้างหน้า) และระยะกลาง (เช่น มากกว่าห้าปีข้างหน้า)

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (30%) ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความเสี่ยงอันดับต้น ๆ เพราะสงครามในยูเครนและความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ส่งผลให้ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกมีการทบทวนรูปแบบของการทำธุรกิจใหม่ โดยพวกเขามีแผนที่จะ:

  • ปรับการดำเนินธุรกิจของตนเองในตลาดปัจจุบัน และ/หรือขยายไปสู่ตลาดใหม่ (53%)

  • ปรับห่วงโซ่อุปทาน (49%)

  • กระจายข้อเสนอทางธุรกิจ (48%)

ตรงกันข้ามกับซีอีโอทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูลส่วนตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโฟกัสไปที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน และการสร้างกระแสเงินสดทันที ในขณะที่มองการสร้างมูลค่าและความยั่งยืนเป็นปัจจัยระยะกลางถึงระยะยาว

ด้านคุณชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในส่วนของประเทศไทย ซีอีโอส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นไปในทิศทางเดียวกันกับซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตลดลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ผลกระทบจากสงคราม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน ล้วนสร้างแรงกดดันต่อการทำธุรกิจ 

ซึ่งแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว และมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 20 ล้านคนก็ตาม ต้นทุนค่าไฟฟ้าและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของหลาย ๆ อุตสาหกรรม” “สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนในปีนี้ เราน่าจะเห็นผู้บริหารหันมาแสวงหาโอกาสในการสร้างคุณค่าจากการหาพันธมิตร หรือการควบรวมกิจการเพื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศที่ไม่ใช่ตลาดหลักมากขึ้น รวมไปถึงขยายผลิตภัณฑ์ และปรับกลยุทธ์การจัดหาใหม่ ที่มุ่งเน้นความสามารถในฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาโดยเร็ว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

RELATED ARTICLE

Responsive image

เศรษฐี Gen ใหม่ มั่งคั่งจากมรดก มากกว่าเริ่มธุรกิจของตัวเองใหม่จากศูนย์

รายงานของ USB เผย มหาเศรษฐี gen ใหม่ ได้รับการส่งต่อความมั่งคั่งจากมรดกมากกว่าการรํ่ารวยจากการประกอบธุรกิจของตนเอง โดย รายงานระบุว่าทายาท 53 รายได้รับเงินรวม 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่...

Responsive image

SCBX ร่วมกับ Microsoft เปิดเวทีแข่งขัน HackFest ในธีม Responsible AI for Fintech and Thai Business

SCBX และ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดเวทีแข่งขัน HackFest ในธีม Responsible AI for Fintech and Thai Business มุ่งเน้นการนำ AI มาใช้พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถให้กับ...

Responsive image

ไทยสวนกระแส รับปลาดิบญี่ปุ่น หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงทะเล

ไทยขึ้นแท่นตลาดส่งออกปลาแห่งใหม่ขวัญใจญี่ปุ่น ! ท่ามกลางการแบนและเฝ้าระวังอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั่วโลก...